เจาะข้อกฎหมายคดีตัวอย่างสินค้าไม่ปลอดภัย เมื่อขวดน้ำอัดลมระเบิด : โดย ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

แม้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จะมีเหตุผลหลักที่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคที่มักอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจและขาดอำนาจต่อรอง ให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม โดยได้กำหนดให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค

แต่คดีผู้บริโภคในชั้นศาลส่วนใหญ่กลับเป็นคดีที่ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลยในคดีแพ่ง เช่น คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟ้องบังคับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิต สัญญากู้ยืมเงิน จำนอง จำนำ ตั๋วเงิน หรือคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ฟ้องบังคับผู้เช่าซื้อให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นต้น

ส่วนคดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นจำเลย เช่น คดีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ สัญญาให้บริการท่องเที่ยว เป็นต้น ถึงแม้จะมีการฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเกิดขึ้นแต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ดูเหมือนกับว่าการบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อมีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ ถึงเรื่องที่นักศึกษาซึ่งทำงานพิเศษเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ได้รับบาดเจ็บจากการที่ขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่งระเบิดขณะกำลังหยิบขวดน้ำอัดลมส่งให้ลูกค้า และเศษแก้วได้กระเด็นพุ่งเข้าใส่ใบหน้า ทำให้เลนส์ตาซ้ายแตก และสูญเสียความสามารถในการมองเห็น และคู่กรณีไม่สามารถไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ ผู้เสียหายจึงได้มีการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค หมายเลขดำ ผบ 1500/2528 จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Advertisement

เพราะนอกจากจะเป็นกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายฟ้องผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่เพื่อคุ้มครองและเรียกร้องสิทธิของตนตามกฎหมายแล้ว ยังมีกรณีที่พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ที่แม้จะบังคับใช้มาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ก็ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนักที่จะมีคดีพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายใหญ่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลในประเด็นเรื่องความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย

โดยศาลแพ่งได้พิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ให้บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ชำระเงินจำนวน 1,410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหาย รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพเป็นเงิน 900,000 บาท และให้สงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เป็นค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพ ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้ จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

พร้อมทั้งให้บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นจำนวน 50,000 บาท

Advertisement

คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคที่เป็นคดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 วรรค 1(2) ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 โดยความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 นั้น ใช้หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict liability) บังคับกับผู้ประกอบการ

ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่มีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ถึงแม้ผู้ประกอบการไม่จงใจ ไม่ประมาทเลินเล่อก็ต้องรับผิด โดยผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ถึงความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หากพิสูจน์หักล้างได้ว่าสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือผู้เสียหายรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย หรือความเสียหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้เสียหายใช้หรือเก็บรักษาสินค้าไม่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 7

ดังนั้น ในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์ความปลอดภัยของสินค้าน้ำอัดลมในประเด็นต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการผลิตขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำอัดลม กระบวนการผลิตน้ำดื่มอัดลมบรรจุขวด จึงตกอยู่แก่บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสินค้าน้ำอัดลมซึ่งรวมถึงขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำอัดลมไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หากพิสูจน์ได้ก็ไม่ต้องรับผิด แต่หากพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ซึ่งในคดีนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าสินค้าน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ปลอดภัย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหาย โดยตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนี้ ศาลเห็นว่า ทางนำสืบของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าสินค้าน้ำอัดลมไม่ได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยเป็นการนำสืบให้เห็นเพียงว่าขั้นตอนการผลิตของบริษัทมีขั้นตอนอย่างไร มีการตรวจสอบก่อนที่จะจัดจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอย่างไร

แม้บริษัทจะนำสืบชี้ให้เห็นว่าสินค้าน้ำอัดลมของบริษัทเป็นสินค้าที่ปลอดภัยเพราะมีการผลิตตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏตามภาพวัตถุพยานแสดงให้เห็นว่าสินค้าของบริษัทไม่ปลอดภัย เนื่องจากผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายได้รับอันตรายจากการระเบิดของขวดขณะที่ผู้เสียหายหยิบจับขวดในลักษณะปกติทั่วไป

และศาลเห็นว่าการสุ่มตรวจเพื่อวัดแรงดันก๊าซในเวลา 30 นาที ซึ่งสุ่มตรวจเพียง 2 ขวดเท่านั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าขวดน้ำอัดลมทุกขวดจะมีความปลอดภัย จึงมีความเป็นไปได้ที่ขวดซึ่งมีความชำรุดบกพร่องโดยไม่เห็นประจักษ์ด้วยตาเปล่าจะผ่านไปถึงขั้นตอนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัท

ศาลจึงเห็นว่าสินค้าน้ำอัดลมของบริษัทเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย คือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 4

