คอร์รัปชั่น : เหตุเกิดที่กระทรวงศึกษาธิการ : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2560 มีการรายงานข่าวในหน้าการศึกษาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นซึ่งเกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการพาดหัวข่าวความว่า “ร้องบิ๊ก ร.ร.-เขต พท. ทุจริตอื้อ” จากข่าวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ประเทศไทยถึงแม้กระทั่งอยู่ในยุคของ คสช.และรัฐบาลที่มีนายกนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันการทุจริต แต่กลับพบว่าข้าราชการบางคนหรือผู้ที่ไม่มีความพอเพียงไม่ได้สนใจและเกรงกลัวต่อกฎหมายของบ้านเมือง

สาระสำคัญอันเนื่องมาจากเหตุของการคอร์รัปชั่นซึ่งเกิดขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการนั้นเพราะ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองประธานคณะกรรมการอำนวยการการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แฉว่ามีผู้ร้องเรียนปัญหาการทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นข้อร้องเรียนการทุจริตของผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีหลายประเด็น

ประเด็นการคอร์รัปชั่นที่ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนในสังกัด ศธ.บางคนบางกลุ่มกัดกินเม็ดเงินและสิ่งของอีกสารพัดในการได้มาซึ่งความไม่ชอบธรรม มาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งอันที่จริงการทุจริตใช่ว่าในกระทรวงศึกษาธิการจะเกิดเฉพาะในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาเท่านั้น ในความเป็นจริงการทุจริตที่เป็นการกระทำด้วยความตั้งใจหรือวิธีการในการได้มาด้วยความไม่โปร่งใสนั้น ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรมองข้ามสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพราะที่นั่นเป็นสังคมอุดมปัญญาและเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาอันเป็นเลิศ คนบางกลุ่มในสถาบันเหล่านั้นได้อาศัยช่องทางเพื่อการได้มาซึ่งเข้าข่ายการคอร์รัปชั่นและประพฤติผิดระเบียบตลอดจนกฎเกณฑ์ที่หลากหลาย

ที่น่าเจ็บปวดเมื่อกล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดหรือมีเหตุอันเนื่องมาจากคนในแวดวงการศึกษานั้น ในความเป็นจริงผู้ที่เป็นคนในกระทรวงศึกษาธิการไม่ว่าตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ สังคมจะมองว่าคนในวงการนี้เป็นผู้ที่มีต้นทุนทางสังคม มีการศึกษาสูง และน่าจะเป็นต้นแบบในการเป็นข้าของแผ่นดินที่ดี มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง กระทรวงก็น่าจะเป็นต้นแบบในการเป็นองค์กรสีขาวปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

Advertisement

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาเชิงวิชาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เรื่อง “คอร์รัปชั่นหายนะประเทศไทย” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ตอนหนึ่งว่า ยืนยันว่าการคอร์รัปชั่นเป็นการปล้นชาติ ซึ่งตนเสนอว่าการต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะต้องเริ่มจากเด็ก ผู้ใหญ่จะต้องทำเป็นตัวอย่างทุกคนในชาติต้องร่วมมือกัน เราไม่มีมาตรวัดความโกง ความร่วมมือ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องช่วยคิดหาวิธีให้คนไทยมองว่าการโกงไม่ใช่เรื่องไกลตัวและคนเราเกิดมาต้องตอบแทนแผ่นดิน”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้นำทุกยุคต่างให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เคยเหือดหายและหมดไปจากสังคมโดยเฉพาะในสังคมข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการในสังกัดใดกระทรวงไหนก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติ เป็นผู้ที่อุทิศตนทุ่มเทการทำงานเพื่อตอบแทนแผ่นดินเกิด แต่ในทางกลับกันข้าราชการจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่รู้ดี รู้ชั่ว แต่กลับกระทำความผิดฉ้อฉลแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ของผู้คนและแผ่นดิน ไม่ดำรงตนให้อยู่บนความพอเพียง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้นำประเทศมือสะอาดไม่มีนอกไม่มีใน ปฏิบัติตนเป็นต้นแบบและมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในโอกาสต่างๆ อยู่เนืองๆ เช่นในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล วันที่ 9 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ทุกคนทราบดีว่าอะไรคือผลเสียแต่ยังแก้ไม่ได้มากนัก ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากที่รายได้ของทุกคนแตกต่างกัน และหากทุกคนยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือมีน้อยใช้น้อยอยู่อย่างพอเพียงก็จะไม่เกิดปัญหา ดังนั้น เราต้องสร้างหลัก 3 ประการ คือ ทำอย่างไรไม่ให้ไปร่วมมือกันทุจริต ทำอย่างไรให้ครอบครัวอยู่ได้ และทำอย่างไรที่จะพัฒนาตัวเองให้มีรายได้สูงขึ้น”

