วิถี แห่ง สามก๊ก วิถี การเมือง การทหาร พื้นฐาน’แนวร่วม’

ไม่ว่าจะมองในทางประวัติศาสตร์

ไม่ว่าจะมองในทางวรรณกรรม

การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “สามก๊ก” มีเป้าหมายอันเด่นชัด

เหมือนกับจะเป็นเป้าหมายทาง “การทหาร”

Advertisement

เพราะด้านหลักของเรื่องราวภายใน “สามก๊ก” คือ การสัประยุทธ์เพื่อชิงชัย ไม่ว่าจะเล็ก ไม่ว่าจะใหญ่

แต่ภายใน “การทหาร” ก็แฝงไว้ด้วย “การเมือง”

จุดเด่นเป็นอย่างมากของ “สามก๊ก” เป็นเรื่องของการเสาะแสวงหาพรรคพวก การสร้างพันธมิตรอย่างที่เรียกว่าในปัจจุบันว่า “แนวร่วม”

“การเมือง” จึงเชื่อมร้อย “สามก๊ก” ตั้งแต่ต้นจนจบ

ลองมองเข้าไปยังรายละเอียดของการยุทธ์อันยิ่งใหญ่ที่ “ผาแดง” ซึ่งคนไทยรับรู้ว่าเป็นตอนว่าด้วยโจโฉแตกทัพเรือ

ก็จะประจักษ์ใน “การทหาร” ซึ่งรับใช้ “การเมือง”

ตอนที่โจโฉตัดสินใจยกทัพลงใต้ เป้าหมายหลักอาจเป็นเกงจิ๋ว แต่ผลสะเทือนอย่างล้ำลึกคือแคว้นง่อของซุนกวน

ระยะกาลนี้ “เล่าปี่” แทบไม่มีสถานะอันใดสูงเด่น

เพราะเมื่อแตกทัพมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ของอ้วนเสี้ยวจากภาคเหนือลงมายังภาคใต้ก็หวังจะพึ่งพิงบารมีใต้ร่มธงของ “เล่าเปียว”

“เล่าเปียว” มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดเส้นทาง

ถามว่า “เล่าปี่” พอใจกับสถานะบักน่อยตุหรัดตุเหร่อย่างนี้หรือ ตอบได้เลยว่าไม่พอใจและพยายามดิ้นรนอย่างสุดกำลัง

น่ายินดีที่ “เล่าปี่” มี “ขงเบ้ง”

ขงเบ้งนั่นแหละที่เสนอยุทธวิธีสร้าง “แนวร่วม” กับก๊กง่อของซุนกวนเพื่อรับมือกับทหารใหญ่ของก๊กเว่ยที่นำโดยโจโฉ

นี่อาจเป็นไปตามที่ปรากฏใน “แถลงการณ์หลงจ้ง”

แต่ก็สอดรับกับนโยบายของโลซกที่สนทนากับซุนกวน “บนยี่ภู่” อย่างชนิดข้ามคืน

ลองย้อนกลับไปศึกษารายละเอียดของ “ศึกผาแดง” ไม่ว่าจะจากปลายพู่กันของ “ล่อกวนตง” ไม่ว่าจะปรากฏออกมาเป็นภาพยนตร์ในห้วงหลัง

ก็จะเข้าใจในทุกกระบวนท่ามากยิ่งขึ้น

เหมือนกับเป็นความฮึกห้าว เหิมหาญ เหมือนกับเป็นความมากด้วยสุขุมคัมภีรภาพของซุนกวนและจิวยี่

ภายในนั้นมีความพยายามช่วงชิงโอกาสของขงเบ้ง

การช่วงชิงโอกาสของขงเบ้งมิได้ดำรงอยู่เพียงระหว่างการตระเตรียมทัพ หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ภายหลังผลการสู้รบเผล็ดออกมาแล้ว

นั่นก็คือโจโฉแตกทัพเรือ

การวางเป้าหมายไปยังเมืองเกงจิ๋วจึงเป็นความพยายามอย่างสุดกำลังของขงเบ้ง และนั่นก็ทำให้สถานะของก๊กเล่าปี่ผงาดขึ้นมา

“สามก๊ก” ในความเป็นจริงเริ่มจากตรงนั้น

แต่การเริ่มนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของความเก่ง การช่วงชิงโอกาส หรือ การฉวยโอกาส นั่นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความ

จึงไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ จึงไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม “สามก๊ก” สำแดงเป้าหมายออกมาอย่างเด่นชัด

เป็นเป้าหมายทางการเมือง เป็นเป้าหมายทางการทหาร อันสะท้อนผ่านการสร้างพันธมิตรในแนวร่วมและการเคลื่อนทัพออกสัประยุทธ์

จากการเมือง จากการทหาร มีการปรับประสานเข้ากับ “ธุรกิจ”

จากการเมือง จากการทหาร มีการปรับประสานเข้ากับ “ชีวิต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image