คอลัมน์ นพ.วิชัย เทียนถาวร : คนละไม้คนละมือ

 

“อริสโตเติล” นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ” (Human is by nature a social animal.) เป็นความจริงที่ว่า…มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ นับตั้งแต่เป็นทารก เราจำเป็นต้องมีคนดูแล และการอยู่ร่วมกันก็เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีสวัสดิภาพ

ที่สำคัญการรวมกลุ่มกันทำให้เกิดพลังทวีคูณ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทำให้เราได้ประจักษ์ว่า มนุษย์สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างองค์กร สร้างความรู้ และแนวทางปฏิบัติการร่วมกัน สร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่อันน่าอัศจรรย์ต่างๆ ซึ่งคนคนเดียวไม่สามารถทำได้ เป็นความจริงที่ว่า “ช้าง” แข็งแรงกว่ามนุษย์ ช้างตัวใหญ่กว่ามนุษย์ แต่มนุษย์กลับเอาช้างมาใช้งานลากซุงได้ แม้คนแข็งแรงน้อยกว่า นั่นเพราะว่ามนุษย์อยู่รวมกัน ผนึกกำลังทางความคิดและทางแรงงานช่วยเหลือกัน หรือแม้ “ม้า” แม้วิ่งเร็วกว่ามนุษย์ และตลอดประวัติศาสตร์ไม่มีมนุษย์คนใดวิ่งได้เร็วเท่าม้า แต่ความจริงคือ มนุษย์สามารถควบคุมม้า ขี่ม้าได้ เอามาใช้งานได้ เพราะมนุษย์ไม่เพียงมีสติปัญญาเหนือกว่า แต่การที่คนเราอยู่รวมกันเป็นหมู่ พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันทำสิ่งใหญ่ๆ ที่คนคนเดียวไม่สามารถทำได้ให้เกิดขึ้นได้เสมออย่างกรณี กำแพงเมืองจีน พีระมิด ทัชมาฮาล เป็นต้น

การอยู่รวมกันเป็น “กลุ่ม” จึงทำให้มนุษย์ต้องเข้าเป็นสมาชิกใน… “สังกัด” ใดสังกัดหนึ่ง หรือหลายสังกัด เช่น นักมวย จะเป็นมวยที่ชกต่อยได้ดีต้องมีครู และนักมวยต้องไปแสดงความจำนงเข้าอยู่ใน “ค่าย” หรือ “โรงเรียน” หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องมี “สังกัด” อาจจะมีสังกัดเดียว หรือหลายสังกัดก็ได้ สังกัดในที่นี้หมายถึง ขึ้นอยู่ ร่วมอยู่ ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

Advertisement

คนคนหนึ่งมีตัวยึดโยงมากมายที่ทำให้ต้องมีสังกัด ไม่ว่าหน่วยเล็กที่สุดคือ ครอบครัว เพศ สถานภาพ ภาษา เชื้อชาติ อาชีพ หรือมีความสนใจ ฯลฯ เราแต่ละคนต่างมีสังกัดมากมายที่เป็นสมาชิกในสังกัดอยู่ ทั้งสังกัดตามธรรมชาติ หรือสังกัดที่เราเลือกเข้าร่วม สังกัดที่เป็นทางการ และสังกัดที่ไม่เป็นทางการ ว่าไปแล้วเริ่มตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว เราก็อยู่ในสังกัดครอบครัว มีนามสกุลที่ระบุว่าเราเป็นสมาชิกชัดเจน สังกัดสถานศึกษา สังกัดกลุ่มเพื่อน สถาบันต่างๆ ที่เราศึกษา สังกัดองค์กรวิชาชีพ สังกัดกลุ่มเครือข่าย สังคมออนไลน์ ตลอดจนสังกัดพรรคการเมือง สังกัดชมรม สังกัดสมาคม มูลนิธิกลุ่มต่างๆ ที่เราสนใจและเห็นคุณค่า

