อนาคตของชาวเคิร์ดในอิรักและซีเรีย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประเทศเคอร์ดิสถาน (พ.ศ.2463-2466)

เคอร์ดิสถานหมายถึงดินแดนของชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นดินแดนที่ในอดีตมีพื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 392,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในตุรกี 190,000 ตร.กม. ในอิหร่าน 125,000 ตร.กม. ในอิรัก 65,000 ตร.กม. และในซีเรีย 12,000 ตร.กม.

ในโลกนี้มีชาวเคิร์ดอยู่ประมาณ 30 ล้านคน จัดเป็นพลโลกที่มีจำนวนมากที่สุดโดยไม่มีประเทศเป็นของตนเอง พวกชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อินโด-ยูโรเปียนเหมือนกับชาวอิหร่าน (เปอร์เซีย) แต่ไม่ใช่พวกอาหรับหรือเติร์กนะครับ (อาหรับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เซไมท์ ส่วนเติร์กคือเผ่าพันธุ์มองโกลผสมกับพวกคอเคเซียน) บรรดาชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ทางที่ราบสูงทางตะวันตกของภูมิภาคตะวันออกกลางและที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส อาณาบริเวณที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ กินพื้นที่นับแต่ตุรกี, อิรัก, อิหร่าน มีชาวเคิร์ดกระจัดกระจายในอาณาเขตของหลายประเทศ มีชาวเคิร์ดประมาณ 48% ในตุรกี อีก 24% ในอิหร่าน และมีจำนวนประชากรมากกว่า 18% ในอิรัก และเป็นชนกลุ่มน้อยในซีเรีย คือมีประชากรชาวเคิร์ดประมาณ 5 แสนคน นอกนั้นอยู่ในยุโรปโดยเฉพาะที่เยอรมนีมากที่สุด

ประเทศเคอร์ดิสถานเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลงตามสนธิสัญญาแซฟส์ (พ.ศ.2463) โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรอันมีฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นหัวเรือใหญ่ผู้ชนะสงครามได้บังคับให้สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันลงนามในสนธิสัญญาแซฟส์แล้ว แต่ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นภายในจักรวรรดิออตโตมันและมีการก่อตั้งประเทศตุรกีขึ้น ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องทำสนธิสัญญาโลซาน (พ.ศ.2466) กับประเทศตุรกีใหม่ เนื่องจากไม่สามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติที่นำโดยมุสตาฟา เคมาล ผู้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีได้ จึง
ทำให้การก่อตั้งประเทศเคอร์ดิสถานต้องถูกล้มเลิกไป

ประเทศซีเรีย แสดงเขตยึดครองของเคิร์ด (สีแดง)

ชาวเคิร์ดได้เรียกร้องให้มีเอกราชปกครองตนเอง และก่อการลุกฮือหลายต่อหลายครั้งในตุรกี อิรัก และอิหร่าน แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก โดยเฉพาะชาวเคิร์ดในตุรกี อิรัก และอิหร่าน ต่างเป็นหอกข้างแคร่ของทั้ง 3 ประเทศมาโดยตลอด ซึ่งชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักนั้นพยายามเรียกร้องเอกราชโดยต้องการแยกตัวออกจากอิรัก ส่วนในตุรกีชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศได้รวมตัวตั้งเป็นกองกำลังรบพุ่งกับรัฐบาลตุรกีเป็นระยะๆ

Advertisement

สำหรับในอิหร่านก็เช่นกัน ชาวเคิร์ดตั้งถิ่นฐานทางทิศพายัพของประเทศอิหร่านก็ได้ก่อความไม่สงบอยู่เนืองๆ และเมื่อพวกเคิร์ดก่อการกบฏและลุกฮือก็จะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงทั้งในตุรกี อิรัก และอิหร่าน

