การศึกษาไทย : ปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่? : โดย จารึก อะยะวงศ์

ตามที่คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิเคราะห์ผลการปฏิรูปการศึกษาไทยของรัฐบาล คสช. โดยนักศึกษาของคณะสองท่านและบุคคลภายนอกอีกสามท่านมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่มีความก้าวหน้าเลย บางท่านถึงกับให้คะแนนเพียง 3 จาก 10 เท่านั้น ท่านนายกฯตู่ได้ฟังแล้วคงจะเกิดความไม่สบายใจมาก เพราะการปฏิรูปการศึกษาเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สาระของการวิพากษ์ครั้งนี้ยังคงเน้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน

มีข้อน่าสังเกตว่า เวลามีการปฏิรูปการศึกษาจะมีการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการระดับอุดมศึกษาที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เป็นครูสอนในโรงเรียน ยกเว้นครั้งนี้ที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดมาร่วมด้วยท่านหนึ่ง ดังนั้นความเห็นของนักวิชาการจึงมีลักษณะ “เข้าใจ” ตามหลักการและทฤษฎีการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ “เข้าไม่ถึง” ปัญหาที่มีอยู่จริงในโรงเรียน ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยก้าวหน้า ปัญหาจริงในโรงเรียนเป็นอย่างไร และอยู่ตรงไหน พอประมวลได้ดังต่อไปนี้

1.ปัญหาด้านคุณภาพ คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยตกต่ำมาก ตั้งแต่มีการยกเลิกการสอบ ม.6 หรือ ม.ส.5 เดิม โดยใช้ข้อสอบกลางของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นแต่ละปีจะมีนักเรียนสอบได้ประมาณปีละ 60% เท่านั้น นักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้น ม.6 สมัยนั้นจึงมีคุณภาพคับแก้ว ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาการสอนของตัวเองตลอดเวลา โดยไม่ต้องมี สมศ.มาคอยประเมิน ที่สำคัญมากก็คือ ข้อสอบ ม.6 หรือ ม.ส.5 ของกระทรวงในสมัยนั้นเป็นข้อสอบอัตนัยทั้งหมด เพราะฉะนั้น นักเรียนที่ความรู้ไม่ดีพอและคิดวิเคราะห์ไม่เป็นจึงสอบไม่ผ่านเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเปลี่ยนมาให้โรงเรียนประเมินผลเอง ทำให้มีนักเรียนสอบได้ 100% โรงเรียนก็ไม่ต้องกระตือรือร้นพัฒนาการสอนต่อไป เพราะนักเรียนสอบได้ยกชั้นทุกปีอยู่แล้ว คุณภาพจึงตกต่ำลงไปมาก นี่คือปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีใครอ้างถึง

2.นอกจากปล่อยให้โรงเรียนประเมินผลการเรียนเองแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้โรงเรียนใช้ข้อสอบแบบเลือกคำตอบ (multiple choices) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ข้อสอบปรนัย” ข้อสอบแบบนี้คือตัวทำลายคุณภาพการศึกษาไทยให้ตกต่ำอย่างถึงที่สุด เพราะนักเรียนสามารถทำข้อสอบด้วยการเดาได้ตลอดเวลา ประกอบกับนโยบายแฝงที่ไม่ต้องการให้มีนักเรียนตกซ้ำชั้นโดยให้โอกาสนักเรียนสอบแก้ตัวใหม่ ระยะแรกคุณครูก็ให้สอบแก้ตัวกันจริงๆ นักเรียนบางคนก็ต้องแก้ตัวหลายครั้งจนจบช้ากว่าเพื่อนๆ บ้าง แต่ปัจจุบันทำกันพอเป็นพิธี สุดท้ายก็สอบผ่านได้ไม่ยาก จึงเกิดเป็นระบบการศึกษาแบบ “เป็ดไล่ทุ่ง” คือครูก็ต้อนนักเรียนให้ผ่านทุ่งผ่านดอนไปเรื่อยๆ ส่วนนักเรียนจะมีความรู้ติดตัวไปมากน้อยแค่ไหน ก็สุดแต่บุญนำกรรมแต่ง ผลจากการใช้ข้อสอบแบบเลือกคำตอบและการประเมินผลแบบผ่อนปรนนี้ ได้ปลูกฝังนิสัยไม่ดีให้นักเรียนส่วนใหญ่ จนเกิดเป็นนิสัยประจำตัวไม่เอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียน

Advertisement

3.การยกเลิกสอบอ่านไทย เขียนตามคำบอก เรียงความ ย่อความ และคิดเลขในใจ ทำให้โรงเรียนและคุณครูปล่อยปละละเลยจนนักเรียนอ่าน-เขียนไม่คล่อง คิดเลขไม่เป็นเพราะจำสูตรคูณไม่ได้ แต่ก็เลื่อนชั้นไปได้ตามระบบการประเมินผลในข้อ 2

4.การรับนักเรียนเข้าใหม่ โรงเรียนไม่ค่อยมีการทดสอบความรู้เดิมของนักเรียนอย่างจริงจังทำให้ไม่มีการจัดกลุ่มนักเรียนตามความรู้ที่ติดตัวมา และไม่ให้ความสำคัญกับการสอนปรับพื้นฐานให้นักเรียนที่เรียนอ่อนเท่าที่ควร โรงเรียนส่วนใหญ่จะคัดเฉพาะนักเรียนที่มีความรู้เดิมดีไว้เพียงหนึ่งหรือสองห้อง เป็นนักเรียนห้องคิง ห้องควีน นอกนั้นก็คละกันไปโดยไม่แยกความแตกต่าง และไม่มีการแยกสอนซ่อมเสริมให้นักเรียนที่เรียนอ่อนให้ทันเพื่อน

5.ความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องกิจกรรมนักเรียน (อาทิ กิจกรรมชุมนุม, กิจกรรมลูกเสือ ฯลฯ) และการแนะแนว ที่หลักสูตร พ.ศ.2542 เอาไปรวมกลุ่มกันเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการทำกิจกรรมที่ตนสนใจและถนัด เป็นผลให้นักเรียนขาดภาวะผู้นำ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำงานเป็นทีมหรือเป็นหมู่คณะไม่ได้ ในขณะเดียวกันงานแนะแนวก็เอาแต่จะสอนกิจกรรมแนะแนว โดยละทิ้งบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาส่วนตัวของนักเรียน ทำให้ปัญหานักเรียนที่มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไม่ได้รับการช่วยเหลือ กลายเป็นเด็กแว้นหรืออันธพาลวัยรุ่น หรือเป็นคุณแม่วัยละอ่อน

6.เรื่องครู มีปัญหาสำคัญที่คนเรียนเก่งไม่สนใจเรียนวิชาครู ประกอบกับมีสถาบันผลิตครูจำนวนมาก ทำให้นักเรียนที่จบ ม.6 แต่เรียนไม่ค่อยเก่ง ส่วนมากจะมีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันผลิตครู นักเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทำให้โรงเรียนขาดครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนต้องเปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาดังกล่าวแต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสามารถสมัครครูผู้ช่วยได้

7.การแบ่งส่วนงานภายในโรงเรียนไม่ถูกต้อง เพราะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้โรงเรียนต้องจัดแบ่งส่วนงานภายในเป็นงานวิชาการ งานงบประมาณ งานบริหารงานบุคคล และงานบริหารทั่วไป ตามแบบกระทรวง กรม กอง และเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานประเภทสำนักงาน ที่ทำงานเกี่ยวกับเอกสารเป็นหลัก แต่โรงเรียนเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติซึ่งทำงานบริการนักเรียนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลที่ทำงานบริการผู้ป่วย ทำให้กระบวนการทำงานภายในโรงเรียนไม่มีประสิทธิภาพ

นี่คือปัญหาสำคัญที่เป็นจริงและยังมีอยู่ในโรงเรียนในปัจจุบัน ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน ได้เข้าถึงปัญหาหลายปัญหา และลงมือแก้ปัญหาไปบางส่วนแล้ว เช่น การบรรจุครูผู้ช่วย การกำหนดให้มีการออกข้อสอบแบบอัตนัยบางส่วนและบางชั้น การพัฒนาครูภาษาอังกฤษ แต่ที่สำคัญและต้องคิดหนักก็คือ การจะกลับไปประเมินผลชั้น ม.6 เฉพาะวิชาแกน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษทั่วประเทศด้วยข้อสอบกระทรวงที่เป็นข้อสอบอัตนัยเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำให้การศึกษาของชาติกระเตื้องขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโรงเรียนจะกระตือรือร้นในการพัฒนาโรงเรียนโดยไม่ต้องมีหน่วยงานภายนอกไปประเมิน ส่วนนักเรียนเองก็ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจังเพราะไม่มีโอกาสจะเดาอย่างเดิมอีกแล้ว

ท่านนักวิชาการทั้งหลายโปรดช่วยกันระดมความคิด เสนอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำไปแก้ปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติให้ก้าวหน้าต่อไปด้วยครับ

จารึก อะยะวงศ์
([email protected])
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดพุทธบูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image