ความสัมพันธ์แต่หนหลังที่ดีเยี่ยม ระหว่างทหารผ่านศึกไทยและเวียดนาม โดย : พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2488 โลกได้ถูกแบ่งออกเป็นสองค่าย คือค่ายคอมมิวนิสต์ มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำและค่ายเสรีประชาธิปไตยมีสหรัฐเป็นผู้นำ ค่ายคอมมิวนิสต์มีนโยบายรุกรานและต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ ในโลกให้เป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สหรัฐจึงได้เสนอแผนการมาร์แชล (MARSHALL PLAN) เพื่อบูรณะฟื้นฟูประเทศในยุโรปตะวันตกจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติก หรือ NATO สำหรับช่วยเหลือในทางทหาร ในทวีปเอเชียฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ขยายอิทธิพลด้วยการส่งจารชนและผู้ก่อการร้ายเข้าไปบ่อนทำลายบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาวและไทย เพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และเข้ายึดครองประเทศเหล่านั้นตามอุดมการณ์ของโลกคอมมิวนิสต์

สหรัฐตระหนักดีว่า หากอินโดจีนแพ้สงครามและตกเป็นของคอมมิวนิสต์แล้ว จะนำไปสู่การสูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ตามทฤษฎีโดมิโน (DOMINO THEORY) จึงได้ทุ่มเทความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ สหรัฐจึงเป็นผู้นำในการต่อต้านเวียดนามเหนือ นับตั้งแต่ฝรั่งเศสต่อสู้กับเวียดนามเหนือ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู สหรัฐจึงเข้าไปช่วยเหลือเวียดนามใต้

ในปี พ.ศ.2508 เวียดนามใต้ตกอยู่ในจุดล่อแหลมที่สุด สหรัฐจึงตกลงใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในเวียดนามใต้ พร้อมกับกำลังของฝ่ายโลกเสรีอีกหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สเปน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย การจัดรูปแบบของการรบเป็นไปแบบสงครามจำกัด มุ่งให้เป็นการรบของเวียดนามทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ทหารไทยได้ไปรบเพื่อมิให้ทฤษฎีโดมิโนรุกมาสู่ประเทศไทย

การส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม ในปี พ.ศ.2507 ประธานาธิบดี ตรัน วัน มินห์ แห่งเวียดนามใต้ ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยขอให้ฝึกนักบินรบของกองทัพอากาศเวียดนามใต้ที่ส่งเข้ามาฝึกในประเทศไทย รวม 7 รุ่น รุ่นละ 4 คน เป็น 28 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2509 รัฐบาลเวียดนามใต้ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากไทยเพิ่มเติม โดยขอให้จัดส่งเรือรบไปช่วยปฏิบัติการลำเลียงและเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลให้แก่เวียดนามใต้ และในปีเดียวกันก็ได้ขอกำลังจากกองทัพบกไทยเพื่อช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือ นอกจากรัฐบาลไทยแล้ว เวียดนามใต้ก็ได้ขอร้องทำนองเดียวกันไปยังประเทศฝ่ายโลกเสรีอีกด้วย

Advertisement

ครม.ได้ลงมติอนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นเรียกว่า “กรมทหารอาสาสมัคร” (กรม อสส.) มีภารกิจในการรบเป็นหลัก และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเป็นรอง ถือว่าเป็นกองกำลังทหารไทยหน่วยแรกที่ปฏิบัติการรบในเวียดนามเมื่อ พ.ศ.2510 ได้สมญานามว่า “จงอางศึก” (Queen Cobras Regiment)

หลังจากที่กรมทหารอาสาสมัครเดินทางไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนามเป็นเวลาหนึ่งปี กองทัพบกได้มอบให้คณะกรรมการพิจารณาเตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารอาสาสมัครและเพิ่มเป็นหนึ่งกองพลทหารอาสาสมัคร

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2511 จึงมีคำสั่งจัดตั้ง “กองพลทหารอาสาสมัคร” บรรจุมอบเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี (ปัจจุบันเป็นค่ายสุรสีห์) ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนามเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “กองพลเสือดำ” (Black Panther Division) ทหารไทยได้เข้าไปปฏิบัติการรบถึง 5 ผลัด และเริ่มทยอยถอนทหารกลับเมื่อ พ.ศ.2514 และได้ถอนกำลังกลับหมดสิ้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2516 เป็นการยุติการปฏิบัติการรบของทหารไทยในเวียดนาม และขอบันทึกรายชื่อนายทหารที่เป็นผู้บัญชาการ กกล.ทหารไทยในเวียดนามเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติไว้ ดังนี้ (ยศในขณะนั้น)

ผลัดที่ 1 พลตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ผลัดที่ 2 พลโท ฉลาด หิรัญศิริ