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ก็ได้กำหนดให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ได้แก่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การออกแบบ ส่วนผสมของสินค้า การให้บริการ หรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้ภาระการพิสูจน์เกี่ยวกับความปลอดภัยของสินค้าน้ำอัดลม ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการผลิตขวดแก้วที่ใช้บรรจุน้ำอัดลม กระบวนการผลิตน้ำดื่มอัดลมบรรจุขวด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าสินค้าน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ปลอดภัยหรือเป็นอันตราย ตกอยู่กับบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัยของสินค้าน้ำอัดลม เนื่องจากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของผู้ประกอบการดังกล่าว

สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหาย มีภาระการพิสูจน์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 6 ที่กำหนดให้ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าน้ำอัดลมที่เป็นสินค้าของผู้ประกอบการและการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้าน้ำอัดลมเป็นไปตามปกติธรรมดา ซึ่งปรากฏจากทางนำสืบของผู้เสียหายในคดีนี้ว่า เพื่อนพนักงานของผู้เสียหายได้นำน้ำอัดลมขวดแก้ว 3 ขวดที่ยังไม่ได้เปิดและไม่ได้ทำขวดน้ำอัดลมตกพื้นหรือทำให้ขวดกระแทกกัน มาวางไว้ที่ชั้นวางเครื่องดื่มตามที่ลูกค้าสั่ง และระหว่างที่ผู้เสียหายใช้มือซ้ายหยิบน้ำอัดลมขวดแรกและใช้มือขวาหยิบน้ำอัดลมขวดที่สอง โดยลักษณะการหยิบขวดน้ำอัดลมของผู้เสียหายเป็นไปในลักษณะปกติเช่นวิญญูชนทั่วไป น้ำอัดลมขวดที่สองได้ระเบิดขึ้นมาเอง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าและดวงตาข้างซ้าย สำหรับสถานที่เก็บเครื่องดื่มน้ำอัดลมของร้านอาหารที่ผู้เสียหายทำงานอยู่มีหลังคาคลุมเรียบร้อยดี

ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 11 ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อจิตใจ และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชดใช้ โดยคดีนี้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายได้ขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 42

และศาลได้มีคำพิพากษาในเรื่องนี้ว่า กรณีที่ขวดน้ำอัดลมของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ระเบิดจนทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นเพียงความประมาทเลินเล่อ หรือความบกพร่องจากกระบวนการผลิตเท่านั้น บริษัทในฐานะผู้ประกอบการไม่ได้กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ บริษัทจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษในคดีนี้

สําหรับกรณีที่ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาคดีนี้ว่า ศาลสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษานั้น เป็นการใช้อำนาจของศาลตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 40 ที่บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะกล่าวไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ศาลสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเป็นกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย และในเวลาที่ศาลพิพากษาคดีเป็นการพ้นวิสัยที่จะรู้ได้แน่นอนว่าความเสียหายที่แท้จริงมีเพียงใด แต่ก่อนที่จะมีการแก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งต้องให้โอกาสคู่ความอีกฝ่ายที่จะคัดค้านด้วย

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 43 หากปรากฏว่าเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว สินค้าที่ได้จำหน่ายไปแล้วหรือที่เหลืออยู่ในท้องตลาดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภคโดยส่วนรวม และไม่อาจใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่เหลืออยู่และเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายคืนจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขสินค้าให้ปลอดภัย และถ้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ศาลมีอำนาจสั่งห้ามผลิตได้ และหากสงสัยว่าผู้ประกอบธุรกิจจะเก็บสินค้าที่เหลือไว้จำหน่ายต่อไป ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำลายสินค้าที่เหลือได้

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลดังกล่าวตามมาตรา 43 นี้ ศาลยังไม่ได้นำมาบังคับใช้กับคดีนี้ ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสินค้าน้ำอัดลมที่ได้จำหน่ายไปแล้วและที่เหลืออยู่ในท้องตลาดว่ามีหรือไม่ รวมทั้งความเหมาะสมและความจำเป็นของการนำเอามาตรการตามมาตรา 43 นี้มาบังคับใช้

คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างของคดีผู้บริโภคที่สำคัญซึ่งผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นคดีเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง ซึ่งยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ และถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่อาจด้วยความไม่รู้ถึงสิทธิในการเรียกร้องตามกฎหมายของตน หรือเกรงว่าจะเกิดภาระในการดำเนินคดีที่ลำบากยุ่งยาก ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม

การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคถึงสิทธิในการเรียกร้องตามกฎหมายและการตระหนักถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นของตัวผู้บริโภคเองจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิและเอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคไว้อยู่แล้ว

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image