และกล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูปและผมไม่ต้องการให้เกิดการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม หากมีรายงานขึ้นมาผมจะดำเนินการสอบติดตามเอาติดคุกให้ได้”

จากปัญหาการคอร์รัปชั่นในวงการการศึกษาไทยนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข รวมทั้งสืบค้นถึงเหตุและต้นตอของการก่อเกิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย และผลการวิจัยปรากฏว่า ในหลายปีที่ผ่านมาพบมีข้าราชการถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตอันดับหนึ่งคือข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมาอันดับสอง ปรากฏการณ์ดังกล่าวยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ในวงการศึกษาไทยนั้นเกิดพฤติกรรมการคอร์รัปชั่นของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย เรื่อง คอร์รัปชั่นในวงการการศึกษาของไทยกรณีศึกษาในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดย รัตนะ บัวสนธ์

ซึ่งในรายงานการวิจัยฉบับนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามในประเด็นที่เป็นความหมายของการกระทำที่นำไปสู่ช่องทางของการคอร์รัปชั่นนั้น จะปรากฏช่องทาง 4 ประการ ประกอบด้วย 1.การรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนเนื่องมาจากการอนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้าง หรือประกวดราคา วัสดุ ครุภัณฑ์ทางการศึกษาเพื่อสร้างรายได้ส่วนตัว 2.ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์จากส่วนราชการเช่น การอนุมัติไปราชการ การเบิกจ่ายต่างๆ และการบรรจุแต่งตั้ง 3.การอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างหรือประกวดราคาวัสดุครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างโดยเอื้อประโยชน์เฉพาะราย และ 4.ใช้สิ่งของวัสดุ ครุภัณฑ์ของส่วนราชการในการทำงานส่วนตัว

การศึกษาวิจัยเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลว่าด้วยการคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษานั้น สอดคล้องกับการรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักโพลไอเอฟดีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 พบว่าประชาชนระบุว่าระบบการศึกษาไทยมีการคอร์รัปชั่นที่ระดับคะแนน 6.75 จากคะแนนเต็ม 10 ต่อข้อถามที่ว่ามีการคอร์รัปชั่นในวงการศึกษาระดับใดมากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ในแวดวงมหาวิทยาลัยมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด รองลงมาคืออาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐานตามลำดับ เมื่อถามว่าเกี่ยวกับความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการการศึกษาไทยได้มากน้อยเพียงใด พบว่าประชาชนให้คะแนนเพียง 6.86 แสดงนัยยะว่าประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษาได้ ในโพลดังกล่าวประชาชนเสนอแนะในการแก้ปัญหาประกอบด้วย แก้ไขบทลงโทษสถานหนักแก่ผู้ทุจริต ตามด้วยแก้กฎหมายให้ภาคประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการทุจริตในสถานศึกษา, เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังและรวดเร็ว ฯลฯ

ที่น่าสนใจโพลดังกล่าวประชาชนมีความกังวลต่อการคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นในระดับมหาวิทยาลัยและเสนอให้ใช้มาตรา 44 ในการจัดการแก้ปัญหา ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะปัญหาธรรมาภิบาลอันเกิดมาจากผู้บริหารบางมหาวิทยาลัยขาดการให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล หรือถ้าจะแสดงให้สาธารณะหรือประชาคมได้เห็นกับคำว่าธรรมาภิบาล ก็เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในงานมอบรางวัล “กำพล วัชรพล” ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความโปร่งในกระทรวงฯตอนหนึ่งว่า “ให้ความสำคัญกับการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งกระทรวงศึกษาธิการติดแชมป์โกงอันดับ 3 จากการติดตามเรื่องร้องเรียนทุจริตของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการในยุคของตนต้องโปร่งใส ไม่กินตามน้ำ ไม่มีค่าคอมมิสชั่น ไม่รับเงินใต้โต๊ะ บนโต๊ะหรือหลังบ้านอย่าขโมยเงินเด็ก เงินงบประมาณ 100 บาท จะต้องถึงมือเด็กครบทั้ง 100 บาท ไม่หล่นกลางทาง ที่สำคัญต้องสอนเด็กให้เกลียดโกง ตั้งแต่เด็ก”

จากการให้ความสำคัญของรัฐมนตรีว่าฯต่อการสร้างความโปร่งใสในกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น เพื่อให้ความปรารถนาของรัฐมนตรีสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้ คงถึงเวลาแล้วที่ชาวเสมาทั้งมวลต้องร่วมรู้ร่วมคิด และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขับเคลื่อนเพื่อสกัดกั้นการคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษา

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image