สุจิตต์ วงษ์เทศ : กรุงเทพฯ พื้นที่ลุ่มต่ำลาดลงเป็นก้นกระทะให้น้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน

ฝนตกกระหน่ำจนน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด ย่านรามอินทรา เมื่อวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม 2560 (ภาพจาก ห้องสมุดภาพ มติชน)

ฝนตกห่าใหญ่ น้ำรอระบาย แต่ระบายไม่ทัน เลยท่วมซ้ำซากฟากกรุงเทพฯ ด้านทิศตะวันออก เพราะเมืองขยายไปทางพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแก้มลิงธรรมชาติตั้งแต่ยุคดั้งเดิมก่อนมีกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ น้ำท่วมขังก้นกระทะ

กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลางเมือง จากทิศเหนือลงทิศใต้ (ให้น้ำไปรวมในทะเลอ่าวไทย) จึงมีกรุงเทพฯ 2 ฝั่ง เรียกชื่อต่างกันว่า ฝั่งธนบุรี กับ ฝั่งกรุงเทพฯ  (หรือฝั่งพระนคร)

ฝั่งธนบุรี พื้นที่เป็นดอน จึงมีระดับสูงกว่าฝั่งกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มต่ำลาดลงไปทางทิศตะวันออก แล้วเป็นแอ่งก้นกระทะอยู่แถบเขตดินแดง, ห้วยขวาง, บางกะปิ ฯลฯ

Advertisement

เพราะดั้งเดิมเป็นแก้มลิงธรรมชาติขนาดมหึมา กักน้ำก่อนไหลลงทะเลอ่าวไทย และเป็นพื้นที่เลี้ยงควายไถนาของคนรุ่น ไม้ เมืองเดิม ใช้เป็นฉากทุ่งนาในนิยายเรื่องแสนแสบของไอ้ขวัญกับ อีเรียม

แต่คนปัจจุบันไปตั้งชุมชนเมืองขนาดใหญ่ โดยไม่เรียนรู้อย่างนอบน้อมธรรมชาติ ก็ต้องมีปัญหาแก้ไม่ตกหรอก นอกจากยอมรับการท่วมของน้ำประจำปี

 

Advertisement

ฝั่งธน ที่ดอนสามเหลี่ยมใหม่

ฝั่งธนบุรีเป็นที่ดอนสูง (กว่าฝั่งกรุงเทพฯ) เพราะเป็นบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันเนื่องจากการทับถมของโคลนตะกอนที่ลำน้ำพัดพามาจากที่สูงในฤดูน้ำหลาก

[มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2560 ราคา 280 บาท เป็นคัมภีร์บอกภูมิประเทศที่ก่อให้เกิดสร้างบ้านแปลงเมืองทั่วไทย]

ถ้าน้ำไม่มากจริงๆ ฝั่งธนก็ท่วมยาก หรือท่วมไม่สาหัสมากเท่าฝั่งกรุงเทพฯ

เพราะเป็นที่ดอนสูงโดยธรรมชาติ จึงเป็นหลักแหล่งของคน แล้วมีชุมชนเก่าสุดในกรุงเทพฯ อยู่บริเวณนี้ เช่น บางระมาด, บางเชือกหนัง เป็นต้น

จนเป็นเมืองบางกอก แล้วเติบโตเป็นกรุงธนบุรีของพระเจ้าตาก

 

มิวเซียมกรุงเทพฯ ไม่มี

มิวเซียมกรุงเทพฯ ยังไม่มี เพราะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) มุ่งแต่รุกไล่ชุมชนประวัติศาสตร์อย่างชุมชนป้อมมหากาฬ ทำให้กรุงเทพฯ ไม่มีแหล่งเรียนรู้พัฒนาการความเป็นมาของชุมชนบ้านเมืองก่อนจะเป็นกรุงเทพฯ

หอสมุดเมืองที่สี่แยกคอกวัว น่าจะทำนิทรรศการง่ายๆ บอกความเป็นมากรุงเทพฯ ไปพลางๆ จนกว่าจะมีมิวเซียมกรุงเทพฯ (ไม่รู้อีกกี่ชาติ?)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image