ความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์ กับความอยู่ดีมีสุขของผู้กู้และผู้ออม โดย : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้มีหนี้สินอาจมีภาระเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากการกู้ยืมนอกระบบและสหกรณ์เพราะเป็นแหล่งของการยืมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในส่วนผู้ที่มีเงินออมก็พยายามหาแหล่งเงินออมที่ให้รายได้เพิ่มขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญของทั้งผู้ออมและผู้กู้ แต่กรณีการฉ้อฉลในสหกรณ์เครดิต
ยูเนี่ยนคลองจั่นสร้างความสั่นสะเทือนและความกังวลแก่ผู้ฝากเงินกันไปทั้งวงการ

สหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ของการแก้ไขปัญหาการเงินโดยการเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มเดียวกันโดยไม่แสวงหากำไรจนเกินควร ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2459 ปัจจุบันสหกรณ์ทุกประเภทอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์มีประมาณ 1,448 แห่งทั่วประเทศ มีสมาชิกกว่า 3 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์ในปี พ.ศ.2558 ถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสหกรณ์ประเภทอื่นมาก เช่น สหกรณ์การเกษตรมี 4,337 แห่งทั่วประเทศมีสินทรัพย์เพียง 2 แสนล้านบาท หรือแค่ 1 ใน 10 ของสหกรณ์ออมทรัพย์

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคัดมาจากผลงานวิจัยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ทุนอุดหนุนมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ โดยมี ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างเจาะลึก 30 แห่ง ซึ่งนับว่าทันต่อเหตุการณ์ ข้อค้นพบของ ดร.รุ่งเกียรติที่สำคัญก็คือ

(1) สหกรณ์ออมทรัพย์มีแนวโน้มความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit ratio) สูงขึ้นจากร้อยละ 99 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 116 ในปี 2558 ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ อัตราการเพิ่มของยอดสินเชื่อยังสูงกว่าอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและตำรวจ (ดูรูปที่ 1)

Advertisement
รูปที่ 1 อัตราสินเชื่อต่อเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทต่างๆ

นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ยังกู้ยืมระหว่างกันสูงมาก เพิ่มจาก 40,000 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 94,000 ล้านบาท ในปี 2559 ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเชิงโครงสร้างทั้งระบบ (Systemic risk)

(2) สหกรณ์ออมทรัพย์มีการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่ำมากคือ 0.4% ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6.5% ยกตัวอย่างเช่น 700 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และ 5,000 ล้านบาท ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และเกณฑ์การตั้งค่าดังกล่าวหละหลวมไม่สามารถทยอยรับรู้และแจ้งเตือนล่วงหน้า ในกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกิดหนี้เสียจากผู้กู้เพียง 28 ราย แต่เป็นจำนวนเงินถึง 12,973 ล้านบาท และให้เงินยืมทดรองจ่ายแก่อดีตประธานอีก 3,298 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าหนี้ที่เสียหาย 16,000 ล้านบาท

(3) การศึกษาประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต แต่มีส่วนน้อยที่มีประสิทธิภาพในการสร้างกำไรต่อความเสี่ยง นอกจากนี้
ยังพบว่าประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตจะลดลงเมื่อสหกรณ์มีขนาดใหญ่ขึ้น กล่าวคือสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะมีอัตราการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่มักจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยอาจมีสวัสดิการ และค่าตอบแทนแก่สมาชิกและกรรมการที่มีความครอบคลุมในหลายด้านมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากประสิทธิภาพของกระบวนการสร้างกำไรต่อความเสี่ยงที่สหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ มีอัตราการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างกำไรที่สูงกว่าเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความสามารถของสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนที่หลากหลาย และมีการกระจายของแหล่งรายได้ที่มากกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดเล็กที่มักพึ่งพิงรายได้จากการปล่อยกู้แก่สมาชิกเพียงอย่างเดียว

Advertisement

นอกจากนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่อาจมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ จึงทำให้สามารถกำหนดต้นทุนและรายได้ด้านดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมจนมีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อความเสี่ยงที่แบกรับ

ผู้วิจัยเสนอว่า มีความจำเป็นที่สหกรณ์ออมทรัพย์ต้องมีเครื่องมือเพิ่มเติมในการกำกับความเสี่ยงโดยใช้ Network DEA และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็ควรมีการเปรียบเทียบกันในกลุ่มเดียวกัน (Benchmarking) ก็จะทำให้เกิดความตระหนัก
ถึงความเสี่ยงและแสวงหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า

สำหรับผู้เขียนแล้ว ปัญหาที่รุมเร้าสถาบันการเงินประเภทออมทรัพย์ไม่เพียงต้องการเทคนิคการประเมินความเสี่ยงใหม่เท่านั้น อาจจะต้องปฏิรูปกลไกและกระบวนการกำกับทั้งหมด ในขณะนี้ได้มีการร่าง พ.ร.บ.ใหม่เพื่อให้มีการกำกับสหกรณ์ ที่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน แต่ก็ยังต้องตอบคำถามว่า เมื่อสหกรณ์ออมทรัพย์ใหญ่ขนาดนี้ และยังมีลูกค้าที่ไม่อยู่ในภาคเกษตรยังจะต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับอีกหรือ?

ยังไงๆ ก็รีบแก้ไขกันเสียก่อนที่จะปะทุกลายเป็นภูเขาไฟระเบิดจนผู้ออมที่ไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยจะจิตตกกันถ้วนหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image