การประปามหานคร : โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

การบริหารการประปาในประเทศไทยนั้น ถูกแบ่งออกเป็น การประปาภูมิภาคและการประปานครหลวง ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยการประปานครหลวงครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ หากไม่นับรวมปทุมธานี ซึ่งก็อยู่ติดกรุงเทพฯ จนแทบจะแยกไม่ออกอยู่แล้ว

ในอดีต การแบ่งพื้นที่บริการตามเขตภูมิศาสตร์สามารถเข้าใจได้ เพราะความหนาแน่นของชุมชนแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเมืองหลวงและเมืองบริวาร กับภูมิภาคต่างจังหวัดซึ่งอยู่ไกลปืนเที่ยงที่ส่งเสียงดังอยู่กลางเมืองหลวงแต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปได้มีการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างมากในหัวเมืองต่างๆ ล่าสุด จังหวัดนครราชสีมาก็มีการวางผังเมืองที่เตรียมพร้อมจะเป็น “โคราชมหานคร” กันแล้ว นี่ยังไม่นับเมืองที่มีศักยภาพพร้อมที่จะทะยานขึ้นเป็นเมืองชุมชนขนาดใหญ่อย่าง “ขอนแก่น (มหานคร)” “เชียงใหม่ (มหานคร)” “หาดใหญ่ (มหานคร)” หรือ “ภูเก็ต (มหานคร)” ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการการบริหารงานประปาที่มีสมรรถนะ (Competencies) อันเหมาะสมกับเมืองขนาดใหญ่ทั้งสิ้น แบบเดียวกับที่ “การประปานครหลวง” มีอยู่ในวันนี้ ซึ่งก็ได้สั่งสมประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำบริโภคอุปโภคสำหรับชุมชนขนาดใหญ่มาเป็นเวลานานแล้ว

การบริหารจัดการงานประปาของประเทศไทย จึงอาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์และโครงสร้างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิงนี้ กล่าวคือ เมืองใหญ่ที่กำลังจะเกิดตามมาเหล่านั้น อาจต้องการสมรรถนะ

ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับ “นครใหญ่” ซึ่งแตกต่างไปจากระบบและวิธีการที่การประปาภูมิภาคมีอยู่ในปัจจุบัน เจ้าภาพที่จะมาดูแล “มหานคร” เกิดใหม่เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความรอบรู้อันเหมาะสม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในช่วงที่กำลังปฏิรูปอยู่นี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศ
ในองค์รวม หน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ระดับสูงจะพิจารณาปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในด้านนี้เสียใหม่ โดยอาจแบ่งการดูแลภารกิจสำคัญนี้ออกเป็น “การประปานครใหญ่” หรืออาจเรียกว่า “การประปามหานคร” ก็ได้ โดยมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเขตเมืองที่เป็นมหานครอย่างกรุงเทพฯ & ปริมณฑล และว่าที่มหานครที่กำลังจะมีตามมาทั้งหลายนั้น โดยสลัดหลุดออกจากกรอบทางภูมิศาสตร์เสีย ขณะเดียวกันเมืองที่มีประชากรมาตรฐานไม่มากเกินไป ก็ให้อยู่ในความดูแลของ “การประปาเมืองมาตรฐาน” ซึ่งต้องการสมรรถนะหรือขีดความสามารถในการบริหารจัดการอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ชุมชนในชนบท ซึ่งปัจจุบันการบริการด้านนี้อยู่ในความดูแลของ อบต.ก็อาจปรับปรุงให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “การประปาชนบท” ซึ่งอาจต้องมีความรู้และการจัดการที่เน้นการบริการชุมชนในชนบทด้วยประสิทธิภาพและต้นทุนที่แตกต่าง
ออกไปอีกเช่นกัน

Advertisement

แนวคิดที่คล้ายกันนี้ อาจนำไปประยุกต์กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ได้อีก เช่น การไฟฟ้า ซึ่งก็มีทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค อันถูกแบ่งไว้แต่ในอดีตตามเขตภูมิศาสตร์มากกว่าความยากง่ายหรือความสลับซับซ้อนของการให้บริการ ซึ่งต้องการขีดความสามารถในการบริหารจัดการที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไปอีกเช่นกัน

ในช่วงปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนี้ ถ้าข้อคิดข้างต้นจะไปจุดประกายให้กับ Leadership Team ของประเทศ ผู้เขียนก็จะยินดีมากครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image