หน้าที่พลเมือง-คำสั่งหรือทางเลือก : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า ผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลทหารให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงจะตัดวิชาสังคมศาสตร์ (หรือสังคมศึกษา) ออกไปจากข้อสอบโอเน็ต จนกว่าจะถึงข้อสอบปีสุดท้ายของมัธยมปลาย ทั้งนี้เพื่อลดวิชาที่จะต้องสอบให้เหลือน้อยลง ช่วยไม่ให้เด็กต้องเตรียมตัวสอบหนักเกินไป เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนหนึ่งของกระทรวงเสริมว่า ถึงอย่างไรวิชาสังคมศาสตร์ที่สอนในโรงเรียนก็มีเนื้อหาหนักไปทางเรื่องราวของท้องถิ่น จึงยากที่จะออกข้อสอบกลางได้อยู่แล้ว

ด้วยเหตุผลสองอย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ ผมไม่คิดว่ามีอะไรผิดปกติในการงดสอบวิชาสังคมศาสตร์ในโอเน็ต ตราบเท่าที่ยังมีการสอนวิชาสังคมศาสตร์ในโรงเรียนต่อไป แต่มาสงสัยว่าเหตุผลทั้งสองนี้ไม่ใช่เหตุผลหลัก แท้จริงแล้วน่าจะมาจากความเข้าใจผิดหรือความไม่รู้สังคมศาสตร์ของผู้บริหารกระทรวงมากกว่า เพราะผู้เป็นรัฐมนตรีศึกษาฯของรัฐบาลทหารกล่าวต่อไปด้วยว่า

เขาอยากให้วิชาสังคมศาสตร์ที่สอนในชั้นเรียน มุ่งเน้นไปที่เรื่องหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคิดการทดสอบอย่างสม่ำเสมอว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับความประพฤติตามหลักศีลธรรมและสำนึกที่ดีหรือไม่

ก็เหมือนความพยายามด้านอื่นๆ ของรัฐบาลทหาร คือพยายามหยุดความเปลี่ยนแปลงที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทย ด้วยการย้อนกลับไปปลุกชีวิตให้แก่อดีตที่ตายซากไปแล้ว

Advertisement

ผมอยากชวนท่านผู้อ่านคุยและคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมกับสังคมศาสตร์ (และมนุษยศาสตร์ด้วย) แต่ทั้งนี้ไม่สนใจเลยแม้แต่น้อยที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของกระทรวงศึกษาฯของรัฐบาลทหาร เพราะผมเชื่อว่า ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงอะไรภายใต้รัฐบาลทหารชุดนี้ ล้วนเป็นเรื่องชั่วคราวระหว่างที่กองทัพยังยึดอำนาจบ้านเมืองอยู่เท่านั้น การปฏิรูปที่จะมีผลถาวรเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่ออำนาจกลับมาอยู่ในมือประชาชนอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่เราคุยและคิดกันในตอนนี้จึงน่าจะมีประโยชน์เมื่อเราทุกคนคิดถึงการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างเสรีในวันหนึ่งข้างหน้า

ผมอยากจะ “ฟันธง” เป็นเบื้องต้นเลยว่า เนื้อหาหลักของวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมศาสตร์ (และมนุษยศาสตร์ และว่าที่จริงวิทยาศาสตร์ด้วย) เราไม่อาจซึมทราบหรือแม้แต่เข้าใจหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมได้เลย หากไม่เข้าใจปูมหลังทางสังคมและความเป็นมนุษย์ (ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นสากลและส่วนที่เป็นเฉพาะพื้นที่และยุคสมัย) มิฉะนั้นแล้ว หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมก็จะกลายเป็นคำบัญชา หรือคำสั่ง ที่ต้องปฏิบัติอย่างประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์ไม่เป็น ทั้งไม่ตระหนักต่อข้อจำกัดของคำสั่ง หรือจุดมุ่งหมายหลักของคำสั่ง ทำให้ยกเลิกหรือปรับปรุงคำสั่งไม่ได้ ยกเว้นแต่ก่อการจลาจลขึ้นในสังคม จนกลายเป็นโอกาสให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ

ทั้งนี้เพราะเราสอนหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมอย่างเป็นคำบัญชาหรือคำสั่งตลอดมา โดยไม่เชื่อมโยงคำสั่งเหล่านั้นกับความรู้เกี่ยวกับสังคมหรือความเป็นมนุษย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Advertisement

สังคมศาสตร์ (หรือสังคมศึกษา) คืออะไร?

