‘อารมณ์ความรู้สึก’ กับ ‘โซเชียลมีเดีย’ โดย ปราปต์ บุนปาน


ในงานสัมมนาหัวข้อ “เปลี่ยน…ให้ทันโลก: New World, New Opportunity, New Business” ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา


หนึ่งในวิทยากรของงานที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม (เช่นเคย) ก็คือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ หรือ “คิว เฮ้าส์”

วันนั้น ดร.ชัชชาติ มาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงชนิดก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีของโลกยุคปัจจุบัน และปัจจัยที่อาจทำให้ “เรา” ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ประเด็นหนึ่งที่ ดร.ชัชชาติ บรรยายเอาไว้อย่างน่าสนใจ คือ เรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” ของคน ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล/อินเทอร์เน็ต/โซเชียลมีเดีย กำลังมีอิทธิพลและทรงพลังอย่างสูง ทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก

Advertisement

ในแง่ของผู้ประกอบการหรือองค์กรธุรกิจนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าจะมีการขายสินค้า ผ่านกระบวนการ “ขายอารมณ์ความรู้สึก” (อันสวยงามเกินจริง) ให้แก่ลูกค้า

แต่ซีอีโอคิว เฮ้าส์ ซึ่งเคยเข้าไปทำงานบริหารบ้านเมืองมาก่อน กลับเห็นว่า หากมองปัจจัยเรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” ในมิติระดับประเทศแล้ว บ่อยครั้ง เรามักต้องเจอกับปัญหายุ่งยากตามมา

นั่นคือ การชนหรือปะทะกันระหว่าง “อารมณ์” กับ “วิทยาศาสตร์” และที่สำคัญ พอความขัดแย้งดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง “อารมณ์” ของกลุ่มคน ก็มักจะเอาชนะ “เทคโนโลยี” ที่วางฐานอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล

Advertisement

โดยส่วนตัว ดร.ชัชชาติเชื่อว่า “อารมณ์ที่รุนแรง” คือปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ประเทศไทย “ติดหล่ม” มานานร่วมสิบปี

เพราะแม้ด้านหนึ่ง “อารมณ์ความรู้สึก” อาจก่อให้เกิดความต้องการจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สิ่งใหม่ๆ” ที่พ้นจากวังวนหรือระบบแบบเดิมๆ

แต่อีกด้าน “อารมณ์ความรู้สึก” ที่ก่อตัวอย่างคุกรุ่นภายในโซเชียลมีเดีย ก็มี “ข้อจำกัด” อันไม่อาจมองข้าม

ดร.ชัชชาติ อ้างอิงความเห็นของนักคิดฝรั่งคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่าโซเชียลมีเดียมีข้อดีสำหรับการแบ่งปันข้อมูลบางอย่างร่วมกัน แต่ไม่ดีสำหรับการจะลงมือก่อสร้างอะไรร่วมกัน เทคโนโลยีการสื่อสารประเภทนี้มีข้อดีสำหรับการจะทำลายอะไรร่วมกัน แต่บางครั้ง อาจไม่ดีสำหรับการจะลงมือสร้างสรรค์อะไรร่วมกัน

ทั้งนี้ เพราะการลงมือทำลายอะไรสักอย่าง มักจะมีเป้าหมายง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มนุษย์เราจึงสามารถร่วมกันทำลายสิ่งนั้นๆ ได้โดยไม่ยากเย็น

ทว่า พอทำลายของเก่าเสร็จ แล้วจะสร้างของใหม่ขึ้นมาทดแทน กระบวนการส่วนหลังนี้กลับมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่า เนื่องจากเราต้องแสวงหาฉันทามติหรือข้อยุติร่วมกันให้ได้

ตามความคิดของผู้บริหารคิว เฮ้าส์ เทคโนโลยี/สื่อใหม่ทรงพลังอย่างโซเชียลมีเดียสามารถช่วยให้ภารกิจข้างต้นประสบความสำเร็จได้เพียง “ครึ่งทาง”

นั่นคือ การผลักดันให้เรา “ทำลาย” บางอย่างร่วมกัน แต่มันกลับไม่สามารถกระตุ้นให้เราร่วมกันสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เพราะเราไม่สามารถหาข้อยุติใดๆ จากโซเชียลมีเดียได้

สิ่งที่อดีต รมว.คมนาคม ฝากเอาไว้ให้คิด ก็คือ โซเชียลมีเดียอาจมีพลังในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

แต่สำหรับกระบวนการปฏิรูปหลังเปลี่ยนแปลงนั้น เราคงหวังพึ่งพาโซเชียลมีเดียได้ยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image