กระจายอำนาจ เมื่อไหร่ฝันเป็นจริง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ค่ำวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงที่ว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนของประเทศ ได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา 6 เรื่องหลักที่ต้องการให้เร่งดำเนินการในช่วงเวลา 1 ปี 6 เดือน

ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2.การผลิตและพัฒนาครู 3.การทดสอบการประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4.การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ 5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา 6.การบริหารจัดการทั้งการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ และการกระจายอำนาจ

ตรงกับสิ่งที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศย้ำหลายครั้งจะเดินหน้าทั้ง 6 เรื่องนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2558

ครับ โดยทิศทางภาพรวมแล้วเห็นด้วย แต่ที่ยังติดใจ ไม่แน่ใจก็ตรงประเด็นการบริหารจัดการ โดยเฉพาะที่พูดถึงการกระจายอำนาจ

Advertisement

เพราะก่อนหน้านี้เริ่มมีการเคลื่อนตัวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการใหม่ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียกำลังรอดูอย่างใจจดใจจ่อว่าผลจะออกมาอย่างไร

มีการพูดถึงแนวทางความคิดการบริหารแบบที่เรียกว่า ซิงเกิลคอมมานด์ เพื่อแก้ปัญหาต่างแท่ง ต่างทำ ไม่ประสานกันเท่าที่ควร จึงควรรวมศูนย์มาที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเหมือนเช่นในอดีต

ตรงแนวทางซิงเกิลคอมมานด์นี่แหละครับ เกรงว่าจะขัดแย้ง สวนทางกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีทิ้งทายไว้ในเรื่องการบริหารจัดการ คือ การกระจายอำนาจ

Advertisement

ในเมื่อหลักของซิงเกิลคอมมานด์ก็คือการรวมศูนย์อำนาจแบบแนวดิ่ง หรือถ้าจะบอกว่ารวมศูนย์เพื่อให้เกิดเอกภาพก่อนแล้วค่อยกระจายภายหลัง ในการออกแบบโครงสร้างใหม่ ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน จะกระจายตรงไหน กระจายอย่างไร ด้วยวิธีการใด

ความเป็นจริง เรื่องการกระจายอำนาจบริหารการศึกษา เป็นประเด็นที่เรียกร้องกันมายาวนาน ให้ส่วนบน ส่วนหัว ส่วนกลาง กระจายลงไปยังเขตพื้นที่ จนถึงระดับสถานศึกษา ให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัวในการบริหารจัดการทั้ง 4 ด้าน คือ วิชาการ งบประมาณ บริหารงานบุคคล และบริหารทั่วไป

มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการการศึกษา ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนบน ส่วนกลาง ยังรวมศูนย์อำนาจไว้เช่นเดิม เพราะกฎกระทรวงไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีบทกำหนดโทษ ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

แม้กระทั่งสมัยที่แล้ว มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการวางแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานอนุกรรมการ มีโครงการนำร่องเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง ของเขตพื้นที่การศึกษา ของสถานศึกษา ของผู้บริหาร และครู

ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ขาดความต่อเนื่อง ยั่งยืน เพราะผู้กำหนดนโยบายผู้บริหารการศึกษาแต่ละยุคเห็นแตกต่างกัน

ในที่สุด ผู้บริหารสูงสุดก็ต้องกลับมาพูดถึงหลักการเดิม เหมือนหลายคนที่ผ่านมา กระจายอำนาจ …กระจายอำนาจ กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ครั้งแล้วครั้งเล่า อีกเช่นเคย

ประเด็นในการปฏิรูปเที่ยวนี้จึงมีว่า รูปธรรมในทางปฏิบัติคืออะไร ทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ใครทำ

ที่สำคัญเพื่อรับประกันความศักดิ์สิทธิ์ว่านโยบายและการปฏิบัติต้องเกิดขึ้นจริง ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาที่ยกร่างไว้ต้องเขียน วลี “กระจายอำนาจ” นี้ไว้ให้ชัด รวมทั้งในกฎหมายลูกฉบับที่เกี่ยวข้องต้องใส่ไว้อีก เพราะการกระจายอำนาจเป็นคานงัดที่สำคัญยิ่งของการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้นธารของการบริหาร และการจัดการเชิงพื้นที่ ที่กำลังเป็นแนวทางการบริหารยอดฮิตในปัจจุบัน บริหารแบบมีส่วนร่วม

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ส่งต่อให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุไว้ชัดเจนถึงการศึกษาเชิงพื้นที่นำร่อง 2 ปีแรก พ.ศ.2560 หลังจากนั้นภายใน 7 ปี พ.ศ.2565 กระจายอำนาจและทรัพยากรลงสู่ฐานกลไกจังหวัด มีกรรมการการศึกษาจังหวัดและสมัชชาการศึกษาจังหวัดเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ฉะนั้น ถ้าการกระจายอำนาจตามที่นายกรัฐมนตรีพูดไม่เป็นจริง การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ก็ไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image