ในบรรดาวิชาความรู้ที่มนุษย์สร้างและสั่งสมมาแต่อดีต หากสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้เหลือแก่นแท้ของมัน ก็คือประสบการณ์ของมนุษย์ ที่ต้องเผชิญและตอบโต้กับ “สิ่งแวดล้อม” 3 อย่าง คือ ธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดศาสตร์แขนงต่างๆ ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมอันเป็นสิ่งที่มนุษย์และสัตว์อีกหลายชนิดต้องเผชิญมาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เกิดศาสตร์แขนงต่างๆ ของสังคมศาสตร์ และประการสุดท้าย คือความนึกฝันของตนเอง ซึ่งอาจไม่มี “จริง” ในเชิงรูปธรรม แต่ “จริง” ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ทำให้เกิดศาสตร์เช่น คณิตศาสตร์, ปรัชญา, วรรณคดี, ละคร, ดนตรี ฯลฯ รวมเรียกว่ามนุษยศาสตร์

ไม่มีความรู้ใดๆ ที่จะอยู่พ้นศาสตร์ 3 ด้านนี้ไปได้ เพราะศาสตร์ 3 ด้านนี้คือ ประสบการณ์ของมนุษย์ แม้แต่ความรู้ทางศาสนา เพราะความรู้ทางศาสนาต้องส่งผ่านศาสดาพยากรณ์, ฤๅษี, หรือพระโพธิสัตว์ ซึ่งก็คือมนุษย์

หน้าที่พลเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงกับสังคมศาสตร์ เราเข้ามาอยู่ในรัฐประชาชาติ ซึ่งไม่เหมือนรัฐใดๆ ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ อำนาจของรัฐประชาชาติเกิดขึ้นจากการควบคุมประชาชนอย่างรัดกุมถ้วนถี่ จึงบังคับให้ประชาชนต้องทำอะไรหลายอย่างที่รัฐประเภทอื่นไม่สนใจ เรียกว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองต้องปฏิบัติ

แต่เราไม่ได้เข้ามาอยู่ในรัฐประชาชาติเพื่อทำตามคำสั่งของรัฐ หากเพราะเราเห็นว่าการอยู่ร่วมกันในรัฐประชาชาตินั้นให้ประโยชน์แก่เราได้มากกว่า เช่นเพราะรัฐประชาชาติรวมศูนย์อำนาจได้มากกว่ารัฐแบบอื่นๆ จึงมีทรัพยากรมากพอที่จะเฉลี่ยให้ถึงมือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างทั่วถึง เช่นทุพภิกขภัยเฉพาะถิ่นเกือบจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดรัฐประชาชาติขึ้น เพราะรัฐสามารถขนอาหารจากแหล่งที่มีเหลือไปจุนเจือแหล่งที่ขาดแคลนได้ รัฐประชาชาติให้หลักประกันความมั่นคงในชีวิตเราดีกว่ารัฐประเภทอื่น

ดังนั้น ในขณะที่พลเมืองต้องทำหน้าที่พลเมือง รัฐก็มีหน้าที่ต่อพลเมืองเหมือนกัน (ซึ่งน่าประหลาดที่ไม่เคยมีในหลักสูตรการศึกษาไทย) เพราะรัฐประชาชาติต้องพิสูจน์ตนเองต่อพลเมืองอย่างไม่หยุดว่า การยอมเสียสิทธิเสรีภาพหลายอย่างให้แก่รัฐนั้น มีประโยชน์แก่ตัวพลเมืองเอง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่พลเมืองจะยอมรับหน้าที่ซึ่งรัฐมอบให้

ยกตัวอย่างเช่น หน้าที่ด้านทะเบียนราษฎรนั้น หาได้มีประโยชน์อย่างไรแก่พลเมืองไม่ แต่เป็นข้อมูลสำคัญที่ขาดไม่ได้ของรัฐประชาชาติ เพราะข้อมูลบุคคลเป็นพื้นฐานให้แก่การที่รัฐจะควบคุมประชาชน หรือจัดบริการให้แก่ประชาชน ตราบเท่าที่รัฐยังทำให้เราเชื่อว่า รัฐนั้นมีประโยชน์ในการดำรงชีวิต เราก็ควรทำหน้าที่ด้านทะเบียนราษฎรต่อไป

แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อมองจากฝ่ายพลเมือง การสละข้อมูลส่วนบุคคลให้รัฐได้รับรู้ ก็เท่ากับเปิดให้รัฐเข้ามาควบคุมพลเมืองมากขึ้น จนเกินกว่าความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ (ควบคุมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และให้บริการได้ทั่วถึง) จึงไม่ควรยอมให้รัฐขอหรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคลจากพลเมืองเกินความจำเป็น เช่นรัฐอยากรู้ว่าเราสนทนาอะไรกับเพื่อนผ่านสื่อประเภทต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐแต่อย่างใด

การคอยระมัดระวังมิให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น คือส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของหน้าที่พลเมือง เพราะการปล่อยให้รัฐประชาชาติกลายเป็นรัฐเผด็จการนั้นมีอันตรายแก่พลเมืองทุกคน อย่าลืมว่ารัฐประชาชาติมีอำนาจมากล้นกว่ารัฐใดๆ ทั้งสิ้น หากปล่อยให้อำนาจนั้นตกอยู่ในมือของกลุ่มบุคคลที่ไม่อาจตรวจสอบทัดทานได้ เพราะไม่มีภาระต้องพิสูจน์ความมีประโยชน์ของรัฐแก่พลเมือง จึงเท่ากับสร้างสภาพมิคสัญญีขึ้นแก่พลเมืองทุกคน

หน้าที่พลเมืองที่เชื่อมโยงกับสังคมศาสตร์ จึงต้องแนะนำให้นักเรียนรู้จักการต่อต้านทัดทานการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐด้วย โดยไม่ทำลายหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและเป็นผลดีแก่ทุกคน หรือไม่ทำลายสังคมลงนั่นเอง ข้อมูลเกี่ยวกับเดวิด โธโรส์ มาจนถึงคานธี และ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เป็นข้อมูลที่ขาดไม่ได้ในวิชาหน้าที่พลเมืองที่เชื่อมโยงกับสังคมศาสตร์

หน้าที่พลเมืองที่เชื่อมโยงกับสังคมศาสตร์ จะเป็นวิชาที่มีเหตุผล นอกจากต้องสืบสาวไปถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งเหล่านั้นแล้ว ยังปลดปล่อยนักเรียนให้คิดเองว่า เหตุผลเหล่านั้นพอรับได้หรือไม่ ซ้ำยังปลดปล่อยให้เป็นพลเมืองที่มีพลังจะตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐ ด้วยเหตุผล ถึงจะก่อกบฏในภายหน้า ก็จะกบฏอย่างสันติ เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมโดยไม่ทำลายสังคมลงทั้งหมด

หน้าที่พลเมืองที่เชื่อมโยงกับสังคมศาสตร์ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้แก่ใคร ไม่มีใครตัดสินได้แต่ผู้เดียวว่าขีดจำกัดอำนาจของรัฐพึงอยู่ที่จุดใด หรือพลเมืองพึงสละสิทธิเสรีภาพส่วนใดแก่รัฐบ้าง เพื่อให้รัฐสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างดีที่สุด ทุกประเด็นต้องการทั้งข้อมูลอันหลากหลายและเหตุผล ในการสนับสนุนหรือคัดค้านประเด็นนั้นๆ

ความรู้ทางศีลธรรมก็เชื่อมโยงกับความรู้ทางสังคมศาสตร์อย่างแยกไม่ออกเหมือนกัน เรามักลืมไปว่าส่วนใหญ่ของคำสอนในศาสนาต่างๆ นั้น คือหลักปฏิบัติที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสังคมในยุคสมัยหนึ่งๆ (แม้ว่าส่วนที่เป็นมติของศาสดาหรือพระเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นอกาลิโกย่อมมีอยู่ด้วย) ข้อห้ามพื้นฐานในทุกศาสนา คือ การกระทำที่ถือว่าต่อต้านสังคม (anti-social) เช่นศีลห้าในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

