เหตุแห่งวิตกจริต โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แฟ้มภาพ)

หลังตั้ง 4 คำถามด้วยความห่วงใยต่อผลการเลือกตั้งตามโรดแมปทำนองว่าจะทำอย่างไรกันหากผลออกมาว่าได้นักการเมืองแบบเดิมๆ กลับเข้ามาจะจัดการอย่างไร

จนเกิดการตีความกันไปใหญ่โตว่า เป็นคำถามที่สะท้อนถึงความคิดของผู้มีอำนาจว่าจะยืดการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิมที่อธิบายกันไว้ว่าจะเกิดขึ้นราวต้นปี 2561

แม้ผู้มีอำนาจจะพยายามอธิบายว่า เป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวอะไรกับโรดแมป

แต่การที่กระทรวงมหาดไทย โดย “ศูนย์ดำรงธรรม” รับลูกเปิดรับความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นการเป็นงาน แม้จะในเงื่อนไขของคำสั่งห้ามชี้นำ ห้ามอธิบายให้ประชาชนตอบคำถามของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง ย่อมเป็นเรื่องชวนให้ติดตามระทึกว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่เสนอมาทั้งหมดที่จะนำส่งสำนักนายกรัฐมนตรีนี้จะนำผลไปทำอะไร

Advertisement

เพียงแค่รู้ไว้โดยไม่มีผลในทางปฏิบัติ หรือใช้เป็นเหตุผลในการปฏิบัติการบางอย่าง

สำหรับผู้ที่รอคอยการเลือกตั้ง อันหมายถึงการคืนอำนาจให้ประชาชน แม้จะไม่ใช่อำนาจที่เต็มที่เหมือนเก่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่มบทบาทของอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนมากขึ้น การใช้ผลจากศูนย์ดำรงธรรมดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่ชวนให้ติดตามอย่างระทึกยิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ในหมู่ของคนที่หวังว่าอำนาจจะคืนสู่ประชาชน แม้ไม่คืนมาเต็มร้อยเหมือนเดิม ยังพากันซุบซิบถึงบางความเคลื่อนไหวที่ชวนให้นึกถึงความผิดปกติ

Advertisement

หลังจากตั้ง 4 คำถามไปความเคลื่อนไหวที่ตามมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญข้าหารือ

หลังการเข้าพบ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าคุยกันเรื่องอะไร

แต่ความหวาดระแวงว่าการเลือกตั้งน่าจะเลื่อนออกไปเกิดเป็นความคิดของกลุ่มคนที่อยู่กับความวิตกจริต

แล้วหลังจากนั้น มีข่าวการจะโละทิ้ง “คณะกรรมการเลือกตั้ง” ทั้งหมด เพื่อเริ่มต้นสรรหาและเลือกตั้งกันใหม่ โดยความเห็นพ้องต้องกันทั้งที่มาจากสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อันหมายถึงว่า “พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จะเป็นอันตกไป และต้องเริ่มต้นร่างกันใหม่ อันหมายถึงเป็นเหตุผลว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เวลาตามโรดแมปเดิมอีกแล้ว

เกิดมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปกติแล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องอภิปรายในเชิงปกป้องกฎหมายที่ตัวเองร่างขึ้น แต่นี่กลับกลายเป็นว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมายกลับเห็นดีเห็นงามที่จะโละทิ้งกฎหมายที่ตัวเองร่างขึ้นมา

อันเป็นความผิดปกติไม่น้อย

ทำให้ความคิดในเรื่องการเลือกตั้งในกลุ่มคนที่วิตกจริตมีเหตุให้กังวลว่าจะเลื่อนยาวอออกไป

ในคนกลุ่มที่ไม่ศรัทธาในประชาธิปไตย เห็นความไม่พร้อมของประชาชนที่จะใช้อำนาจปกครองกันเอง การเลื่อนเลือกตั้งออกไปย่อมไม่ใช่สาระที่จะต้องมาห่วงใยกังวลว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศชาติ

แค่สำหรับกลุ่มคนที่เชื่อว่าหากไม่คืนประชาธิปไตยให้ประชาชนจะกระทบต่ออนาคตของประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ย่อมยิ่งอึดอัดกับวิตกจริต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image