Media Watch กลไกกำกับสื่อ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ล่าสุดถึงความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า “ขอดูร่างทั้งหมดก่อน ตั้งแต่ฉบับแรกและฉบับที่มีการปรับปรุงจาก สปท. และยังคงรูปแบบเดิมที่เคยพูดไว้ จะเชิญฝ่ายต่างๆ รวมทั้งตัวแทนภาควิชาชีพสื่อมวลชนมารับฟังความคิดเพื่อพิจารณากันต่อไป”

ด้านคุณสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บอกว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ได้มีการเสนอแนะอะไรเป็นการเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการวิเคราะห์และประมวลความเห็นของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญก็คือความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรสื่อกับภาครัฐถึงสิ่งที่ควรจะเป็น การช่วยกันดูแลในเรื่องของการเสนอข้อมูลข่าวสารไปสู่สังคม เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารค่อนข้างมาก ส่วนอะไรจะเพิ่มหรือลดในตัวกฎหมายนั้น ทางนายวิษณุจะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง

ครับ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายสื่อยังมีเรื่องต้องติดตามต่อ ที่ ดร.วิษณุบอกว่าขอดูร่างทั้งหมดก่อนตั้งแต่ฉบับแรก แต่ไม่ได้อธิบายชัดว่าฉบับแรก ฉบับไหน

เพราะมีถึงสามฉบับ ฉบับที่ 1 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนยกร่าง ตั้งแต่ปี 2555 ล้อตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 46 ชื่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผุู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเน้นหลักการส่งเสริม เป็นหลัก

Advertisement

ฉบับที่ 2 สภาปฏิรูปแห่งชาติ ลงมติรับหลักการ วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 แล้วส่งต่อมาให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ซึ่งสาระสำคัญถูกตัดทอน เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

จนมาถึงฉบับที่ 3 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเสนอเข้าที่ประชุมแล้วยอมถอนหลักการที่บัญญัติให้มีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและบทลงโทษออกไป ก่อนที่ สปท.จะลงมติรับหลักการวาระแรก 141 เสียง ไม่เห็นชอบ 13 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง

เพื่อให้การพิจารณารอบคอบ รอบด้าน ผมเห็นว่าน่าจะลงลึกไปถึงฉบับแรกเสียเลยด้วย

Advertisement

ซึ่งมีแนวทางที่เป็นทางเลือกให้รัฐ ในอันที่จะทำให้สื่อมวลชนดำเนินบทบาทด้วยความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ รับผิดชอบ เกิดสำนึกในจริยธรรมอย่างแท้จริงจากความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช้การบังคับด้วยอำนาจและกฎหมาย

แนวทางส่งเสริมที่ว่าไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้กลไก กระบวนการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบกันเองของสื่อมีความเข้มแข็งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่ควรดำเนินการควบคู่กันไปอย่างเข้มข้นด้วย

นั่นคือส่งเสริมให้ภาคประชาชนผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง มีพลัง มีช่องทางและวิธีการการติดตาม ตรวจสอบ กำกับ ควบคุมและลงโทษสื่อที่มาตรฐานทางวิชาชีพและมาตรฐานทางจริยธรรมต่ำอย่างแข็งขัน

โดยสนับสนุนให้มีกลไกติดตาม (Media Monitor) เฝ้าระวังสื่อ (Media Watch) เพิ่มศักยภาพในการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เป็นกลไกของสังคม (Public Watchdog)

แนวทางที่ว่า เป็นการดำเนินมาตรการทางสังคมเพื่อกำกับสื่อ และทำให้ผู้รับสารมีความตื่นตัว เสพสื่ออย่างมีสติ และมีคุณภาพ ทำให้สื่อทุกแขนงไม่ว่าสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อกระดาษ สื่อกระจก ใช้คลื่น ไม่ใช้คลื่น สื่อพลเมืองทั้งหลายต้องระมัดระวัง รับผิดชอบ และพัฒนา ภายใต้หลักการที่ว่าสื่อต้องถูกตรวจสอบจากสังคมไปพร้อมกับการตรวจสอบผุู้อื่นเช่นกัน

สื่อต้องการตรวจสอบกันเองเพื่อป้องกันการแทรกแซง คุกคาม จากภาครัฐ เพราะจะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่การที่สื่อตรวจสอบกันเองก็ถูกมองว่ามีประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกัน เพราะมีโอกาสทำให้เกิดการลูบหน้าปะจมูก ฮั้วซึ่งกันและกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ยอมตอมกันเอง

ประเด็นนี้ เป็นเรื่องของความเชื่อที่แตกต่างกัน ระหว่างตรวจจากภายในกับการตรวจสอบจากภายนอก จากผู้ที่ไม่มีผลประโยขน์ทับซ้อน ทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพ ไม่ลำเอียง

ด้วยเหตุนี้เองการสร้างกลไกทางสังคมกำกับ ควบคุม ตรวจสอบสื่อ จะเป็นทางออกเพื่อถ่วงดุล และตรวจสอบกระบวนการตรวจสอบกันเองของสื่ออีกระดับหนึ่ง

กลไก หรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อนี้ มีปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในหมวด 4 มาตรา 33 คณะกรรมการเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อของประชาชนและการรู้เท่าทันสื่อ

องค์ประกอบ ที่มา คุณสมบัติ ภาระหน้าที่ ทำอะไร อย่างไร ค่อยว่ากันต่อไป

เสียดาย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปมองข้ามกลไก กระบวนการตรงนี้ไป จึงไม่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับที่เป็นเผือกร้อนในมือรัฐบาลเวลานี้

การทำให้สื่อต้องระมัดระวังการทำหน้าที่ ขณะเดียวกันทำให้ประชาชนผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวเข้มแข็ง มีพลังต่างหากถึงจะเรียกได้ว่าปฏิรูป ไม่ใช่ย้อนยุค กดหัว ขัดขวาง จับสื่อตีตรวนด้วยใบอนุญาต ซึ่งไม่มีประเทศเสรีที่ไหนทำกัน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image