แต่สังคมและยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ข้อห้ามและหลักธรรมในสังคมและยุคสมัยปัจจุบันควรมีความหมายใหม่ในทางปฏิบัติ ซึ่งผู้เรียนต้องค้นหาและนิยามให้แก่ตนเองด้วยข้อมูลและเหตุผล เราสอนศีลธรรมก็เพื่อทำให้ผู้เรียนทำอย่างนี้เป็น ไม่ใช่เพื่อให้รับคำสั่งอย่างเซื่องๆ ว่า ต้องทำอะไรจึงดี และทำอะไรไม่ดี (เช่นซื้อหุ้นบริษัทขายอาวุธเป็นปาณาติบาตหรือไม่ อยู่ก่อนแต่งเป็นกาเมสุมิจฉาจารหรือไม่ ในฐานะคนทำสื่อ แล้วมองข้ามการทุจริตของรัฐบาลทหารเป็นส่วนหนึ่งของอทินนาทานหรือไม่ ฯลฯ)

สมัยหนึ่งเราทำทานกับพระสงฆ์ ไม่ใช่เพราะท่านเป็น “เนื้อนาบุญ” เพียงอย่างเดียว แต่ในสังคมสมัยนั้น พระสงฆ์เป็นตัวกลางรวบรวม (accumulate) ทรัพยากร เพื่อกระจายกลับ (redistribute) ให้แก่ผู้ขาดแคลนได้ดีที่สุด ปัจจุบันท่านไม่อยู่ในฐานะจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้อีกแล้ว จึงได้แต่เก็บทานที่ทายกทายิกาถวายไว้ในบัญชีส่วนตัว

ท่านสอนว่า ทานเป็นเครื่องขจัดความเห็นแก่ตัวในใจคน (และในทางเศรษฐศาสตร์ ยังเป็นจักรกลสำคัญไม่น้อยกว่าการซื้อขาย ที่ทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้) ชาวพุทธจึงยังทำทานต่อไป แต่เพราะสอนวิชาศีลธรรมกันแบบคำบัญชาหรือคำสั่งตลอดมา จึงทำให้เราไม่อาจประยุกต์หลักคำสอนเรื่องทานให้มีความหมายแก่ชีวิตในโลกปัจจุบันได้ เสียภาษีแล้วกรวดน้ำให้เงินนั้นตกไปยังโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นทานหรือไม่? เพราะขจัดความเห็นแก่ตัวในใจได้มากกว่ารำพึงว่ากูไม่รู้จะเลี่ยงภาษีอย่างไร

ปัญหาของการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่ว่าจะสอบวิชานั้นนี้หรือไม่ หรือจะเรียนวิชานั้นนี้ดีหรือไม่ แต่อยู่ที่เราสอนวิชากันโดยขาดความเชื่อมโยงกับความรู้ ทุกวิชากลายเป็นคำสั่งจากรัฐ, จากศาสดา, จากนักวิชาการ ที่ต้องจดจำ โดยมองไม่เห็นพื้นฐานของเหตุผลที่อาศัยความรู้ทุกแขนงมาเชื่อมโยงกันขึ้นอย่างเป็นระบบ

คนที่เรียนหนังสือมาจากหลักสูตรอย่างนี้จึงมองเห็นทางเลือกได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกทางวิชาการ, ทางสังคม, ทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง ซ้ำร้ายเราต้องมาอยู่ในโลกที่ผู้คนแข่งกันสร้างทางเลือกใหม่ๆ แต่เราสร้างทางเลือกไม่เป็น จึงทำได้เพียงประดิษฐ์ศัพท์ใหม่ที่กลวงๆ ไม่มีความหมายอะไร เช่น ไทยแลนด์ 4.0, ประชารัฐ, ประชาธิปไตยแบบโน้นแบบนี้ แต่ต้องไม่มีการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งต้องไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจด้านการเมือง, รัฐธรรมนูญปราบโกง, มหาอำนาจทางสันติภาพ, มหาอำนาจทางผลไม้ของโลก ฯลฯ

สักวันหนึ่งในอนาคต เมื่อประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจในการปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่ควรทำอย่างหนึ่ง คือ ทำให้วิชาที่สอนในระดับโรงเรียนเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง หลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว เช่น การเรียนแบบใช้โครงการเป็นฐาน (project base), การเปลี่ยนเนื้อหาของวิชาในหลักสูตร, การสังเกตการณ์และสร้างคำอธิบาย, และ ฯลฯ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image