ฐานทางสังคมของเผด็จการ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า พลังประชาธิปไตยกำลังอ่อนลงทั้งโลก ไม่ใช่เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่ไม่ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ประชาชนไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักที่หลักการประชาธิปไตยถูกละเมิด นักการเมืองที่แสดงท่าที “ไม่ประชาธิปไตย” อย่างออกหน้า กลับได้รับการเลือกตั้งบางครั้งอย่างท่วมท้นด้วย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ จนอื้อฉาวไปทั่วโลก แต่คะแนนนิยมในประเทศกลับสูงขึ้น ฯลฯ

ในสมัยหนึ่ง เมื่อประชาธิปไตยดูยังเป็นคำตอบแก่ประชาชนส่วนใหญ่ มีคำอธิบายว่าประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ในสังคมใด ก็ต้องมีฐานทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมรองรับ บัดนี้เมื่อประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบแก่คนจำนวนมากในโลกเสียแล้ว เราจะมองเห็นต้นสายปลายเหตุได้ ก็น่าจะต้องกลับไปมองที่ฐานทางสังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญซึ่งเกิดในระยะกว่าหนึ่งชั่วอายุคนที่ผ่านมาทั่วทั้งโลก คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น งานศึกษาของ Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) ชี้ให้เห็น ไม่แต่เพียงในปัจจุบัน ไม่แต่เพียงในประเทศตะวันตกซึ่งมีฐานข้อมูลให้ศึกษาได้ละเอียดเท่านั้น ที่ทรัพย์ถูกกระจุกอยู่ในมือคนจำนวนน้อยลง แต่ในอนาคต (ศตวรรษที่ 21) ก็จะกระจุกยิ่งขึ้น และในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีฐานข้อมูลแคบกว่า ก็มีแนวโน้มอย่างเดียวกัน

สถานการณ์เป็นอย่างเดียวกับที่เกิดในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำโลกไปสู่วิกฤตที่รุนแรงและโหดร้าย (สงครามโลกครั้งที่ 1-เศรษฐกิจตกต่ำ-สงครามโลกครั้งที่ 2) กว่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทุเลาลงมาสู่สภาวะที่พอรับได้แก่คนส่วนใหญ่

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นอย่างไร ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะมีผู้พูดไว้มากแล้ว

เราทุกคนในโลกนี้ ต่างมีชีวิตอยู่ในสองประเทศ สองสังคม ประเทศหนึ่งสังคมหนึ่งรวยล้นฟ้า อีกประเทศหนึ่งสังคมหนึ่ง ผู้คนหาเช้ากินค่ำ มีแรงเท่าไรก็ต้องหมดไปกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยไม่มีโอกาสเลี้ยงจิตใจ, เลี้ยงสมอง, เลี้ยงอารมณ์, เลี้ยงเพื่อน หรือแม้แต่เลี้ยงลูก

ดังนั้น ต่างจึงมีวิถีชีวิต, วิถีคิด, วิถีรสนิยมที่แตกต่างกัน ถึงแม้ต่างฝ่ายต่างก็มีปัญหาเหมือนกัน แต่ปัญหาของแต่ละฝ่ายต่างกันอย่างลิบลับ ว่ากันที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรเหลือที่จะหล่อเลี้ยงสำนึกร่วมกันระหว่างผู้คนในประเทศต่างๆ ได้อีก นอกจากทีมฟุตบอล แม้แต่ “ชาติ” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างสำนึกร่วมกันอย่างเข้มแข็งก็ค่อนข้างจะไร้ความหมายไปแล้ว

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดกู่เช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ทุกชนชั้น ที่น่าประหลาดก็คือแม้แต่ชนชั้นที่ได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำ ก็มีความไม่พอใจสภาพที่เป็นอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุของความไม่พอใจนั้นมาจากความเหลื่อมล้ำ ว่ากันไปแล้ว ถึงชนชั้นอื่นก็เหมือนกัน มีเหตุให้รู้สึกอึดอัดขัดข้องอยู่มาก แต่ยกสาเหตุไปให้แก่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ (อย่างน้อยในหมู่คนชั้นกลางระดับล่างก็เป็นเช่นนั้น ในงานวิจัยเกี่ยวกับคนเสื้อแดงของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรมัย พบว่า คนเสื้อแดงไม่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาแต่อย่างใด)