โดยมากคนจำนวนมากจะเข้ากลุ่มต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก ขณะเดียวกันในทางตรงข้าม คนจำนวนไม่น้อยเลยนอกจากอยู่สังกัดตามธรรมชาติแล้ว จะไม่เข้าร่วมสังกัดอื่นๆ เลย เพราะไม่เห็นคุณค่า ไม่สนใจ หรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการส่วนตัว เป็นต้น เมื่อไม่เข้าร่วมสังกัดย่อมไม่เกิดพลังกลุ่มในการขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ร่วมกัน…หากเราต้องการมีส่วนร่วมช่วยสังคมไทยให้เจริญมากขึ้น เราจำเป็นต้องเข้าร่วมสังกัด

คําถาม คนที่เจริญแล้ว ควรเข้าร่วมสังกัดอะไร? และเข้าร่วมอย่างไร?

Advertisement

คนที่เจริญแล้วควรจะเป็นคนที่มี “จุดยืน” และมี “อุดมการณ์” ในการดำเนินชีวิตบนฐานปรัชญาความเชื่อศรัทธาที่เจริญ โดยตระหนักว่า ชีวิตมีคุณค่าสูงสุด จึงต้องการใช้ชีวิต ใช้ทุกสิ่งที่มีอยู่ในตัวอย่างมีคุณค่า อย่างมีความหมาย ร่วมกับผู้อื่นที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “สังคมแห่งความรู้” สู่ “สังคมแห่งปัญญา” และสังคมแห่งความดี ความเจริญได้ในที่สุด

เราควรเข้าร่วมอย่างไร? เมื่อตกลงปลงใจเขาร่วมสังกัดสังคมใดแล้ว แปลว่าองค์กรนั้นสอดคล้องกับจุดยืนและอุดมการณ์ของเราที่มีอยู่ หลักสำคัญคือ เราต้องเข้าร่วม แล้วควรต้องทุ่มเทให้ “เต็มที่” และ “เต็มใจ” เราจึงควรให้เวลา ความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรส่วนใหญ่ทุ่มเทให้กับสังกัดที่ยึดโยงอุดมการณ์นี้ มิใช่ใช้เวลาหมดไปกับการทำงาน เลี้ยงชีพอย่างไร้สติ เพราะเพื่อองค์กรนั้นให้เงินเดือนเราสูง จ่ายค่าล่วงเวลาสูง โดยแบ่งเพียง “เศษเวลา” ที่เหลือมาเข้าร่วมกิจกรรมแกนๆ โดยไม่ได้ทุ่มแรงกายแรงใจกับสังกัดสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง ฉะนั้นเมื่อตัดสินใจเข้าร่วมแล้วต้อง “เต็มที่” และเต็มใจ ด้วยการเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญกับสังกัดอย่างน้อย 6 อย่าง คือ 1.ความผูกพันในฐานะสมาชิก (Sense of affiliation) 2.ความต้องการพบปะกัน (Sense of association) 3.ความต้องการเอาตัวเข้าร่วมกับสังกัด (Sense of amalgamation) 4.ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน (Sense of accountability) 5.ความรู้สึกเป็นเจ้าของสังกัด (Sense of belonging) 6.ความต้องการแสดงตัวร่วมสังกัด (Sense of identification)

เราทุกคนตระหนักว่าการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมให้เจริญ คนคนเดียว หรือเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่สามารถทำได้ จำเป็นต้อง “ร่วมพลังกัน” ต้องมีส่วนร่วมในสังกัดด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนงานขององค์กรไปให้ถึงเป้าหมายได้ในที่สุด