ผลัดที่ 3 พลโท เชวง ยังเจริญ

ผลัดที่ 4 พลโท เสริม ณ นคร

ผลัดที่ 5 พลตรี ทวิช บุญญาวัฒน์

และเมื่อวันที่ 2-5 มีนาคม 2560 พลโท สวัสดิ์ ทัศนา รองผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกพร้อมที่ปรึกษาอีก 4 ท่าน ได้เดินทางไปเยือนสมาคมทหารผ่านศึกเวียดนาม โดยมีที่มาของการเดินทางในครั้งนี้สืบเนื่องจากในการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 16 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งรองผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึกฯ ได้เป็นผู้แทนผู้อำนวยการ เดินทางไปร่วมประชุม เมื่อวันที่ 6-10 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศภาคีสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และประเทศไทย จัดทำโครงการปฏิสัมพันธ์ โดยให้จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ของพนักงานในหน่วยงาน ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาคมทหารผ่านศึกสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้มีหนังสือเรียนเชิญท่านผู้อำนวยการ และคณะ ให้เดินทางไปเยือนสมาคม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างกัน

สำหรับสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียนเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2523 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการกระชับสัมพันธ์อันดีต่อกันในกลุ่มประเทศอาเซียน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเหยื่อสงคราม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดควาเข้าใจอันดี และเกิดความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมสมาพันธ์จะมีการจัดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง โดยประเทศภาคีสมาชิกจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพจัดและมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดการเดินทางในครั้งนี้
คือเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 พล.ท.(อาวุโส) เหงียน แถ่ง กุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนามและคณะ ได้เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกท่านก่อน (พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล) ที่ห้องประชุมหมายเลข 1 อผศ.

การเข้าเยี่ยมคารวะในครั้งนั้น นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์แล้วยังมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อประสานความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจขุดค้นซากบรรพบุรุษ หรือชิ้นส่วนกระดูกทหารเวียดนามที่เสียชีวิตระหว่างสงคราม ซึ่งได้ค้นพบแล้วทั้งหมด 11 ศพ โดยถูกฝังอยู่ ณ สุสานโปร่งเย็น อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีการหารือในการหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมในการส่งกลับชิ้นส่วนกระดูกดังกล่าว รวมทั้งได้เรียนเชิญผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและคณะเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการสมาคมทหารผ่านศึกเวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้น

รองผู้อำนวยการได้นำคณะผู้แทนประกอบด้วย ที่ปรึกษา 4 ท่าน และพนักงานองค์การ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 12 คน เข้าเยี่ยมคารวะ พลโทอาวุโส (นอกราชการ) เหงียน วาน ดุก วีรบุรุษแห่งกองกำลังประชาชนเวียดนามและประธานสมาคมทหารผ่านศึกสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีรองประธานสมาคมจำนวน 3 ท่าน รวมทั้งผู้บริหารส่วนต่างๆ ของสมาคมให้การต้อนรับ มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลการสงเคราะห์ระหว่างกัน

บรรยากาศการพูดคุยเต็มไปด้วยมิตรภาพและไมตรีที่ดีต่อกันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ในส่วนของสมาคมเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชนเพื่อทหารผ่านศึก ด้วยความเห็นชอบของรัฐบาล เมื่อปี 2532 สมาชิกประกอบด้วย ทหารจากกองกำลังปฏิวัติที่จัดตั้งขึ้นก่อน พ.ศ.2488 สมาชิกจากกองกำลังประชาชน กองกำลังประชาชนป้องกันตัวเอง ระบบจัดการของสมาคม แบ่งเป็น 4 ระดับ คือคณะกรรมการบริหารส่วนกลาง/ส่วนจังหวัดหรือมณฑล/ระดับอำเภอ/ระดับหมู่บ้าน

นอกจากนี้สมาคมยังมีกองการเศรษฐกิจของสมาคม ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับหน่วยงานกิจการพิเศษ อผศ.ของไทย โดยจัดตั้งเป็นบริษัท ได้แก่ บริษัทการท่องเที่ยวทหารผ่านศึกเวียดนาม บริษัทก่อสร้าง และบริษัทส่งออกและนำเข้า งบประมาณของสมาคมได้จากเงินจัดสรรจากรัฐบาล ค่าสมาชิก และเงินบริจาค

ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสมาคม คือการดูแล “หมู่บ้านมิตรภาพเวียดนาม” ที่สร้างขึ้นเพื่อให้การดูแลด้านการแพทย์ แก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสารท็อกซินและฝนเหลืองที่สหรัฐอเมริกาใช้ระหว่างสงครามโดยมีการจัดฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้าน และมีการจัดตั้งร้านค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกหมู่บ้าน
ซึ่งเป็นผู้มีความพิการและผิดปกติทางพันธุกรรม

