ผลงานสามปี / โดย วีรพงษ์ รามางกูร

อยู่ๆ ก็กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เรื่องผลงานของ คสช.และผลงานของรัฐบาลที่ คสช.จัดตั้งขึ้นมากับมือ

เมื่อหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะเป็นผู้แถลงผลงานในวันครบรอบแห่งการทำรัฐประหาร ล้มระบบการเมืองแบบรัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นแทนในเวลาต่อมา คือในเดือนกันยายนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเวลานานพอที่ผู้คนจะประเมินผลงานได้แล้ว จากเหตุผลของการทำรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ที่มีอยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรกก็คือการทำรัฐประหารจะต้องไม่เป็นการเสียของ เหมือนกับการทำรัฐประหารในปี 2549 โดยบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ อย่างเต็มที่ แต่ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ยังชนะการเลือกตั้ง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองกลับมาที่เดิม การทำปฏิวัติรัฐประหาร 2549 จึงถูกเรียกว่าเป็นการรัฐประหารที่เสียของŽ พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นพรรคที่กลัวการเลือกตั้ง แทนที่จะเป็นพรรคที่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา

ประการที่สอง การทำรัฐประหารก็เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะระหว่างประชาชนเสื้อเหลืองที่ต้องการขจัดขบวนการทักษิณ ผ่านทางพรรคประชาธิปัตย์ กับประชาชนเสื้อแดงซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นขบวนการนิยมทักษิณ ผ่านทางพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคอื่นๆ ไม่น่าจะมีความหมายมากนัก เพราะก่อนการทำรัฐประหารการเมืองไทยกำลังพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 พรรคอยู่แล้ว

Advertisement

เนื่องจากปัญหาสภาพความแตกแยกระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองออกมาต่อต้านรัฐบาลนั้น ความจริงก็เป็นการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อปูทางไปสู่การล้มล้างรัฐบาล โดยการประกาศตัวของกองทัพว่ากองทัพจะเป็นกลางหรือกองทัพใส่เกียร์ว่าง แค่ประกาศเท่านั้นรัฐบาลก็ล้มแล้ว เพราะกองทัพและตำรวจย่อมต้องอยู่ใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชาติ เพราะการชุมนุมของ กปปส.ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงประกาศปิดกรุงเทพฯ บุกยึดสถานที่ราชการ มีการต่อสู้โดยใช้อาวุธ เมื่อกองทัพและตำรวจประกาศใส่เกียร์ว่าง รัฐบาลไหนก็อยู่ไม่ได้

เมื่อกองทัพใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ ความขัดแย้งที่เกิดจากการจัดตั้งก็ยุติลง มีความสงบราบคาบมานาน 3 ปีแล้วเช่นกัน เหลือเพียงอย่างเดียวคือ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทำอย่างไรให้พรรคการเมืองสนับสนุนคนนอกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนราษฎร 500 คน วุฒิสมาชิก 250 คน รวมเป็น 750 คน กึ่งหนึ่งคือ 375 คน ถ้ามีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 125 จาก 500 ที่นั่งในสภา ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ส่วนจะบริหารประเทศได้หรือไม่หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แบบเดียวกับจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี 2514

การอ้างความแตกแยก เรื่องสร้างความปรองดอง จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักอะไร เพราะความแตกแยกหมดไปนานแล้ว วาทกรรมที่สร้างความแตกแยกก็เห็นจะมีออกมาจากฝ่ายเดียว

Advertisement

สื่อมวลชน คนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ สื่อทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ ก็ถูกควบคุมทั้งโดยกฎหมาย กฎอัยการศึก รวมทั้งการตักเตือนหรือถูกเรียกไปปรับทัศนคติŽ จนถูกเพื่อนฝูงชาวต่างประเทศ ใช้คำว่า perception adjustment เป็นคำล้อเลียนกันเล่นในวงเหล้า พวกเราก็พูดไม่ออก แต่ก็เกิดความรู้สึกไม่ดีและรู้สึกอายๆ อยู่ไม่น้อยที่บ้านเมืองเราอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะระบอบการปกครองอย่างของเรา ณ วันนี้น่าจะเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันน้อยมากแล้ว และไม่น่าจะมีแล้วสำหรับประเทศที่มีระดับการพัฒนาอย่างประเทศไทย