จาก “สังกัด” ในการทำงานต่างๆ จะบรรลุหรือสำเร็จได้ คงต้องมีการทำงานแบบเชื่อมโยง (network) แบบที่เรียกว่า “เครือข่าย” เช่น เครือข่ายองค์การโทรทัศน์ เครือข่ายองค์การธุรกิจ เครือข่ายสังคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป เครือข่ายสุขภาพ (Network for Health) เป็นต้น เครือข่ายมีความสำคัญและมีส่วนร่วมให้ประสบความสำเร็จมากกว่าทำเพียงคนเดียว ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่อยากจะทำอะไรให้ได้ความสำเร็จมากๆ ต้องหาแนวร่วมหาเครือข่าย เพื่อขยายเชื่อมโยง เสริมกันให้เกิดพลัง ทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มสถาบัน องค์กร หรือแม้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ข้อสำคัญเครือข่ายที่ร่วมมือกันนั้นต้องมี “ฐานปรัชญา” ที่มีค่านิยมดำเนินการร่วมกัน เพื่อเป้าหมายที่กลุ่มยอมรับ การมุ่งทำสิ่งที่ดี สิ่งที่งาม สิ่งที่จริง 3 ส่วนนี้เป็นสำคัญ

ทำสิ่งที่ดี : กล่าวคือ ดีแท้ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมจึงยินดีร่วมมือกันใช้ศักยภาพของแต่ละเครือข่ายมาประสานกัน

ทำสิ่งที่งาม : กล่าวคือ งามแท้ มีความสามัคคี เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบ สนับสนุนช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ หวังให้ทุกเครือข่ายบรรลุผลตามเป้าหมาย

ทำสิ่งที่จริง : กล่าวคือ จริงแท้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าสิ่งที่ทำเกิดผลจริง เป็นรูปธรรม ถูกต้อง สมเหตุสมผล ยอมรับและเคารพกติกา ด้วยความมี “วินัย” สำคัญที่สุด ทุกเครือข่ายจึงเต็มใจผลักดันเต็มที่เพื่อสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ดี

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การอยู่ร่วมกันของกลุ่ม “เครือข่าย” ย่อมยึดหลักปรัชญาทางสังคม 3 ประการ คือ 1.เสรีภาพที่พึงประสงค์ : กล่าวคือ คนในเครือข่ายต้องมาจากการยินยอมพร้อมใจ สมัครใจ ไม่ฝืนใจ หรือถูกบังคับ 2.เสมอภาคที่พึงประสงค์ : กล่าวคือ คนในทุกเครือข่ายเห็นคุณค่า และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกัน 3.ภราดรภาพที่พึงประสงค์ : กล่าวคือ ร่วมมือ ร่วมใจ ยึดมั่นในเอกภาพแห่งจุดร่วมเป้าหมายเดียวกัน แบบพี่ๆ น้องๆ ใจกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลาย พร้อมปรับตัวเข้าหากันเพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน

สิ่งหนึ่งที่ยังมีความสำคัญต่อเนื่องคือ ต้องมีนักแสดงหาแนวร่วม เพื่อให้กลุ่มคนที่เห็นพ้องกันในเรื่องเจาะจงเดียวกัน และให้การสนับสนุนแก่พวกที่เห็นและมีความคิดเห็นในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่างร่วมกัน อาทิ แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่น แนวร่วมศาสตร์พระราชา เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเข้าร่วมเป็นแกนนำทางความคิด ต้องหาแนวร่วม สร้างแนวร่วม ขยายแนวร่วมในการทำความดี ความงาม เพื่อประเทศชาติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดพลังทางสังคม ผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม ตามแนว “พุทธะ” จนเป็น “วัฒนธรรม”

หากคนทุกคนที่เจริญมีจุดยืนอุดมการณ์ร่วมกันตามที่กล่าวมาแล้ว ไม่เพียงแต่จะเข้าร่วมสังกัดเครือข่ายแสวงหาแนวร่วม และที่ลึกซึ้งเชิงสัมพันธภาพมาก การเป็นแนวร่วมคือ เป็นการร่วมมือสนับสนุนในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน แต่หากยกระดับชั้นถึงขั้นที่เรียกว่า “พันธมิตร” นำไปสู่การจับมือ และทำข้อตกลงกันว่า จะช่วยเหลือสนับสนุนอีกฝ่ายให้บรรลุเป้าหมาย เป็นภาพของการร่วมทุกข์ร่วมสุข การให้ความช่วยเหลือในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งต้องการ หรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน การมีพันธมิตร (Alliance) เป็นการผนึกกำลังของกลุ่มคน ตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไปในการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือ ให้เป้าหมายของแต่ละกลุ่มบรรลุผลตามที่ต้องการได้

