จิตวิวัฒน์ : กิจกรรมพิเศษของชีวิต : โดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

1.สำหรับเด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบที่ต้องผ่าตัดไส้เลื่อน มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้ค้างแรมนอกบ้าน ได้นอนเตียงใหญ่ในห้องพักเดี่ยวของโรงพยาบาล ในช่วงหัวค่ำ ผมจะได้เจอกับพ่อแม่และน้องๆ ในบรรยากาศกึ่งปาร์ตี้ มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้กินช็อกโกแลตแท่งโตที่เย็นฉ่ำและหอมอร่อย ได้เกาะกระจกใสจากตึกชั้น 10 มองลงมาและเห็นทิวทัศน์เบื้องสูงของกรุงเทพฯ

ผมรู้สึกว่าได้เห็นการแสดงความรักของคนใกล้ชิด ซึ่งแตกต่างออกไปจากวันธรรมดาอื่นๆ การป่วยจึงเป็นกิจกรรมพิเศษของชีวิต ความป่วยได้มอบสีสันใหม่ๆ ภูมิทัศน์ใหม่ๆ แนะนำผู้คนและความสัมพันธ์ใหม่ๆ มาสู่ชีวิตของเรา

2.เมื่อผมโตขึ้น ผมมีความสุขกับการไป รพ.น้อยลง ผมเริ่มเรียนรู้ว่า การป่วยหนักเป็นความทรมานอย่างหนึ่ง คนป่วยต้องตื่นแต่เช้าไป รพ. ต้องรู้วิธีหาบัตรคิว ต้องประคองใจอดทนรอคิวพบหมอ รอคิวตรวจร่างกาย รอคิวจ่ายยา

ผมได้เรียนรู้ว่า การรักษานั้นมีต้นทุนและเหน็ดเหนื่อย ได้เรียนรู้ว่าเออหนอ รพ.ของรัฐมีความจำกัดอย่างนี้เอง บุคลากรสุขภาพประเทศไทยเครียดอย่างนี้เอง

Advertisement

เมื่อผมป่วยหนัก ทำอะไรอื่นไม่ได้นอกจากการนอนพักอยู่ที่บ้าน หรือทำกิจกรรมเบาๆ ผมตระหนักถึงความจำเป็นของการพักผ่อนและการอยู่เฉยๆ ผมได้เรียนรู้ว่า การหยุดทำงานก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย

เมื่อผมป่วยหนัก ลมหายใจติดขัด อาการปวดหัวมึนงง หน้าผากร้อนผ่าว ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ผมได้เรียนรู้ว่า ร่างกายของเรานั้นเปราะบาง ต้องการการดูแล และผมต้องฟังสัญญาณเตือนจากร่างกาย หลายครั้งที่หายป่วย ก็ดูเหมือนใจจะมีกำลังในการดูแลสุขภาพมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือนอนแต่หัวค่ำ

เป็นไปได้ไหมว่า การที่คนคนหนึ่งมีเรี่ยวแรงออกกำลังกายประเภทวิ่งจ๊อกกิ้งหรือปั่นจักรยาน ดูแลการกินอยู่หลับนอนให้ดี ก็เพราะเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพผ่านประสบการณ์เจ็บป่วยแบบนี้เอง

3.แล้ววันหนึ่ง ป้าซึ่งเป็นเบาหวานก็สะดุดสายยางหกล้ม แพทย์วินิจฉัยว่ากระดุกสะโพกร้าว ป้าจึงเดินไม่ได้ กลับมารักษาตัวอยู่ที่บ้าน กลายเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนติดเตียง และสมาชิกในครอบครัวต้องมาดูแล

จุดนี้เองที่ “การดูแล” กลายเป็นกิจกรรมที่จริงแท้ขึ้นมา การดูแลไม่ใช่เรื่องนามธรรมอีกต่อไป แต่คือความหยาบหรือละเอียดในท่วงท่าการเช็ดเหงื่อไคล คือปฏิกิริยาบนใบหน้าของเราเมื่อต้องสัมผัสอุจจาระ-ปัสสาวะ คือน้ำเสียงที่อ่อนโยนหรือไม่พอใจเมื่อเราพูดกับผู้ป่วย

การลงมือดูแลผู้ป่วยด้วยตนเอง คือกิจกรรมพิเศษที่ท้าทายความเป็นมนุษย์ในตัวเรา โดยเฉพาะเมื่อเราต้องดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ที่ยาก เช่น การดูแลเมื่อในภาวะวิกฤต การดูแลที่ต่อเนื่องยาวนาน การดูแลเพียงลำพังและญาติคนอื่นๆ ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

