8กปปส.สิ้นภารกิจ กลับถิ่น ประชาธิปัตย์ ตอกย้ำ กลมเกลียว

วงสภากาแฟระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กับแกนนำ กปปส.จำนวน 8 คน ณ ที่ทำการพรรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมนั้น

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ

“กปปส.ก็คือสมาชิกพรรค อดีต ส.ส.ของพรรคที่ไปทำภารกิจเพื่อประเทศชาติ เมื่อเสร็จภารกิจ ก็กลับบ้าน”

การพูดคุยกันระหว่างหัวหน้าพรรคกับแกนนำ กปปส. ได้ปรับความเข้าใจต่อท่าทีของพรรคและ กปปส.

Advertisement

นั่นคือ ต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณ หรือระบอบทุนสามานย์และประชาธิปไตยจอมปลอม

และมีเป้าหมายปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ในการพูดคุยไม่ได้แสดงท่าทีต่อการรัฐประหาร

Advertisement

ไม่ได้ก้าวล่วงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดปัจจุบันแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งเวทีนอกสภา

อภิปรายโจมตีและขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ต่อมา นายสุเทพได้จัดตั้ง กปปส.ขึ้น โดยประกาศลาออกจาก ส.ส. ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และประกาศเลิกเล่นการเมือง

การจัดตั้ง กปปส. มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนเข้าร่วม แต่ละคนอยู่ในสถานะ “แกนนำ”

อาทิ นายวิทยา แก้วภราดัย นายถาวร เสนเนียม นายอิสสระ สมชัย นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายชุมพล จุลใส นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นต้น

กปปส.ได้นำชุมนุมโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แม้ในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะประกาศยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่

แต่ภารกิจของ กปปส.ยังคงเดินหน้าขับไล่

ประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ ประกาศไม่ร่วมการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

รวมทั้งมีกลุ่มผู้ชุมนุมแห่กันไปขัดขวางการเลือกตั้งในครั้งนั้น

ในด้านการบริหารประเทศช่วงนั้น เกิดเหตุรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าวให้ชาวนา หน่วยราชการทำงานกันไม่สะดวก

กระทั่งเกิดเหตุการณ์น่าหวาดเสียว เมื่อ นปช.เปิดเวทีขึ้นมาประชัน จนในที่สุดเหตุการณ์ลงท้ายที่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกันไปเข้าค่าย

และเริ่มให้กำเนิดแม่น้ำ 5 สาย

ระหว่างที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ดูแลประเทศ ได้เบิกจ่ายเงินให้ชาวนา ได้ผลักดันให้งบประมาณ 2558 ใช้ได้ทันเวลา

นอกจากนี้ ยังไล่เอาผิดกับรัฐบาลชุดเก่า ดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีตรัฐมนตรี

ในการทำงานของแม่น้ำ 5 สายที่ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. คัดเลือกบุคคลหลากหลายเข้ามาร่วมทำงานนั้น แกนนำของ กปปส.บางคนก็ได้เข้าไปทำหน้าที่ด้วย

ขณะที่พรรคการเมือง รวมทั้งนักการเมือง ตกเป็นจำเลยของสังคม

ทุกประการที่มีความผิดพลาด นักการเมืองกลายเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น

กระทั่งมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และมีการประชามติ บรรดาพรรคการเมืองจึงแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง

พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย

ขณะที่นายสุเทพ เลขาฯ กปปส. แถลงจุดยืน ประกาศเห็นด้วย

ผลประชามติออกมาว่า เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้น

บัดนี้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว

ตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์วางไว้ ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2561

และเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ บรรดาสมาชิกแม่น้ำ 5 สาย ที่สนใจเล่นการเมือง แต่ถ้าไม่สละตำแหน่งอาจถูกห้าม จึงเริ่มแสดงเจตนา

ลาออกเพื่อไปลงเลือกตั้ง

ต่อมาจึงปรากฏเป็นข่าวว่า แกนนำ กปปส.ที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาทำกิจกรรมในนามพรรค

เหมือนกับสลับเสื้อในกับเสื้อนอก

จากที่เก็บเสื้อพรรคไว้ใน แล้วสวมเสื้อ กปปส.ไว้นอก

มาบัดนี้จะเอาเสื้อ กปปส.ไว้ใน โดยใส่เสื้อพรรคไว้นอก

ทั้งนี้ หากนายอภิสิทธิ์ตอบรับแกนนำ กปปส. เข้ามาทำกิจกรรมพรรคอย่างเต็มตัว

ทุกอย่างคงเป็นไปอย่าง นพ.วรงค์ว่าไว้

“กปปส.คือสมาชิกพรรค เมื่อเสร็จภารกิจ ก็กลับบ้าน”

เป็นถ้อยคำแห่งความสัมพันธ์อันกลมเกลียวระหว่างประชาธิปัตย์ กับ กปปส.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image