อีกเรื่องหนึ่งที่คณะทหารใช้เป็นเหตุผลในการทำปฏิวัติรัฐประหารคือ เพื่อจะปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ราบคาบ สื่อหลายฉบับไม่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ บางคนถึงกับให้คะแนนสอบผ่านสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เราจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่าสถานการณ์ในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการไม่ได้ลดลงเลย แต่อาจจะมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการเมืองในประเทศที่ระดับการพัฒนาการการเมืองยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างประเทศไทย รัฐบาลใดเข้ามามีอำนาจก็มีเรื่องอย่างนี้เสมอ เพราะการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาอำนาจต้องการทรัพยากรทางการเงินไว้ใช้จ่ายเสมอ เป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีŽต้องจ่ายเพื่อการมีรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่ารูปแบบของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร กลไกตลาดการเมือง political market mechanismŽ เป็นกลไกที่การเมืองฝ่ายใดก็ทัดทานต่อต้านไม่ได้ เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว ความคาดหวังหรือเป้าหมายในเรื่องการปราบปรามทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จึงเป็นความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ระบอบหนึ่งประชาชนตรวจสอบและถอดถอนได้

แต่อีกระบอบหนึ่งประชาชนตรวจสอบและถอดถอนไม่ได้เท่านั้นเอง

สําหรับเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เช่น ความสงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ดี กรณีระเบิดเชิงสัญลักษณ์ในกรุงเทพมหานครก็ดี ไม่ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนหรือมีรัฐบาลเผด็จการทหาร ปัญหาเรื่องดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ยิ่งมีข่าวระเบิดใน 3 จังหวัดมาก รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณให้มากขึ้นตามความร้อนแรงของข่าว ถ้าบ้านเมืองทางใต้สงบงบประมาณส่วนนี้ก็นำไปพัฒนาเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนได้มากกว่านี้ ไม่ต้องบาดเจ็บล้มตายกันอย่างนี้ทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องนี้จะว่า เสียของŽ ก็คงพูดได้ยาก

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ คงจะเป็นเรื่องที่พวกเราประชาชนคาดหวังกันมากว่าเมื่อบ้านเมืองมีความสงบ ไม่มีการจัดให้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเหมือนที่ผ่านๆ มา สามารถทำให้รัฐบาลทำงานได้ การส่งออกก็น่าจะฟื้นตัว กลับกลายไปว่าในห้วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การส่งออกซบเซา ราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันปาล์ม พากันตกต่ำหมด เป็นเหตุให้ประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นฐานอุปโภคบริโภคสินค้าทางภาคอุตสาหกรรมลดลง ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ลดลงจากการต่อต้านของประเทศตะวันตก ยุโรป และอเมริกา เพราะเราไม่สามารถเจรจาการค้าได้ ข่าวดังกล่าวก็เป็นข่าวที่ทำให้นักลงทุนทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศไม่กล้าลงทุน ไม่คิดขยายกิจการ เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะไม่ถูกประเทศเหล่านี้ใช้การไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการกีดกันสินค้าไทย แต่เพื่อเป็นข้ออ้างที่ฟังดูบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น คือ ค่าจ้างแรงงานของเรา 350 บาท/วันสูงเกินไป ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก เพราะประสิทธิภาพของแรงงานไทยก็สูงกว่าแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ประชาชนระดับรากหญ้า หรือ grass root จึงประสบกับปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองมากที่สุด เพราะราคาสินค้าพืชผล ปัญหาการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวลดลง ทำให้รายได้ของประชาชนระดับล่างลดลงไปด้วย

เมื่อมีการประกาศว่าทาง คสช.จะแถลงผลงานครบรอบ 3 ปี จึงมีการทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกันใหญ่ ปรากฏว่าสำนักสำรวจความคิดเห็นซึ่งเคยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ผลออกมาเป็นผลดีกับรัฐบาลมาตลอด ก็ต้องรายงานผลการสำรวจ แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนการทำปฏิวัติรัฐประหารและรัฐบาลทหารอยู่ก็ตาม แต่สนับสนุนในสัดส่วนที่น้อยลง

ขณะนี้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาหลัก เมื่อพูดถึงเรื่องผลงานของรัฐบาล เรื่องเสียของไม่เสียของคงเป็นเรื่องที่ว่ากันไป หากไม่มีใครจุดกระแสก็คงจะไม่เป็นอะไร แต่เศรษฐกิจเรื่องปากท้อง ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องที่มาจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่ผู้คนก็ไม่เข้าใจ มักจะคิดว่ารัฐบาลเป็นตัวการหลัก มีฝีมือหรือไม่มีฝีมือเสียเป็นส่วนใหญ่

การแถลงผลงานของ คสช.และรัฐบาลที่แต่งตั้งโดย คสช.ท่ามกลางกระแสและผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสำนักต่างๆ แม้แต่สำนักนิด้าก็ไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าไหร่นักสำหรับรัฐบาล

การจะใช้ประโยชน์จากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ให้สมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ควรจะใคร่ครวญให้หนักว่าหลังจากนั้นจะบริหารประเทศอย่างไร

น่าเป็นห่วงยิ่งนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image