อาชีวศึกษาในโครงสร้างการศึกษาของไทย : โดย คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การศึกษาของไทยแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้

การศึกษาระดับอนุบาล
เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นการปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดู และพัฒนาความพร้อมของผู้เรียน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม วินัย สติปัญญา และบุคลิกภาพ

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

การศึกษาระดับประถมศึกษา
เป็นการศึกษามุ่งวางรากฐานของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะพื้นฐาน ทักษะการดำรงชีวิต รวมทั้งคุณลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองที่ดี

การศึกษาระดับมัธยม
แบ่งเป็นสองตอนคือ
– มัธยมศึกษาตอนต้น เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถต่อจากระดับประถมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้ค้นพบความต้องการ ความสนใจและความถนัดของตนเอง ทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพ ตลอดจนสามารถประกอบการงานหรืออาชีพตามควรแก่วัย

ADVERTISMENT

– การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญและสายวิชาชีพ เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเป็นฐานสำหรับการศึกษาต่อในระดับวิชาชีพและอุดมศึกษา หรือเพื่อการประกอบการงานหรืออาชีพ

“การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญศึกษา” เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเป็นฐานสำหรับศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ADVERTISMENT

“การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิชาชีพ” เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ศึกษาและฝึกทักษะตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเป็นฐานสำหรับการประกอบอาชีพ และให้หมายความรวมถึงอาชีวศึกษา

การศึกษาระดับอุดมศึกษา
เป็นการศึกษาต่อจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

– การศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาชีพปานกลาง รวมทั้งความสามารถในการริเริ่มเป็นผู้ประกอบการ

– การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาชีพระดับสูง โดยเฉพาะการประยุกต์ทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ การริเริ่มการพัฒนาทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ การสร้างสรรค์ และการเผยแพร่ความรู้ การริเริ่มการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของประเทศในประชาคมโลก

– การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาหรือเทียบเท่า เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะทางวิชาการเฉพาะทาง ให้มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น มุ่งสร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้วิชาการ เพื่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม

การอาชีวศึกษา
การอาชีวศึกษา หมายความว่า กระบวนการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี

การอาชีวศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

– การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะทางวิชาชีพขั้นพื้นฐานรวมทั้งความสามารถในการอาชีพ เป็นผู้ประกอบการและสร้างสรรค์นวัตกรรม

– การศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถและสมรรถนะทางวิชาชีพชั้นปานกลาง รวมทั้งความสามารถในการทำหน้าที่หัวหน้างาน ผู้ประกอบการและสร้างสรรค์นวัตกรรม

– การศึกษาระดับปริญญาสายปฏิบัติการและเทคโนโลยีหรือเทียบเท่า เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและศึกษาให้มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะทางวิชาชีพเฉพาะทาง ทางด้านการวิจัย และความรู้พื้นฐานที่จำเป็นจนสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำมาสู่สิ่งประดิษฐ์หรือแนวทางการปฏิบัติในสายวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษามา และทำให้เกิดการสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เมื่อแพร่หลายไปสู่สาธารณชน จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดแรงผลักดันการพัฒนาประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการ
ส่งเสริมบทบาทของประเทศในประชาสังคมโลก

สืบเนื่องจากการประกาศโครงการสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการอาชีวศึกษาหลายประเด็น คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการจัดทำโครงสร้างและเส้นทางความก้าวหน้าของการศึกษาสายอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับโครงการสานพลังประชารัฐยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา ซึ่งสรุปได้ด้วยแผนภาพประเภทและระดับการศึกษาไทย โดยมีคำชี้แจงเพิ่มเติม ดังนี้

– ระดับการศึกษาไทย มิใช่ประเภทของสถานศึกษา

– การศึกษาของประเทศที่ต่อเนื่องกับระดับมัธยมต้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ สายสามัญ (Innovative Track) และสายวิชาชีพ (Practical Track) การศึกษาในสายสามัญประกอบด้วย การศึกษาในระดับมัธยมปลายและระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) การศึกษาสายวิชาชีพประกอบด้วย การศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. และระดับปริญญาสายปฏิบัติการและเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกเช่นเดียวกัน

– สถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถดำเนินการเรียนการสอนเฉพาะสายสามัญหรือเฉพาะสายวิชาชีพ หรือดำเนินการสอนทั้งสองสายในสถานศึกษาเดียวกันก็ได้

– นักศึกษาที่จบการศึกษาสายใดสายหนึ่ง สามารถเปลี่ยนไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของอีกสายหนึ่งได้

– จำนวนของนักเรียนและนักศึกษาที่ปรากฏ เป็นตัวเลขโดยประมาณเพื่อประโยชน์สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนของผู้เรียนในระดับต่างๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น

– ผู้เข้ารับราชการมีจำนวนประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่ผู้เข้าทำงานในภาคเอกชนมีจำนวนประมาณร้อยละ 95 จากจำนวนของผู้จบการศึกษาแต่ละปี

– การจัดประเภทและระดับของการศึกษายังมีอีกหลายรูปแบบนอกเหนือส่วนที่แสดงไว้ในแผนภาพนี้

 

โดย คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image