นอกจากนี้ในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ สมาคมยังได้ร้องขอให้องค์การสนับสนุนข้อมูลในการหาศพทหารเวียดนามในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เนื่องจากยังมีทหารผ่านศึกเวียดนามที่ยังสาบสูญอยู่กว่า 3 แสนคน ซึ่งสมาคมมีภารกิจต้องค้นหา รวมทั้งหากมีข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์สิ่งของของทหารผ่านศึกเวียดนาม ที่ต้องการส่งกลับให้กับทายาท ทางสมาคมก็จะยินดีมาก

นอกจากนี้สถานีโทรทัศน์และวิทยุของเวียดนามจะออกอากาศเรื่องราวเกี่ยวกับทหารผ่านศึกเวียดนามทุกสัปดาห์ด้วย

สําหรับในส่วนขององค์การ รองผู้อำนวยการฯ ได้กล่าวถึงรายละเอียดการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ต่างๆ ขององค์การให้สมาคมได้รับทราบ ซึ่งสมาคมมีความชื่นชมในภารกิจขององค์การ นอกจากนี้รองผู้อำนวยการได้เรียนเชิญประธานสมาคมและคณะเดินทางมาเยือนและเยี่ยมชมกิจการขององค์การด้วยทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการพบปะหารือได้มีการมอบของที่ระลึกระหว่างกัน นอกจากนั้นคณะมีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานในสถานที่สำคัญต่างๆ ดังนี้

-พิพิธภัณฑ์ทหารสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงการประกาศอิสรภาพและการรวมชาติของชาวเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงการทำสงครามกับมหาอำนาจฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงภาพถ่าย เครื่องแบบ สิ่งของเครื่องใช้ในช่วงสงครามรวมทั้งมีโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ซึ่งฉายภาพช่วงท้ายๆ ของสงครามเวียดนามอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงซากเครื่องบินทิ้งระเบิด B52 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่สหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในสงครามเวียดนาม

-อีกสถานที่หนึ่ง คือ ร้านโอท็อปของผู้พิการซึ่งได้รับผลกระทบจากสารพิษ ที่นี่จะได้พบกับเด็กๆ ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย มานั่งทำงานประดิษฐ์ เช่น การปักผ้า รวมทั้งมีโอกาสได้ชมสินค้า ซึ่งถือได้ว่ามีฝีมือ และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ประณีต สวยงาม ซึ่งจัดร้านสวยงาม และมีสินค้าเป็นจำนวนมาก

-ไปที่สุสานโฮจิมินห์ หรือสุสานลุงโฮ ซึ่งตั้งอยู่ที่จัตุรัสบาดิงห์ ไปศึกษาบ้านพักโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นบ้านที่ท่านอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 จนวาระสุดท้ายของชีวิต ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งไปศึกษาที่พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ซึ่งจัดแสดงศิลปะและภาพถ่ายประวัติการเดินทางและการกอบกู้ชาติของ
โฮจิมินห์ และเหล่าทหารกู้ชาติในสงครามเวียดนาม จะมีประชาชน นิสิต นักศึกษาไปเข้าเยี่ยมชมกันอย่างหนาแน่นตลอดเวลา

-ได้มีโอกาสไปศึกษาวัฒนธรรม ภูมิประเทศ รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนชาวเวียดนามซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีความขยัน อดทน ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ ไปชมภูมิประเทศท้องถิ่น การประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับทุกคนเพื่อนำมาประยุกต์และพัฒนางานที่ทำอยู่

จากการเดินทางไปเมื่อวันที่ 2-5 มีนาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ทางคณะได้สัมผัสจากการพบปะพูดคุยกับผู้แทนหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนชาวเวียดนาม จะเห็นได้ว่าแม้ว่าในช่วงสงครามเวียดนามประเทศไทยจะส่งกองกำลังทหารไปช่วยอเมริกาทำการรบกับเวียดนาม แต่ในวันนี้ร่องรอยแห่งความบาดหมางจากสงครามไม่มีเหลือแล้ว ทั้งนี้จากการพูดคุยกับประชาชนเวียดนามได้ทราบว่าแม้ในครั้งนั้นประเทศไทยจะมาช่วยสหรัฐอเมริกาทำการรบ แต่ในขณะเดียวกันประชาชนชาวไทยส่วนหนึ่งก็ได้ให้การช่วยเหลือท่านโฮจิมินห์ ซึ่งทำให้ชาวเวียดนามเกิดความซาบซึ้งและไม่รู้สึกโกรธหรือเกลียดประเทศไทยและคนไทยแต่อย่างใด

ในปัจจุบันได้มีนักธุรกิจชาวไทยเข้าไปประกอบธุรกิจในเวียดนาม คนเวียดนามเป็นคนขยัน จะไม่พบคนอ้วนเลยในทุกพื้นที่ มองไปเห็นแต่พืชผลทางการเกษตรเขียวชอุ่มไปตลอดสองข้างทาง และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในดินแดนเวียดนามมากพอสมควร

พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image