ถึงฤดู สั่งลา แม่น้ำ แยกสาย อำนาจ แตกคอ

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้

สิ่งที่ติดตามมาก็คือการจัดการเลือกตั้งทั่วไป

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปโดยบทบัญญัติตามกฎหมาย หรือด้วยเจตนารมณ์ทั้งเปิดเผยและแอบแฝงทางการเมืองใดๆ ก็ตามที

สิ่งที่ตามมาก็คือการ “จัดกระบวน” ทั้งเพื่อรองรับการเลือกตั้ง และสถานการณ์ที่จะตามมาภายหลัง

Advertisement

ซึ่งโดยธรรมชาติของการ “จัดระเบียบ” ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด

ย่อมมี “ผู้ไม่ถูกใจ” มากกว่า “ผู้ถูกใจ”

และมีผู้ “ออกอาการ” ไม่มากก็น้อย

Advertisement

ดังเช่นกรณีหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ในการจัดระเบียบก่อนการเลือกตั้ง

อันได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

9มิถุนายน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีกำหนดการลงมติ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.

ประเด็นของการลงมติครั้งนี้ อยู่ตรงมาตรา 70

ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวของ สนช.แก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ แตกต่างไปจากบทบัญญัติเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอเข้ามา

จากเดิมที่จะให้ กกต.ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการพลิกกลับให้เป็นการ “เซตซีโร่” หรือล้างไพ่ตัวบุคคลทั้งหมด

ด้วยการระบุชัดเจนว่า

“ให้ประธาน กกต. และกรรมการ กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

จนกว่าประธาน กกต.และกรรมการ กกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”

เล่นแรงขนาดนี้ ย่อมมีแรงกระเพื่อมตามมา

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาและข้อสงสัย อาทิ

ประการแรก จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนช้าออกไปอีกหรือไม่

เพราะติดเงื่อนเวลาของการสรรหาตัวบุคคลที่จะเป็น กกต.ชุดใหม่ ซึ่งโดย “มาตรฐานใหม่” แล้วไม่ง่ายเลย

อันทำให้เกิดคำถามต่อมาด้วยว่า เจตนาที่แท้จริงของการ “เซตซีโร่” กกต.นั้น หวังไกลไปถึงการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจในปัจจุบันหรือไม่

เป็นคำถามร้อนอาสน์ ถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งอยู่ระหว่างงดการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

ต้องเขียน “จดหมายน้อย” ออกมาให้ พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแทนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ว่า

“ไม่ทราบว่ามองในแง่ คสช.สืบทอดอำนาจได้อย่างไร

กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ประชาชนมาใช้สิทธิจะไปแก้ไขคะแนนเสียงได้อย่างไร

กกต.หรือใครก็ตามไม่สามารถทำให้ใครมีการสืบทอดอำนาจได้”

คำตอบเช่นนี้จะคลายสงสัยได้หรือไม่

ให้ดูสถานการณ์ต่อไป

ข้อสงสัยประการต่อมาก็คือ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ กกต.จะเกิดขึ้นกับองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยหรือไม่

และที่พ่วงมาด้วยก็คือ แนวคิดของแม่น้ำ 5 สาย ว่าด้วยการ “เซตซีโร่” หรือจัดโครงสร้างใหม่เพื่อรองรับการเลือกตั้งและสภาพการเมืองหลังจากนั้น

ยังสอดคล้องต้องตรงกันอยู่หรือไม่

พิจารณาจากท่าทีของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ที่เคยระบุว่า

“บางองค์กรอาจเซตซีโร่ บางองค์กรอาจไม่เซตซีโร่ ขึ้นอยู่กับเหตุผล

อย่าง กกต.ต้องการเพียงแค่ให้มีคณะกรรมการสรรหาหนึ่งคณะเข้ามาดำเนินการชี้ขาด ว่าจะมี กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บ้าง

ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่ได้มีปัญหาอะไร อำนาจหน้าที่เหมือนเดิม

หรือ กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) อาจจะมีเหตุเพราะที่มามีปัญหาอยู่

อาจต้องดูว่าต้องทำอย่างไร”

ในขณะที่เสียงจาก สนช.นั้นชัดเจนว่า

องค์กรที่จะต้องมีการเซตซีโร่ ก็คือ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดินฯ

ขณะที่ กสม.ยังอยู่ต่อไป

และไม่แตะต้องใดๆ ทั้งสิ้นกับอีกสององค์กร

ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image