คนรวยระดับคณาธิปัตย์และคนชั้นกลางระดับบน มีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัว เพราะถูกแวดล้อมด้วยคนที่อยู่ต่างประเทศต่างสังคมตลอดเวลา อาจเรียกได้ว่าเป็น “คนแปลกหน้า” เขาอาศัยอยู่ในบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือที่ต่ำลงมาก็ในบ้านของโครงการบ้านจัดสรรซึ่งมีประตูทางเข้าโดยเฉพาะ (gated community) ชุมชนเช่นนี้แบ่งแยก “คนแปลกหน้า” ออกไปให้ห่าง ด้วยราคา, ยามที่ตรวจตราการเข้าออกอย่างรัดกุม, และฝ่ายจัดการโครงการ

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะรังเกียจคนจน แต่เพราะระแวงคนแปลกหน้า และไม่ต้องการใช้ชีวิตในชุมชนซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างมากเกินไป อาจรบกวนความสงบสุขของเขาได้ เช่นเปิดเพลงที่เขาไม่ชอบดังเกินไป

คนรวยระดับนี้ต้องการรัฐที่ปกป้อง “เสรีภาพ” ของพวกเขาให้มั่นคง นั่นคือเสรีภาพที่จะแก้กฎหมาย, เขียนกฎหมาย และข้ามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการมีชีวิตในสังคมที่เต็มไปด้วย “คนแปลกหน้า” ได้ ดังนั้นจึงต้องแน่ใจว่ารัฐต้องอยู่ฝ่ายเขาเสมอ ความสูงเด่นของคนรวยระดับนี้ ทำให้เขาสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมความกลัวเช่นนี้ออกไปในสังคมวงกว้างได้

คนชั้นกลางระดับกลาง แม้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีแต่ก็ไม่มั่นคงนัก หากเป็นเจ้าของทุนเอง กิจการนั้นก็มีขนาดไม่ใหญ่ และต้องเผชิญความผันผวนด้วยสายป่านที่ไม่ยาวนัก หากเป็นลูกจ้างขายทักษะระดับสูงแก่ผู้อื่น ก็อาจตกงานได้ไม่ทันรู้ตัว เพราะความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่แต่เพียงอนาคตของตนเองเท่านั้นที่ขาดความแน่นอน อนาคตของลูกหลานก็สุ่มเสี่ยงพอๆ กัน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่การศึกษาไม่แน่นอนตายตัวเหมือนเดิม

คนเหล่านี้ยังต้องใช้ชีวิตในสังคมที่เขาเห็นว่าเสื่อมโทรมลง เช่นการจราจรติดขัดในเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งทั่วโลก อากาศเป็นพิษ ส่วนใหญ่ของเมืองใหญ่ในโลกที่ไม่สามารถจัดการปัญหาขยะได้ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าตนทำให้เมืองไร้ระเบียบ เช่นขายของตามทางเท้า, จอดรถไม่เป็นที่เป็นทาง, ขับแท็กซี่อย่างไม่ปลอดภัย ฯลฯ

คนชั้นกลางระดับล่าง ยิ่งมีปัญหาในชีวิตมากขึ้น นับตั้งแต่รายได้ไม่พอกับความคาดหวังในชีวิต ทางมาของรายได้อ่อนไหวต่อแรงกระทบจากเรื่องต่างๆ ได้ง่าย (ฝนตกหนักน้ำท่วม ก็ไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระบนทางเท้าไปแล้ว) อนาคตของตนเองและครอบครัวยิ่งขาดความมั่นคงเสียกว่าคนชั้นกลางระดับกลาง

ทั้งคนชั้นกลางระดับล่างและกลาง ต่างต้องการรัฐเหมือนกัน เพราะปัญหาที่เผชิญอยู่จะแก้ได้ก็ด้วยอำนาจขนาดใหญ่อย่างที่รัฐมี คนทั้งสองกลุ่มเรียกร้องการปฏิรูป ทำอะไรก็ได้เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น ยกเว้นอย่าแตะต้องผลประโยชน์ของตนเท่านั้น กีดกันคนอพยพอย่าให้เข้ามาแย่งงานก็พึงทำ แต่ในขณะเดียวกันการเพิ่มรายได้ของแรงงานระดับกลางและระดับสูงควรเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น จะทำได้ก็ต้องกดราคาของแรงงานระดับล่างลงไว้ให้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่การกีดกันแรงงานต่างชาติก็เป็นผลให้จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างแก่แรงงานระดับล่างภายในที่ไม่เพียงพอ