ก่อนที่จะเกิดสงครามอ่าวครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาจะส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศอิรักนั้น สหรัฐได้กำหนดเขตห้ามบิน (no-fly zone) ทางด้านเหนือของอิรักซึ่งเป็นดินแดนของชาวเคิร์ดเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเคิร์ดถูกโจมตีทางอากาศจากกองทัพอากาศอิรักใน พ.ศ.2541 จึงส่งผลให้ชาวเคิร์ดในอิรักสามารถสถาปนาเขตปกครองตนเองของตนขึ้นมาในตอนเหนือของประเทศอิรักได้สำเร็จ และในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2546 ชาวเคิร์ดในตอนเหนือของอิรักได้สิทธิปกครองตนเองอย่างเต็มที่โดยมีกองทหารชื่อเพชเมอร์กาภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลปกครองตนเองของชาวเคิร์ดโดยไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางที่กรุงแบกแดด ซึ่งในดินแดนที่ชาวเคิร์ดอาศัยและปกครองอยู่นั้น มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันดิบ, ถ่านหิน, ทองแดง, เหล็ก, ทองคำและเงิน และรัฐบาลของชาวเคิร์ดในอิรักมีศักยภาพที่จะแยกตัวออกเป็นประเทศเอกราชออกจากประเทศอิรักได้อย่างไม่ยากนัก เนื่องจากกองทหารเพชเมอร์กาเป็นกำลังทหารที่เข้มแข็งที่สุดในอิรักปัจจุบันเพราะเป็นกองทหารที่ทำการรบกับกองกำลังไอซิส (ISIS) อย่างจริงจังและกล้าหาญที่สุดเมื่อเทียบกับกองทัพอิรัก

ประเทศอิรักเขตปกครองตนเองเคิร์ด (สีเขียว)

เมื่อสหรัฐหันมาตั้งใจปราบปรามไอซิสอย่างจริงจังในสงครามกลางเมืองซีเรียโดยไม่ส่งทหารเข้าไปรบเองในปลายสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา สหรัฐก็ได้พันธมิตรที่เข้มแข็งที่สุดคือพวกเคิร์ดนี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียสามารถต่อต้านการรุกของพวกไอซิสได้อย่างเหนียวแน่น แถมยังขยายดินแดนยึดครองออกไปได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศตุรกีที่ไม่ได้ถือว่าไอซิสเป็นภัยคุกคามอะไรต้องเปลี่ยนท่าทีเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรีย โดยอ้างว่าจะปราบปรามพวกไอซิส แต่โดยแท้ที่จริงตุรกีไม่ต้องการให้ชาวเคิร์ดในซีเรียมีความเข้มแข็งจนเกินไปจนสามารถเข้ารวมกับชาวเคิร์ดในตุรกีตอนใต้ได้ต่างหาก

Advertisement

ทำให้สหรัฐต้องสั่งพวกเคิร์ดในซีเรียให้หยุดรบเนื่องจากตุรกีเป็นพันธมิตรที่สำคัญกว่าพวกเคิร์ดในซีเรียมากมายนัก

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 ทางการรัสเซียได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้กับซีเรียเพื่อที่จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์สำหรับชนชาติต่างๆ ในซีเรีย จึงทำให้ชาวเคิร์ดในซีเรียเสนอให้ชาวเคิร์ดมีเขตปกครองตนเองตามแบบชาวเคิร์ดในอิรักโดยยึดเอาดินแดนที่กองกำลังชาวเคิร์ดยึดได้จากพวกไอซิสในซีเรียเป็นเขตแดน ประกอบกับสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นว่ากองกำลังของชาวเคิร์ดในซีเรียเป็นเพียงกองกำลังเดียวที่กล้าและเต็มใจที่จะรบกับพวกไอซิสอย่างจริงจังประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับตุรกีได้เย็นชาลง สหรัฐจึงให้การสนับสนุนกองกำลังชาวเคิร์ดในซีเรียอย่างมหาศาลจนกองกำลังของชาวเคิร์ดในซีเรียเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดกองทัพหนึ่งในสงครามกลางเมืองซีเรียในปัจจุบัน

อนาคตทางการเมืองของชาวเคิร์ดในซีเรียซึ่งมีจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาชาวเคิร์ดในประเทศตุรกีและอิหร่านดูจะสดใสกว่า เพราะมีความน่าจะเป็นที่จะสามารถมีเขตปกครองตนเองและมีกองกำลังทหารเป็นของตนเองแบบเขตปกครองของชาวเคิร์ดในอิรักมากยิ่งกว่าชาวเคิร์ดในตุรกีและชาวเคิร์ดในอิหร่าน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image