การเผยแพร่อุดมการณ์ที่ดีงามบางอย่างเช่น นโยบายประเทศไทย 4.0 “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เจริญขึ้นไปสู่ส่วนต่างๆ ทางสังคม คนจำนวนมากที่มีประเด็นที่สนใจบางอย่างร่วมกัน อาจไม่รู้จักกัน อาจอยู่คนละที่ในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ทุกอาชีพในสังคมไทย ดู ฟัง แล้วรู้ เข้าใจ เข้าถึง สนใจ เห็นด้วย และพัฒนากับแนวคิดซึ่งจะยกระดับเป็น “มวลชน”

“มวลชน” ดังกล่าวจะเลื่อนขั้นจากแนวร่วมบางประเด็น บางมติ บางจุด มาเป็นความสนใจของเนื้อหา เข้าใจภาพรวม วัตถุประสงค์ อุดมคติ แนวคิด แนวทาง อุดมการณ์ วิสัยทัศน์ จะนำพาสังคมไทยไปทิศทางใด จะเข้าใจหมด รับได้ เห็นด้วย และอยากเข้าร่วมถ้วนทั่ว

ผู้เขียนเชื่อว่า มวลชนทั่วไปที่ได้รับรู้อุดมการณ์ ค่านิยม เกิดความรู้สึกเห็นด้วย ยอมรับ เกิดความรู้สึกได้รับการปลุกเร้าในใจว่า ปรารถนาจะเห็นชาติบ้านเมืองดำเนินการไปในแนวทางที่เจริญรุ่งเรือง ได้คิดวาดฝันและหลังสร้างแนวทางไว้ อาจจะแบ่งระดับความเข้าใจได้ 3 ระดับ คือ ระดับสูงก้าวหน้า : เข้าใจลึกซึ้ง เห็นชัดเจนอย่างที่สุด ระดับปานกลาง : มีความเข้าใจพอประมาณ ระดับต่ำ : มีความรู้ ความเข้าใจระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นระดับใด ย่อมมีความสำคัญ แต่ถ้าหากเราช่วยกันเผยแพร่แนวคิด “อารยะ” เช่นนี้ ให้เกิด “มวลชนก้าวหน้า” ได้มากกว่ามวลชน 2 กลุ่มดังกล่าว ย่อมเป็นประโยชน์ในการสร้างสังคมไทย อีกกลุ่มที่ผู้เขียนคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการผนึกกำลังของมวลชน ภาครัฐ&เอกชน ที่พึงควรได้รับอบรม ชี้แจงเป็น “กลุ่มๆ” ที่มีโครงสร้าง เป้าหมาย พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ยุทธการ ยุทธวิธี แนวทาง มาตรการ กิจกรรมต่างๆ ที่ชัดเจนว่าจะทำสิ่งใด โดยมีโครงข่ายลำดับขั้นชัดเจนจากระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงกอง กรม กระทรวงต่างๆ อย่างเป็นระบบจริงจังต่อเนื่อง

ผู้เขียนและคนไทยทั้งประเทศเชื่อว่าหากเกิด “มวลชนก้าวหน้า” มากขึ้นๆ และมวลชนเหล่านี้ โดยเฉพาะประเด็น “ศาสตร์พระราชา” จะมีพลังให้เกิดการขยายตัวสู่มวลชนพันธมิตร ขยายแนวร่วม และเครือข่ายมากขึ้น มีคุณภาพเมื่อมีการประสานพลังสังคมร่วมกันกับกลุ่มอื่นๆ กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่พร้อมจับมือกันทุกเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมไทย “คนละไม้คนละมือ” ร่วมด้วยช่วยกัน ทุกภาคส่วนอย่างครบถ้วน อันนำไปสู่การสร้างประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองสู่สากลด้วยปรัชญา “พอเพียง” ได้นะครับ

ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image