สุจิตต์ วงษ์เทศ : ซาไก กับความไม่ไทย ของคนไทย

โชว์บัตร - นายเหน่ง ศรีธารโต และนางสายฝน ศรีมะนัง ภรรยา พร้อมครอบครัวชนกลุ่มน้อยซาไกที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดนานกว่า 10 ปี โชว์บัตรประชาชนที่ได้รับการรับรองสิทธิเป็นราษฎรไทยเต็มขั้น ที่ จ.สตูล เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม (ภาพจาก มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 หน้า 8]


ซาไก กับ ไทย มีความเป็นมาทำนองเดียวกัน คือถูกเหยียดจากคนอื่นว่าไม่ใช่คน แต่ถูกทำให้ต่างกันเหมือนเหวกับฟ้า โดยประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ซาไก เรียกตัวเองว่า โอรังดารัต หรือ โอรังบูเกต แปลว่า คนของแผ่นดิน หรือคนอยู่ตามภูเขา

คำว่า ซาไก หมายถึง คนแคระ เป็นชื่อที่คนอื่นเรียกอย่างดูถูก

[สรุปจากหนังสือ ชาวเขาในไทย ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2545 หน้า 12]

Advertisement

คนไทย มีบรรพชนไม่เรียกไทย แต่เรียกตัวเองว่า ไต หรือ ไท แปลว่า คนมีสังคม, คนมีวัฒนธรรม

แต่คนอื่น เช่น ฮั่น เรียกคนไทยว่า หมาน, ฮวน แปลว่า พวกป่าเถื่อน, พวกไม่มีวัฒนธรรม, พวกไม่ใช่คน

[สรุปจากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519]

Advertisement

คนไทย เป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ ในภูมิภาคอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว และยังเป็นอยู่จนปัจจุบัน

ไม่เคยพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา ว่ามีคนเชื้อชาติไทยบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ผสมใครอยู่ในโลกนี้

 

ซาไก คนพื้นเมืองดั้งเดิมในไทย

ซาไก เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ในดินแดนภาคใต้ของไทยทุกวันนี้ ก่อนมีคนไทยกลุ่มแรกสุดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ข่าวจากมติชนรายงานว่าซาไกกลุ่มหนึ่งได้รับบัตรประชาชนไทย จะคัดมาดังนี้

นายธีรวัช เหล็บหนู ปลัดอำเภอมะนัง จ.สตูล นายอร่าม ณ นคร เจ้าหน้าที่ทะเบียน ครูจากโรงเรียนบ้านผังปาล์ม 7 และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 เข้าเยี่ยมเยียนครอบครัว “ศรีธารโต” ชนกลุ่มน้อยซาไก บ้านเลขที่ 345 หมู่ 7 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดนานถึง 10 ปี

ซึ่งล่าสุดที่ว่าการอำเภอมะนังได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ทุกคนในครอบครัว เหลือแค่บุตรที่อายุยังไม่ครบกำหนดเพียง 2 คนเท่านั้น และพบว่าครอบครัวซาไกชุดนี้มีการสร้างบ้านยกพื้นสูงเป็นที่อาศัย แทนการสร้างทับเหมือนในอดีต

เจ้าหน้าที่พบนายเหน่ง ศรีธารโต อายุ 48 ปี พร้อมภรรยา นางสายฝน ศรีมะนัง อายุ 30 ปี โดยนายเหน่งเล่าว่า อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งมานาน 10 ปี ปัจจุบันรับจ้างกรีดยางให้กับชาวบ้านและหาของป่าขาย ลูกๆ ก็ส่งให้เรียนต่อในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และโรงเรียนใกล้ที่พัก ซึ่งก็ได้รับสิทธิเรียนฟรี

ขณะนี้ทุกคนในครอบครัวรวม 9 คน มีบัตรประจำตัวประชาชนเกือบครบทุกคนแล้ว รู้สึกดีใจและขอขอบคุณผู้ใหญ่ในชุมชนที่ช่วยผลักดันให้ได้รับสิทธิเหมือนเช่นคนไทยทั่วไป โดยล่าสุดบุตรสาว ด.ญ.สายฟ้า ศรีธารโต อายุ 11 ปี เพิ่งได้รับบัตรประจำตัวประชาชน และยังมีบุตรอีก 2 คนที่อายุยังไม่ครบตามเกณฑ์ หากครบจะรีบไปทำบัตรประชาชนเช่นกัน เพื่อใช้สิทธิเหมือนคนไทย

[มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 หน้า 8]


คนไทย ร้อยพ่อพันแม่

คนไทย มีขึ้นจากอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ที่แผ่ไปตามเส้นทางการค้าทางไกลของดินแดนภายในจนถึงชายฝั่งทะเล กับการขยายตัวของพุทธศาสนาลังกาวงศ์

ผมสรุปอย่างง่ายและสั้นที่สุดจากหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559)

คนในภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท ไม่เรียกตัวเองว่า คนไทย แต่เรียกตัวเองในชื่อต่างๆ เช่น ลาว, ลื้อ, หลี, ผู้ไท (ดำ, ขาว, แดง) ฯลฯ

ภาษาไต-ไท เป็นภาษากลางทางการค้า (เหมือนภาษาอังกฤษทุกวันนี้) ของดินแดนภายใน แล้วแผ่ถึงเมืองท่าชายฝั่งทะเลสมุทร ราวหลัง พ.ศ. 1500

กลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น พวกมอญ-เขมร, พวกชวา-มลายู ฯลฯ ที่ต้องทำการค้ากับดินแดนภายใน จำเป็นต้องพูดภาษาไต-ไทซึ่งเป็นภาษากลางเพื่อการค้า แล้วถูกเรียกจากคนอื่นว่า “สยาม”

ด้วยเหตุผลทางการค้าข้ามคาบสมุทร โดยเฉพาะกับจีน ทำให้ภาษาและวัฒนธรรม ไต-ไท แผ่จากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตก ทำให้พื้นที่แถบนั้นมีชื่อสยาม  แล้วคนพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิมถูกเรียกว่าชาวสยาม วัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมาก่อนก็กลายเป็นวัฒนธรรมสยาม

หลัง พ.ศ. 1800 สยามพวกหนึ่งในภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท มีอำนาจการเมืองเหนือรัฐละโว้-อโยธยาศรีรามเทพ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ได้ดัดแปลงอักษรเขมรเขียนภาษาไต-ไท เรียกอักษรไทย เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image