โยนหิน ถาม 4 ข้อ บิ๊กตู่ อยู่ต่อ อะไรก็เกิดขึ้นได้

คําถาม 4 ข้อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีพลังทางการเมืองอย่างยิ่ง

คำถามทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่

และ 4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ผนวกกับคำสั่งที่ให้กระทรวงมหาดไทยประสานศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด ทำหน้าที่รวบรวมคำตอบจากประชาชน

Advertisement

กลายเป็นประเด็นจริงจังที่เกิดขึ้นทางการเมือง

ยิ่งเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับลูก นำเอาเข้าประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

ยิ่งบ่งบอกความสำคัญของคำถามทั้ง 4 ข้อ

Advertisement

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคำถาม 4 ข้อดังกล่าวได้เกิดปฏิกิริยา 2 ทางขึ้นมาทันที

ปฏิกิริยาแรกมาจากกลุ่มการเมืองเป็นส่วนใหญ่ เป็นปฏิกิริยาที่มองว่าคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นคือสัญญาณ

สัญญาณที่จะอยู่ต่อบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น จึงมีฝ่ายการเมืองออกมาคัดค้าน ออกมาท้าให้ลงเลือกตั้ง รวมทั้งออกมาปราม

ปฏิกิริยาต่อมาคือกลุ่มแม่น้ำ 5 สาย และกลุ่มเชียร์ “ลุงตู่” ที่แสดงอาการเห็นชอบหาก พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และกำลังร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขณะนี้

มองว่า “เป็นคำถามที่ถูกต้องอย่างมาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ประชาชนจะตอบ”

และ “การตั้งคำถามที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลจึงเหมาะสมแล้ว เป็นการถามเผื่อว่า หากแก้ไม่ได้จะทำอย่างไร”

“อีกทั้งคำตอบที่ได้ กรธ.หรือ สนช.ก็อาจนำมาใช้ประโยชน์ ในการประกอบการพิจารณาจัดทำกฎหมายลูกได้อีกด้วย”

หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ออกมาตอกย้ำอีกครั้ง

“จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม”

การตั้งคำถาม 4 ข้อดังกล่าว และการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ทำให้มีผู้ระลึกถึงผลงานกระทรวงมหาดไทยในอดีต

คิดถึงกระทรวงมหาดไทยในยุค “ฟ้าเป็นของนก นายกฯเป็นของป๋า”

คำนึงถึงความสามารถของกระทรวงมหาดไทยในการรับข้อมูลและสรุปข้อมูลออกมาเป็นข่าว

กระทั่งเกิดข้อเสนอจากบางคนว่า เปลี่ยนเจ้าภาพรวบรวมและสรุปคำถามดีกว่า

ทั้งนี้ เพราะมีการวิเคราะห์ว่า ผลจากคำสั่งที่ให้กระทรวงมหาดไทยไปรับฟังคำตอบจากประชาชน

สุดท้ายแล้วจะได้คำตอบออกมาในทำนอง “ฟ้าเป็นของนก นายกฯเป็นของป๋า”

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความรู้สึกจากประสบการณ์ที่เคยประสบในครั้งอดีต

คำตอบใหม่ จากประชาชนอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้

และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ปัจจัยอื่นๆ ที่มีหลากหลาย ล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ

ปัจจัยเศรษฐกิจที่ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกไม่ตรงกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งระยะหลังดูเหมือนว่า สหภาพยุโรปมีปัญหาภายใน เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกากำลังตั้งใจติดตามประธานาธิบดีคนใหม่

แต่พอพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับมายืนในจุดยืนเดียวกัน

นั่นคือ ประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่เริ่มเผยให้เห็นร่องรอยความไม่เห็นพ้อง

ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นั้นถือว่าปกติ

แต่ร่องรอยที่เห็นกลับเป็นความขัดแย้งกันภายในของกลุ่มขั้ว พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพวกคนกันเอง

แม้หัวหอก กปปส. อย่างนายสุเทพ จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ แต่สมาชิก กปปส.มีความคิดเห็นเช่นไรเป็นอีกเรื่อง

แม้คนรอบกาย พล.อ.ประยุทธ์จะมองเห็นผลงานของรัฐบาลที่ทำไว้ตลอด 3 ปี ว่ามีมากล้น แต่ประชาชนภาคส่วนต่างๆ คิดเหมือนกันมากน้อยเช่นไร

นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาสังคม ทั้งความปรองดองที่ยังหาทางยุติไม่ได้

ทั้งปัญหาความไม่สงบ ซึ่งยังคงมี บึ้มป่วน อยู่เนืองๆ

เศรษฐกิจ การเมืองการต่างประเทศ และสังคม ภายในประเทศมีความสำคัญต่อการ “อยู่ต่อ”

ดังนั้น คำตอบจากคำถาม 4 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งขึ้นมาจึงยังต้องลุ้น

คำตอบอาจจะออกมาว่า ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แล้วเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ

คำตอบอาจจะออกมาว่า อยากให้เลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ธรรมาภิบาลของรัฐบาลชุดใหม่

แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมาเช่นไร การปฏิบัติตามคำตอบก็ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง

ระมัดระวังต่อปัจจัย เศรษฐกิจ การเมืองการต่างประเทศ และสังคม

เพราะปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อรัฐบาลและผู้บริหารประเทศของไทยมาโดยตลอด

เศรษฐกิจไม่ดีก็เป็นอันตรายต่อรัฐบาล การเมืองการต่างประเทศไม่สนับสนุนก็ยืนอยู่บนโลกลำบาก

และยิ่งสังคมไม่ยอมรับ ยิ่งบริหารประเทศลำบาก

แต่ในจังหวะเวลาที่ทุกกระบวนการยังคงขยับ ยังไม่มีการตัดสินใจถลำตัวไปลึก

พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ก็ยังมีพื้นที่ว่างในการ “ถอย” หรือ “รุก” ได้ตลอดเวลา

การตัดสินใจหลังได้รับคำตอบจาก 4 คำถามนั่นต่างหากที่ต้องเฝ้าจับตามอง

เพราะนั่นคือผลพวงหลังจาก “โยนหิน”

ผลพวงหลังจากโยนหินแล้ว หนทางต่อไปการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ณ ขณะนี้ต้องตอบว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image