จับกระแส’คลื่นใต้น้ำ’ เลือกตั้ง คือ เป้าหมาย การเมือง ยังแรง

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งคำถาม 4 ข้อ

ผลกระเพื่อมทางการเมืองที่เกิดขึ้นเขย่าโรดแมปเลือกตั้งไปมากพอสมควร

ทั้งนี้เพราะ คำถามดังกล่าวต้องการคำตอบจากประชาชนที่คาดคะเนถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

คาดว่าได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ?

Advertisement

และถ้าไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาธิบาลแล้วจะทำอย่างไร?

คำถามนี้เกิดขึ้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าที การเมืองจึงเกิดอาการลังเล

Advertisement

เพราะนั่นคือสัญญาณเลื่อนโรดแมป

 

การเลื่อนโรดแมปหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้วนั้นทำได้ลำบาก

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คล้ายเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลัง คสช.

นับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งตามเจตนาที่บัญญัติเอาไว้ โดยมีประชาชนจำนวนมากลงประชามติ

ทั้งนี้แม้ว่า หลังจากการทำประชามติจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างท้วมท้นในเสียงที่ “ถล่มทลาย”

แต่ทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขึ้น กลับไปเถียงสักนิดว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการสนับสนุน

เพราะประชาชนต้องการเลือกตั้ง

ดังนั้น แม้ คสช. จะมีความคิดขยับวันเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ก็ตาม ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีเหตุอันสมควรจริงๆ แล้วล่ะก็

ถือว่าดำเนินการได้ยาก

ถึงอย่างไรการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือเป็นการเลือกตั้งที่ คสช. มีความได้เปรียบ

อย่างน้อยก็ได้เปรียบในจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. สามารถเลือกได้

อย่างน้อยก็ได้เปรียบในจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีวิธีการเลือกอันน่าจะนำไปสู่ “เบี้ยหัวแตก”

อย่างน้อย แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็ใช้เสียง 2 สภา

ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสเป็น “เบี้ยหัวแตก” ขณะที่วุฒิสภามีโอกาสเป็น “ปึกแผ่น”

ดังนั้น ถ้า คสช. ต้องการจะสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีกุญแจล็อกเก้าอี้ให้แต่เฉพาะผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง หากแต่ได้เปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯ

เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ คสช. มีสิทธิครอบครองเก้าอี้ตัวนี้ด้วย

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีสิทธินั่งเป็นนายกฯต่อ

 

แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เคยเป็นเจ้าของสนามย่อมไม่ยอมแพ้

ขณะนี้จึงปรากฏความเคลื่อนไหวของนักการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

ที่พรรคประชาธิปัตย์ บรรดาอดีต ส.ส.พรรคที่ผละไปเป็นแกนนำ กปปส. ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ขอมาร่วมกิจกรรมของพรรคอีกครั้ง

ที่พรรคเพื่อไทย มีกระแสทาบทามบุคคลภายนอกมาเป็นแกนนำของพรรคอยู่เนืองๆ แม้ข่าวที่ปรากฏจะมีการปฏิเสธออกมาเป็นระยะ

แต่ในขณะที่มีการปฏิเสธ ก็แสดงว่ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว

ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ของอดีตนายบรรหาร ศิลปอาชา บรรดาแกนนำขุนพลคู่กายนายบรรหาร ต่างส่งเสียงเชียร์นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นหัวหน้า

และตัวนายวราวุธเองก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันการนำพรรค

และประกาศนำคนรุ่นใหม่เข้าสู่เวทีการเมือง

ขณะที่พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ก็มีความพร้อมการเลือกตั้ง

ทุกพรรคล้วนมียุทธศาสตร์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ร่วมกับพรรคทหาร ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ยืนตรงข้ามพรรคทหาร

ทุกยุทธศาสตร์ทางการเมือง ล้วนยืนอยู่บนผลประโยชน์ทั้งสิ้น

ผลประโยชน์เหล่านั้น ทุกวันนี้อยู่ในมือของ คสช.

แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้น ผลประโยชน์ดังว่า ย่อมต้องผ่านการ “แบ่งเค้ก”

 

นอกจากนี้ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มปรากฏการตระเตรียมลู่ทางสำหรับคณะกรรมการองค์กรอิสระกันบ้างแล้ว

เริ่มจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการ กกต. ที่ สนช.มีความเห็นควร เซตซีโร่ ชุดเก่า และเปิดทางให้ชุดใหม่ 7 คนเข้าทำงาน

ยังมีร่างจาก กรธ. ที่เสนอให้ กสม. ต้องพ้นตำแหน่ง ด้วยเหตุผลจากสัญญากรุงปารีส

แต่องค์กรอิสระที่ยังไม่มีข่าวเข้าไประคายตัว คือ ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญ

น่าสนใจว่า ระหว่างที่ความคิดเห็นเรื่อง เซตซีโร่ กกต. แพร่หลาย ได้ปรากฏข้อสันนิษฐานทางการเมืองดังขึ้นเป็นระลอก

เมื่อ กกต.ตั้งแทนสอบ 9 รัฐมนตรีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ถูกตีความว่าเป็นการ “เอาคืน”

แม้ทาง กกต.จะปฏิเสธ แต่ด้วยจังหวะเวลาที่ปรากฏเป็นข่าว

พบว่าเป็นห้วงเวลาที่แพร่หลาย เป็นห้วงเวลาที่เกิดหลังจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้ทรรศนะเกี่ยวกับเซตซีโร่ กกต.

เพื่อแก้ปัญหา “ปลา 2 น้ำ”

และเมื่อมีข่าวว่า กกต. จะดำเนินการกับ 9 รัฐมนตรีทุกอย่างจึงตีความทางการเมืองได้ว่า “เอาคืน”

ขณะเดียวกันก็มีเหตุผลจากฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่ทางหนึ่งว่า เกรงว่า คสช.จะจัดคนลงไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ

แสดงว่า การเมืองเองก็เหลียวมองไปที่องค์กรอิสระเช่นกัน

 

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คสช. หรือนักการเมืองล้วนมีโอกาส

ผลการสอบถามความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการ ปยป. ที่ทำเรื่องปรองดองทั่วประเทศได้สรุปคร่าวๆ ออกมาแล้ว

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยสนใจการเมือง

สอดรับกับข้อสันนิษฐานที่ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านอย่างท้วมท้น เพราะประชาชนต้องการเลือกตั้ง

และยังสอดรับกับคำถาม 4 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์ สอบถามประชาชนในเรื่องธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้ง

เพราะท่าทีของฝ่ายรัฐบาลที่ออกมาเช่นนั้น ทำให้คิดได้ว่า ไม่มั่นใจผลการเลือกตั้ง

ณ วันนี้เมื่อทุกอย่างมุ่งสู่จุดหมายคือการเลือกตั้ง

ทั้ง คสช. ทั้งพรรการเมือง และกลุ่มการเมืองที่ต้องการบริหารประเทศ จึงมีแนวโน้มที่จะปะทะกันหนักขึ้น

สถานการณ์การเมืองที่แลดูสงบบนผิวน้ำ แท้ที่จริงแล้วใต้น้ำกลับปรากฏคลื่นลูกแล้วลูกเล่า

กระหน่ำพัดอย่างรุนแรง !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image