โมเดลใหม่ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

(แฟ้มภาพ)

นายกรัฐมนตรีให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ นำคำถาม 4 ข้อ ที่นายกฯตั้งขึ้น ไปให้ประชาชนตอบ

เชื่อว่าด้วยประสิทธิภาพของกระทรวงมหาดไทย อีกสักพักน่าจะได้รับฟังกันว่า ประชาชนคิดยังไงกับการเมือง

โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งที่โรดแมปล่าสุดบอกว่า จะเกิดขึ้นในปี 2561

คำถาม 4 ข้อมีอะไรบ้าง เชื่อว่า คงได้อ่านกันไปแล้ว จากข่าวที่เสนอมาอย่างต่อเนื่อง นับจากนายกฯพูดเรื่องนี้ในรายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันศุกร์ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา

Advertisement

นักการเมืองหลายคนเห็นคำถามแล้วลูบปาก บอกว่า ปัญหาหญ้าปากคอกแบบนี้ มาถามได้ยังไง แล้วก็ตอบกันใหญ่

บางคนนอกจากตอบแล้ว ยังตั้งคำถามกลับไปอีก 4 ข้อ

แต่นายกฯ บอกแล้วว่า ไม่ได้ถามนักการเมือง ถามประชาชนต่างหาก ดังนั้น ประชาชนจะตอบว่าอะไรต้องรอฟังจากมหาดไทย

Advertisement

ในเรื่องความยากง่าย คำถามของนายกฯ ที่ว่า หากเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลไม่ดี ไม่มีธรรมาภิบาล จะทำยังไงกันนั้น ที่จริงตอบง่ายมาก

เพราะในระบบสากล ที่ถือเอาเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ เมื่อ ประชาชนเลือกใคร บุคคลนั้นย่อมมีความชอบธรรม ที่จะใช้อำนาจในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร

เนื่องจากในระบบนี้ ถือเอาความเห็นของประชาชนเป็นใหญ่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนย่อมมีความคิด ความเห็นของตนเอง มีความรับรู้ทางการเมือง เมื่อตัดสินใจเลือกใครคะแนนจำนวนมากที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง ถือเป็น “มติ” ที่ต้องเคารพ

ฉะนั้นหากเลือกตั้งไปแล้ว ได้รัฐบาลไม่ดี ก็ต้องไปขับไล่กัน

แต่แทนที่จะไล่ด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ไล่ด้วยวิธีการตามกฎหมาย

เป็นเรื่องของสภา องค์กรอิสระ และสังคมที่จะแสดงความคิดเห็น เพื่อปฏิเสธ ไม่เอารัฐบาลนั้น

กระบวนการแบบนี้ไม่รวดเร็วทันใจเหมือนเปิดเพลงมาร์ช แต่มีหลักประกันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ จะแพ้หรือชนะ มีเหตุผล มีหลักให้อ้างอิง

สุดท้าย แต่ละรัฐบาลมีวาระ 4 ปี ไม่เกินจากนี้ ถึงเวลาครบ 4 ปี หรืออยู่ไม่ถึง ตกท่อเสียก่อนก็ต้องมาเลือกตั้งกันใหม่ ใครทำไม่ดี ก็ต้องเชื่อในวิจารณญาณของประชาชนว่าจะไม่เลือกเข้ามาอีก

หรือเลือกมาแต่ไม่ให้เป็นรัฐบาล

ปัญหาคือ คนบางกลุ่มที่ไม่เชื่อในกระบวนการแบบนี้

มีทั้งไม่เชื่อทั้งระบบ อย่างที่พูดกันมาหลายปีว่า “ชิงสุกก่อนห่าม”

บ้างก็รับไม่ได้ที่นักการเมืองมาจากไหนไม่ทราบ เรียนอะไรมาก็ไม่รู้ หลายๆ คนเป็นพ่อค้า เลือกตั้งเสร็จ มานั่งเป็นใหญ่ ชี้นิ้วสั่งข้าราชการที่ร่ำเรียนกันมาสูงๆ ทำงานอย่างมีระเบียบแบบแผน

นอกจากรับนักการเมืองไม่ได้ ยังลามไปถึงคนลงคะแนนเลือกตั้งว่าไม่มีความรู้ ไม่มีปริญญา หลอกง่าย ฯลฯ

วิธีคิดแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความห่วงใยบ้านเมืองเหมือนกัน แต่ต้องถามว่า ความห่วงใยนี้จะนำไปสู่อะไร นำไปสู่การเมืองแบบไหน

นอกจากระบบพิเศษอย่างในปัจจุบัน กับระบบที่โดนล้มไปก่อนหน้านี้ จะมีโมเดลแบบไหนอีก ที่ตอบโจทย์ความห่วงใยแบบที่ว่า

ใครคิดอะไรไว้ น่าจะลองฉายหนังตัวอย่างให้ดูกันหน่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image