จับมือ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

แฟ้มภาพ


การจับมือกำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าพูดถึงมากในยามนี้

ไม่ว่าจับมือแบบเช็กแฮนด์ ซึ่งสัมผัสมือจริงๆ แล้วเขย่าเล็กน้อย หรือการจับมือที่หมายถึงความร่วมมือร่วมใจกัน

แบบเมื่อเร็วๆ นี้ คุณปู่พิชัย รัตตกุล นักการเมืองอาวุโสแห่งพรรคประชาธิปัตย์ เพิ่งมีคำแนะนำให้พรรคการเมืองใหญ่ 4 พรรคจับมือกันเพื่อต้านทานพรรคทหาร เวลาสู้ศึกหาเสียงเลือกตั้งให้เอานโยบายมาแข่งกันเต็มที่ อย่ามัวทะเลาะเพื่อชิงดีชิงเด่นกันเอง

แม้ว่าแนวทางนี้น่าสนใจมาก แต่ยังไม่ทันไร ก็มีสมาชิกพรรคโต้แย้งทันทีว่าคงจับมือด้วยไม่ได้ ก่อนอธิบายเหตุผลยาวเหยียดที่สรุปได้ว่า รังเกียจเดียดฉันท์พรรคหนึ่งๆ เหมือนสมัยที่เทพกับมารไม่มีทางรวมกันได้

Advertisement

ดูไปแล้วถ้าเทพจับมือกับทหารยังพอจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะอย่างน้อยคุ้นเคยกับการใช้สถานที่ทหารเป็นที่เจรจาจัดตั้งรัฐบาลมาก่อน

ช่วงเวลานี้ประชาชนจึงมีเวลาเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ได้ว่า ใครคิดเห็นอย่างไร แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้งในการเลือกตั้งที่ไม่ว่าช้าเร็วก็ต้องมา

จะมาแบบเป็นพิธีกรรม หรือเอาจริงเหมือนเมื่อปี 2554 ค่อยว่ากัน

ระหว่างนี้ไปดูการจับมือของผู้นำชาติมหาอำนาจโลกที่ถูกวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างสนุกมาตลอดสัปดาห์

กรณีผู้นำวัยหนุ่ม เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส จับมือกับท่านผู้อาวุโส โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา

ปกติเวลาผู้นำจับมือกันจะเป็นช็อตที่สั้นมาก และเป็นแค่ภาพแสดงสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่คลิปที่นายทรัมป์จับมือนายมาครงในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่กรุงบรัสเซลส์ กลับเผยแพร่สะพัดอยู่ในโลกออนไลน์ให้ผู้คนพินิจพิเคราะห์

จังหวะดังกล่าวนั้นเป็นการจับมือแน่นและลงน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัด

สื่อมวลชนของชาติตะวันตกรายงานคล้ายๆ กันว่า นายมาครงจับมือแบบไม่ยอมให้นายทรัมป์

ก่อนหน้านี้นายทรัมป์มักจับมือด้วยท่าทางมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการดึงอีกฝ่ายเข้ามาหาตัวเอง บางครั้งไม่ดึงครั้งเดียว ดึงแล้วดึงอีก เหมือนเจ้านายเล่นกับลูกน้อง

ส่วนจังหวะที่จับมือ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาแบบเอามืออีกข้างมากุมไว้ราวกับเอ็นดู จนผู้นำแดนซามูไรทำหน้าเจื่อนๆ และอีกครั้งที่ทรัมป์ไม่ยอมจับมือกับ นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนีในห้องรูปไข่ที่ทำเนียบขาว ทั้งที่ฝ่ายหญิงเอ่ยปากแล้ว

พอมาเจอนายมาครงจับมือไม่ยอมลดราวาศอกแบบนี้ ฝ่ายที่ไม่ค่อยจะชอบทรัมป์ก็เลยสะใจกันยกใหญ่

สื่อยังย้อนกลับไปดูจังหวะจับมือของทรัมป์ในงานต่างๆ พร้อมกับยกย่อง นายจัสติน ทรูโด ผู้นำหนุ่มแคนาดาที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้นายมาครง เพราะเลือกจับมือในจังหวะและทิศทางที่ดี ดูแล้วสถานะเท่าเทียมกัน

ประเด็นจับมือที่โหมกระพือนี้มาพร้อมกับข่าวที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับยุโรปนั้นไม่แนบแน่นหวานชื่นเหมือนเดิมอีกแล้ว โดยเฉพาะกับเยอรมนี ผู้นำหญิงพูดชัดว่าถึงเวลาต้องเลิกพึ่งพาสหรัฐแล้ว

ในทางการเมือง การเลือกจะจับมือหรือไม่จับมือจึงเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image