คำถาม เลือกตั้ง ในคำถาม มี ‘คำตอบ’ คำถาม การเมือง

แฟ้มภาพ

คำถาม 4 ข้ออันเสนอผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถือเป็นบาทก้าวที่สำคัญ 1 ในทางการเมือง

เหมือนกับเป็น “คำถาม” เหมือนกับต้องการ “คำตอบ”

คำตอบจาก “ประชาชน” ทั่วประเทศผ่านศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด จากนั้น กระทรวงมหาดไทยค่อยประมวลและเสนอขึ้นมา

เป็นท่วงทำนองในกระสวนเดียวกันกับ “ประชามติ”

Advertisement

กระนั้น หากศึกษาจาก 4 คำถามอย่าง 1 เข้าใจต่อนัยยะในทางประวัติศาสตร์ และ 1 เข้าใจต่อนัยยะในทางการเมือง และ 1 ศึกษาความต่อเนื่อง ร้อยรัด และสัมพันธ์กันระหว่างและภายในคำถามแต่ละข้อ

ก็แทบไม่จำเป็นต้องตั้ง “คำถาม”

เพราะภายใน “คำถาม” นั้นก็มี “คำตอบ” กำหนดเอาไว้แล้วอย่างเสร็จสรรพ เนื่องจากเป็น “คำถาม” ที่ส่งเสียงนำอย่างเรียบรื่นว่าสมควรจะเสนอ “คำตอบ” อย่างไร

จึงจะเป็น “คำตอบ” ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ตั้ง “คำถาม”

ขอให้ศึกษาแต่ละคำถามอันมาจากรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อย่างพินิจพิเคราะห์อีกครั้ง

คำถามที่ 1 คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

คำถามที่ 2 หากไม่ได้จะทำอย่างไร

คำถามที่ 3 การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

คำถามที่ 4 ท่านคิดว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกเกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ทำไมจึงว่าแต่ละ “คำถาม” มีลักษณะ “สัมพันธ์” กัน

เพราะว่าคำถามที่ 1 เกี่ยวเนื่องกับคำถามที่ 2 ขณะเดียวกัน คำถามที่ 3 เหมือนกับเป็นคำอธิบายให้กับคำถามที่ 1 ขณะที่คำถามที่ 4 เหมือนกับเป็นคำอธิบายให้กับคำถามที่ 2

ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน

ไม่จำเป็นต้องเป็นศาสตราจารย์ทางด้าน “การวัดผล” ระดับ ดร.ชวาล แพรัตนกุล แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ก็มองออก แทงทะลุ

คำถามนี้คือความต่อเนื่องจาก คำถามจาก “ทำเนียบรัฐบาล” ที่เปรยขึ้นว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบจะกระทบต่อ “การเลือกตั้ง” หรือไม่

เป็นความไม่สงบจาก “ระเบิด” 3 จุดใน กทม.

ขณะเดียวกัน คำถามนี้ก่อให้เกิดนัยประหวัดทางการเมืองไปยังก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ระหว่างการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 และที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เหมือนกับการเสนอคำถาม 4 ข้อจากรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะเป็นคำถามต่อ “ประชาชน” ทั่วประเทศ

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คือ การถาม “แฟนคลับ”

เป็น “แฟนคลับ” ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก่อนเสนอคำขวัญ “แช่แข็งประเทศไทย” เดือนพฤศจิกายน 2555 ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายมิใช่เพื่อ “การเลือกตั้ง”

ตรงกันข้าม เป้าหมายเพื่ออาศัยสถานการณ์ “ระเบิด” มาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลื่อนการเลือกตั้ง เลื่อนโรดแมปออกไป

โดยอิงอยู่กับ “คำตอบ” ที่จะได้จาก “ศูนย์ดำรงธรรม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image