ต่อสู้ 2 แนวทาง เลือกตั้ง กับ ไม่เลือกตั้ง เส้นทาง 2 แพร่ง

ภายใน “คสช.” ภายในกลุ่มการเมืองมีปัจจัยที่แวดล้อมอยู่ 2 ปัจจัยที่ทั้งร่วมและต่อสู้กันดำรงอยู่ นับวัน 2 ปัจจัยนี้จะเผยแสดงออกมาเป็นลำดับ

ปัจจัย 1 เห็นว่ามีความจำเป็นต้องร่วมมือกัน

คสช.เห็นว่าหากไม่ร่วมกับกลุ่มการเมืองก็ไม่มีโอกาสสานต่ออำนาจ กลุ่มการเมืองเห็นว่าหากไม่ร่วมกับ คสช.ก็ไม่มีโอกาสเบียดแทรกเข้าไปมีอำนาจ

ปัจจัย 1 เห็นต่างกันในกรณีของ “การเลือกตั้ง”

Advertisement

เด่นชัดว่า มีแนวโน้มที่ไม่ต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” กับ มีแนวโน้มที่ต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” ดำรงอยู่ ที่ไม่ต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” เพราะประเมินว่าจะนำไปสู่สภาวะอันไม่แน่นอน

ที่ต้องการให้มี “การเลือกตั้ง” เพราะประเมินว่า กระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

จะสร้างความชอบธรรมให้กับการสานต่ออำนาจต่อไป

Advertisement

ประเด็น “การเลือกตั้ง” จึงมากด้วยความแหลมคม

หากมองผ่านองค์ประกอบภายในของพรรคประชาธิปัตย์ หากมองผ่านองค์ประกอบของพรรคภูมิใจไทยซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรที่จะร่วมมือกับ คสช.ได้

ด้านหลักของ 2 พรรคการเมืองนี้ต้องการ “การเลือกตั้ง”

พวกเขาวางน้ำหนักให้กับอำนาจของ คสช.ที่จะจัดระบบ 250 ส.ว. และเมื่อมาผนวกรวมกับ ส.ส.ที่อยู่ในมือของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ก็อาจจะมีความหนักแน่นมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะหากพรรคประชาธิปัตย์ได้มากกว่า 100 ขึ้น

โดยเฉพาะหาก คสช.สามารถทะลวงเข้าไปแบ่งแยกและก่อให้เกิดการแยกตัวภายในพรรคเพื่อไทยได้ อันเท่ากับสร้างความอ่อนแอให้กับพรรคเพื่อไทย

ยิ่งกว่านั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย สามารถเพิ่มปริมาณ ส.ส.ในมือของตนได้มากกว่า 150 คน ไม่เพียงแต่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลที่มี คสช.เป็นแกนหลัก หากยังเท่ากับเป็นการเสริมอำนาจต่อรองให้กับฝ่ายของตนเมื่อร่วมรัฐบาล

ส่วนนี้จึงต้องการเห็น “การเลือกตั้ง” เพราะหวังจะอาศัยพลังจากกระบวนการเลือกตั้งไปเป็น “อำนาจ” 1 ในทางการเมือง

กระนั้น ภายในกลุ่มการเมืองก็ยังมีบางฝ่ายที่ไม่มีความมั่นใจอย่างเพียงพอว่ากระบวนการเลือกตั้งจะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรได้ บางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ประเมินอย่างนี้

บางส่วนใน กปปส.ซึ่งเป็นพันธมิตรทั้ง คสช.และพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่าโอกาสจะโค่นพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งเป็นไปได้ยาก

จึงไม่อยากให้มี “การเลือกตั้ง”

เพราะหากว่าเมื่อผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” โดยที่พรรคเพื่อไทยกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคเพื่อไทย และทำให้การตัดสินใจของพรรคขนาดเล็กดำเนินไปด้วยความลำบาก

เนื่องจากฤทธิ์เดชของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร ย่อมสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล คสช.อย่างแน่นอน

แผนของฝ่ายนี้ก็คือ อยากให้ คสช.ตีหน้ามึนเลื่อน “โรดแมป” ไปเรื่อยๆ โดยตั้งความหวังว่ากระบวนการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจของทีม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะค่อยๆ คลี่คลายปัญหา

หากมีผลงานด้าน “เศรษฐกิจ” นั่นเท่ากับเป็นหลักประกันว่าอยู่ยาวได้

กระบวนการทางความคิดในเรื่องต้องการ “การเลือกตั้ง” และไม่ต้องการ “การเลือกตั้ง” จึงดำเนินไปและมากด้วยความแหลมคม

ขณะที่ความโน้มเอียงของ คสช.คือ ไม่ต้องการ “การเลือกตั้ง”

เพียงแต่ยังไม่แน่ใจอย่างเพียงพอว่า ทีมเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะสามารถสร้างผลงานได้มากน้อยเพียงใดในเวลาต่อจากนี้

อนาคตจึงต้องฝากไว้กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image