เมื่อมีผู้ป่วยในครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเปลี่ยนไป ใครบางคนต้องรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลัก เช่น ทำความสะอาดร่างกายและสถานที่ จัดอาหารและยาให้กิน บางคนสนับสนุนด้านการเงินอยู่ห่างๆ บางคนเลือกที่จะปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการดูแล ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจะท้าทายให้สมาชิกต้องสื่อสารทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน มิฉะนั้น จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ง่าย

ในทางตรงข้าม การดูแลผู้ป่วยนี้เอง ย่อมเป็นโอกาสให้ญาติผู้ดูแลได้เรียนรู้เนื้อหาสาระของชีวิต ผู้ดูแลจะถูกท้าทายให้แก้ปัญหายากๆ เช่น จะพูดคุยสื่อสารกับแพทย์ให้รู้เรื่องได้อย่างไร จะพาผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างไร จะสื่อสารกับญาติคนอื่นๆ ได้อย่างไร

เมื่อผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลถูกแพทย์ถามว่า “หากผู้ป่วยไม่หายใจแล้ว จะให้ทำอย่างไรต่อ จะยื้อหรือจะปล่อยให้ผู้ป่วยจากไป” เมื่อนั้น พวกเขาย่อมถูกท้าทายให้ใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิตและความตาย ถูกถามว่าเวลาที่เหลือของชีวิตมีคุณค่าแค่ไหนหากต้องแลกกับความทรมานจากการรักษายื้อชีวิต

เมื่อตระหนักได้ว่า ผู้ป่วยกำลังจากไปแล้วจริงๆ จิตใจของสมาชิกบางคนย่อมสั่นไหวเปราะบาง จุดนี้เองที่พวกเขาได้เรียนรู้จิตใจของตนเองอย่างดิ่งลึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นรูปธรรมชัดเจน แทบจะเอื้อมมาลูบไล้ได้ในฝ่ามือ

วันสุดท้ายของผู้ป่วย จะเป็นวันพิเศษที่แตกต่างจากวันอื่นๆ บางคนจำได้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เล่าได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก บันทึกไดอารี่เกี่ยวกับวันสุดท้ายของผู้ตาย จะเป็นหน้าที่มีคุณค่าความหมายอย่างมาก

และเมื่อผู้ป่วยจากไป สมาชิกคนอื่นๆ ย่อมรับรู้ได้ถึงรอยต่อที่สดใหม่ระหว่างการอยู่กับการตาย ความสัมพันธ์ซึ่งมีทั้งส่วนที่ขาดหายและส่วนที่ยังเชื่อมโยงอยู่ วันตายของคนสำคัญจึงเป็นเหตุการณ์พิเศษที่ตราตรึงในความทรงจำของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย

จึงไม่แปลกที่ญาติบางคนรู้สึกผิดและเสียดายที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในวันที่ผู้ป่วยจากไป

4.ใช่หรือไม่ว่า การเจ็บป่วย การดูแล การตาย คือกิจกรรมพิเศษ (special event) ของชีวิต ซึ่งให้บทเรียนได้มาก ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวมีทัศนคติและท่าทีอย่างไร มีสติมากน้อยแค่ไหน

ทัศนคติที่ดี การเปิดใจกว้างรับการเรียนรู้ การวางใจมีเมตตา ย่อมช่วยให้เราเก็บเกี่ยวบทเรียนชีวิตเกี่ยวกับการป่วยและความตายได้มาก ขณะที่การหลีกหนีประสบการณ์เหล่านี้ อาจทำให้เราขลาดกลัวไม่คุ้นชิน เมื่อต้องเผชิญความเจ็บป่วยและการตายที่เป็นของเราเองก็ตระหนกและขาดสติ

สิ่งที่อาจช่วยให้เราเรียนรู้ความเจ็บป่วย การดูแล และการตายได้มาก คือการเป็นฝ่ายเดินเข้าหาสิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจ ทั้งจากการอ่านหนังสือ ฟังเสวนา เข้าเวิร์กช็อป ซึ่งกลุ่มองค์กรสุขภาพต่างๆ จัดกิจกรรมอยู่เนืองๆ ไปจนถึงการลงมือเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การเยี่ยมเยียนคนป่วยที่เรารู้จัก รวมถึงการยินดีที่จะร่วมเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัวของเราเอง

เมื่อเรายินดีที่จะเรียนรู้กิจกรรมพิเศษของชีวิตเหล่านี้แล้ว โอกาสที่จะตายอย่างเป็นสุขก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

* กิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับการเรียนรู้ความตายที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้คือ Happy Deathday วันที่จะเปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข ที่ Hall A ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 10-11 มิถุนายน 2560 ติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful Death

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image