คนจนระดับล่างสุด ย่อมไม่พอใจกับสภาพที่ต้องเผชิญอยู่เป็นธรรมดา เพราะเขาคือผู้รับน้ำหนักของคนข้างบนทั้งหมด

ความอึดอัดขัดข้องในชีวิตของคนหลากหลายชนชั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ไม่ได้ทำให้พวกเขาเรียกร้องต้องการประชาธิปไตย คณาธิปัตย์และคนชั้นกลางระดับบนอาจเรียกร้องเสรีนิยมใหม่ ซึ่งบางคนเรียกอย่างสะใจว่า market fundamentalism (ซึ่งผมขอแปลว่าศาสนาตลาดสุดโต่ง) ซึ่งมีธรรมชาติเป็นอริกับประชาธิปไตยอย่างยิ่ง คนชั้นกลางระดับล่างอาจเรียกร้องประชานิยม ซึ่งโดยตัวของมันเองอาจไม่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่หากทำโดยไม่มีเป้าหมายอื่นมากกว่าคะแนนเสียง ก็หาได้ลดความเหลื่อมล้ำลงแต่อย่างไร เกือบทั้งหมดในทุกชนชั้นอยากได้พระศรีอาริย์ คือขอให้บุคคลผู้มีบารมีมา “โปรด” บางกลุ่มหันไปหาความดีในทางศาสนาเพื่อทดแทนสิทธิเสรีภาพของระบอบประชาธิปไตย บางกลุ่มโหยหาโลกในอุดมคติซึ่งสมมุติกันว่ามีอยู่ในอดีต

รัฐซึ่งทุกชนชั้นเรียกร้องคือรัฐที่มีอำนาจเด็ดขาด ไม่ใช่รัฐที่มีความชอบธรรม แม้สองอย่างนี้อาจไม่ได้ขัดแย้งกันโดยตรง แต่กลับถูกมองว่าความเข้มแข็งเด็ดขาดกับความชอบธรรมไปด้วยกันไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หลายอย่างที่ทรัมป์ประกาศก่อนและหลังเป็นประธานาธิบดี ทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญอเมริกัน หรือทำไม่ได้ง่ายๆ ภายใต้กระบวนการทางการเมืองแบบอเมริกัน แต่ไม่เป็นไร ทรัมป์กำลังนำรัฐที่เข้มแข็งมาแทนที่รัฐที่ชอบธรรม หรือการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาอะไรก็ตาม จะทำได้ผลก็ต่อเมื่อรัฐต้องมีกลไกที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งไทยและฟิลิปปินส์ไม่มี ความเข้มแข็งเด็ดขาดในสองประเทศจึงไม่เคยให้ผลสำเร็จอะไร

(ผมอยากเห็นใครประเมินระหว่าง paternalism กับ despotism ว่าอย่างไหนให้ผลสำเร็จแก่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มากกว่ากัน แม้ไม่ปฏิเสธว่าหากปราศจากเงื่อนไข despotism ของเขา ก็อาจทำให้เขาดำเนินนโยบาย paternalism ไม่สำเร็จ)

ผลของความเหลื่อมล้ำที่เกิดแก่ชนชั้นต่างๆ นั่นแหละคือฐานทางสังคมของเผด็จการ (ในหลายรูปแบบ)

คงมีคำอธิบายได้หลายอย่างเกี่ยวกับปัจจัยภายในประเทศไทยว่า เหตุใด คสช.ซึ่งสถาปนาระบอบเผด็จการขึ้น จึงสามารถครองอำนาจได้ยาวนานเช่นนี้ คงล้วนเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องทั้งสิ้น แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงก็คือปัจจัยที่เป็นสากล ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ประชาธิปไตยจะยังเป็นอุดมคติทางการเมืองของมนุษย์ต่อไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าประชาธิปไตยจะสามารถยุติและบรรเทาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image