“ประเทศ”แช่แข็ง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

ความจำเป็นว่าประเทศจะต้องมี “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” โดยเร็ว เหมือนจะจางไปจากความรู้สึกของคนไทยยุคนี้

ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แค่คล้ายกับจะเกิดขึ้นในความคิดของคนไทยทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ “นักการเมือง” ที่หนทางเข้าสู่อำนาจมีแต่การลงสมัครรับเลือกตั้งทางเดียว

ในกลุ่มผู้มีอำนาจขณะนี้ สะท้อนจากคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีที่กังวลว่าการเลือกตั้งจะทำให้ไม่ได้คนดีเข้ามาดูแลประเทศ

กลุ่มพ่อค้าประชาชนบางส่วนที่มองว่าแรงกดดันต่างๆ ที่จะกระทบต่อธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว กระแสโลกที่ยอมรับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มหาอำนาจอย่างจีนไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ส่วนสหรัฐอเมริกาที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวตั้งตัวตีออกมาตรการแอนตี้ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้เปลี่ยนไปด้วยนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ไม่สนความสัมพันธ์ในมิติอื่น ขอเพียงเป็นประเทศที่เอื้อผลประโยชน์ให้สหรัฐเป็นใช้ได้หมด ขณะที่สหภาพยุโรป และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ กำลังปั่นป่วนและสับสนต่อการให้คุณค่ากับประชาธิบไตย ทำให้แรงกดดันจากภายนอกที่ต้องกังวลว่าความไม่เป็นประชาธิปไตยจะกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจลดลง

Advertisement

ในส่วนของปัจจัยภายในไม่ต้องพูดถึง พลังของการตระหนักในคุณค่าของสิทธิเสรีภาพของคนไทยลดลงไปมาก ความสงบเรียบร้อยยังเป็นทางเลือกที่ทำให้อุ่นใจมากกว่าต่อไป

อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปจึงไม่มีอะไรที่จะเป็นพลังให้เกิดแรงกระเพื่อม

สำหรับ “นักการเมือง” แม้การเลือกตั้ง และรัฐบาลประชาธิปไตยจะเป็นหนทางให้เข้าสู่ถนนสายอำนาจ แต่กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ขาดความกระตือรือร้น ที่จะเรียกร้องให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่น

Advertisement

นักการเมืองบางกลุ่มไม่ต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงนี้เสียด้วยซ้ำ

เท่าที่สดับตรับฟังมา สาเหตุเนื่องจากโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้นักการเมืองไม่เพียงไม่มีความหวังในประชาธิปไตยในแบบที่ “อำนาจเป็นของประชาชน” เท่านั้น แต่ยังกังวลว่าการทำงานการเมืองในกติกาเช่นนี้ จะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หากระมัดระวังไม่เพียงพอ อาจจะ “ติดคุก” หรือ “ถูกยึดทรัพย์” เอาง่ายๆ เป็นห้วงยามของการเมืองที่ไม่ควรเอาชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องมากที่สุด

ด้วยเหตุนี้แม้เสียงเรียกร้องคืนอำนาจให้ประชาชน แต่สำหรับการเลือกตั้งตามกติกาใหม่นี้ไม่ใช่ความต้องการของนักการเมืองมากนัก

ด้วยอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อมีข่าวลือสะพัดว่า “การเลือกตั้งน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้” และมีรูปธรรมหลายอย่างที่ใช้หยิบยกมาอ้างว่าเป็นสัญญาณที่จะยังไม่มี “รัฐบาลของประชาชน”

จึงเป็นข่าวที่คนทุกกลุ่มฟังแล้วนิ่งๆ ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไรกับ “จะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง”

เหมือนกับว่า ทุกกลุ่มมีความรู้สึกเหมือนกันคือ “อยากทำอะไรก็ทำไป”

เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีความหวังว่าอะไรจะมาทำให้ประเทศชาติดีขึ้นกว่าเดิม ในภาวะเช่นนี้

เป็นการยอมรับสภาวะ “แช่แข็งประเทศ” เหมือนที่ครั้งหนึ่ง “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” หรือ “สธ.อ้าย” อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด และประธานองค์การพิทักษ์สยาม เคยกำหนดชะตากรรมของประเทศไว้

เป็นภาวะแห่งการปล่อยประเทศไปตามยถากรรม เนื่องเพราะนักประชาธิปไตยทั้งหลายยังมองไม่เห็นความหวังอะไร

ในความรู้สึกนึกคิดของ “นักประชาธิปไตยเชิงอุดมการณ์” การเลือกตั้งในกติกาแบบนี้ รังแต่จะนำ “นักการเมือง” ไปเป็นเครื่องมือรับใช้ของ “อภิสิทธิ์ชน” ที่เข้ามามีอำนาจโดยไม่ต้องผ่านการใช้สิทธิของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image