กลัวคำตอบ! โดย จำลอง ดอกปิก

4คำถาม มีคำตอบ

นักการเมือง นักวิชาการ ภาคส่วนต่างๆ ชิงสนอง-จัดเต็มทุกมิติชุดใหญ่

จุดพลุโยนคำถาม 4 ข้อ หากจะถามว่า ‘บิ๊กตู่’ กำไร หรือขาดทุน

พิจารณาใคร่ครวญคำถาม-คำตอบ ด้วยเหตุผล-หลักการ ที่นักวิชาการก็ดี นักการเมืองก็ดีตอบ ก็คงประเมินไม่ยาก

Advertisement

หรือจะจับจากอาการ ที่แสดงออกถึงการได้เปรียบ-เพลี่ยงพล้ำก็สังเกตได้ง่ายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่แตกแขนง ในมุมการเมือง ใครต่อใครได้วิเคราะห์ ค้นหาคำตอบที่อยู่เบื้องหลัง

เหตุใดจึงมีการตั้งคำถามในเรื่องสวนทางกับความพยายามสร้างความปรองดอง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บ้านเมืองกำลังเดินวกสู่เส้นทางการเลือกตั้ง มีมูลเหตุแรงจูงใจ สะท้อนความปรารถนาใดบ้าง

Advertisement

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับการอยู่ต่อหรือไม่อยู่

หาไม่แล้ว คงตั้งคำถามตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ให้ใครหยิบมาตีความว่า ท่านต้องการให้มีการเลือกตั้งหรือไม่

แต่ก็มีผู้ไม่วายสงสัย

มองทะลุ 4 คำถามไปถึงขั้นที่ว่า อาจไม่มีเลือกตั้ง หรือเป็นการส่งสัญญาณว่า อยู่ยาว จึงต้องการคำตอบบางอย่าง มาเป็นฐานรอง นั่งร้าน

ต่อประเด็น ล้มเลือกตั้งนั้น

ฟังดูอาจไม่มีน้ำหนักมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายลูก มีวัน เวลากำหนดแล้วเสร็จ บัญญัติให้ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อใดชัดเจน ความน่าจะเป็นของการไม่มีเลือกตั้งจึงน้อย

ที่เป็นไปได้คือ อาจยืดยาว ใช้เวลาดำเนินการเต็มเพดานสูงสุดในการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นและสำคัญต่อการเลือกตั้ง 4 ฉบับ

ที่ว่าช้ากว่าที่กฎหมายแม่บทการปกครองกำหนดไม่ได้ แต่เร็วได้ เร่งได้ สั่งได้ คุมแม่น้ำทุกสายได้

อาจไม่เป็นความจริง

ตรงกันข้าม ปุ่มสั่งให้ช้า จัดทำเต็มเวลา งัดข้อหาข้อยุติไม่ได้ ก็ตั้งกรรมาธิการร่วม อย่างนี้มีสิทธิเกิดขึ้นได้

คำว่าอยู่ยาวในความหมายแรก คือล้ม-ไม่จัดเลือกตั้ง แต่ดำรงคงสถานะรัฐบาล คสช.ต่อไป จึงน่าจะมองข้ามไปได้

แต่อยู่ยาว ในอีกความหมายคือ กลับมาใหม่ ผ่านกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ลักษณะนี้ มีความเป็นไปได้

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดกว้าง ทางโล่ง ‘คนนอก’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

บทเฉพาะกาล เพิ่มอำนาจพิเศษ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ลงคะแนนเสียงร่วมโหวตเลือก นายกฯ มีพรรคการเมืองขนาดกลางบางพรรคแบะท่าพร้อมเป็นแนวร่วมสนับสนุน มี กปปส.ที่น่าเชื่อได้ว่า จะยึดครองสัดส่วนที่นั่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนหนึ่ง มีท่าทีชัดเจน ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกฯต่อ

เงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการลากยาวเป็นที่ยิ่ง

การตั้ง 4 คำถาม ในนามความมุ่งมาดปรารถนาดี อยากให้ประชาชนได้เรียนรู้ จึงถูกดักคอ ตีความทุกท่วงท่าที่ขยับ

อันที่จริงคำถามของนายกฯอาจไม่มีนัยยะอะไรเลยก็ได้

แต่เมื่อกอปรเข้ากับ กระแสข่าวข่าวจริง-ข่าวลวง ที่แพร่กระจายในหมู่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง

ภารกิจรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สิ้นสุด ปิดฉากกลับค่ายตามโรดแมปเพียงเท่านี้ แต่จะอยู่ยาว

เมื่อ 4 คำถามสอดคล้องกับสัญญาณที่ได้รับ

คำตอบของคำถาม จึงถูกมองเป็นเรื่องการนำมารับใช้ เป็นนั่งร้านการเมืองอย่างช่วยไม่ได้

ถามว่า ‘บิ๊กตู่’ ผิดไหม หากพรรคการเมือง สนช.โหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ผิดหรอก

แต่การที่คนร่าง คนเขียนกติกามาจากการแต่งตั้งของ คสช.ก็อาจเป็นเงื่อนแง่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

เว้นแต่ หัวหน้า คสช.ลงสมัครเลือกตั้ง

แม้กติกาพิกลพิการ แต่อย่างน้อย มีความชอบธรรมและสง่างามยิ่ง เมื่อมีที่มายึดโยง ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน

4 คำถามไม่สำคัญเท่า 1 คำตอบ

คำตอบจากการเลือกตั้ง ย่อมถูกต้อง ตรงไปตรงมาที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image