เซตซีโร่ สังเวยปฏิรูป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. ….. เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยบัญญัติหลักการให้ประธานและคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยังทำหน้าที่อยู่ขณะนี้ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ

สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในขั้นตอนการพิจารณากรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้ประธานและกรรมการการเลือกตั้งทั้งที่มีคุณสมบัติครบหรือไม่ครบตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดทันทีที่ พ.ร.บ.ประกาศใช้บังคับ แม้ว่าจะให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ใหม่ก็ตาม โดยมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยคัดค้านเพราะเห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อประธานและกรรมการการเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและได้รับการสรรหาเข้ามาตามกฎหมายฉบับเดิมอย่างถูกต้อง

ที่สำคัญขัดกับหลักการบัญญัติกฎหมายที่ยึดถือปฏิบัติกันมา ไม่ควรมีผลย้อนหลัง เป็นโทษกับผู้ที่ถูกบังคับใช้ ยกเว้นแต่จะเป็นคุณ แต่ก็ไม่สามารถโน้มน้าวหักล้างเหตุผลของกรรมาธิการเสียงข้างมากได้

เพราะแม้กระทั่งกรรมาธิการที่มาจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ยังเปลี่ยนความคิด ไม่ยืนหยัด ยืนยันหลักการเดิม กลับเห็นพ้องกับฝ่ายเสียงข้างมากที่ให้เซตซีโร่ กกต.ทั้งชุดทันที..

Advertisement

เมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกปรับแก้ไขนำเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง สาม ของ สนช. มีสมาชิกจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นคัดค้านอย่างร้อนแรง ตรงไปตรงมา ว่ากรรมการการเลือกตั้งที่เข้ามาอย่างถูกต้อง หากต้องโดนยุบทิ้งไปทั้งหมดทันทีจะเป็นการไม่ยุติธรรม เป็นการปฏิบัติที่ขัดหลักการบัญญัติกฎหมาย เข้าข่ายกลั่นแกล้งรังแกกัน และอาจทำให้เกิดบรรทัดฐาน สองมาตรฐาน จัดการเฉพาะฝ่ายที่ไม่ใช่พวกเราหรือไม่

ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่า การเซตซีโร่ไม่ได้เกิดจากปัญหาตัวบุคคล โกรธใคร หรือรักใคร ใครได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์แต่เพื่อประโยชน์ประเทศชาติ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปทุกด้าน เพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ

ถึงขั้นตอนสุดท้ายการลงมติวาระ 3 ที่ประชุม สนช.เห็นชอบร่างดังกล่าวตามการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก 177 เสียง ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5

Advertisement

ขั้นตอนต่อไป ต้องส่งร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาว่าจะทำความเห็นแย้งในข้อกฎหมายกลับมาหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน จาก สนช. 5 คน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน และกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ใช้เวลาพิจารณา 25 วัน ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.ลงมติอีกครั้ง

ครับ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรรมการการเลือกตั้งจะทำความเห็นแย้งกลับหรือไม่ก็ตาม

การลงมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไข ภายใต้เหตุผลเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเป็นเจตนารมณ์ใหญ่นั้น มีประเด็นให้น่าขบคิดพิจารณา วิเคราะห์อย่างน้อยสองด้าน คือ ด้านหลักการบัญญัติกฎหมาย กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโรดแมปการเลือกตั้งที่ให้สัญญาไว้กับปวงชนชาวไทยและประชาคมโลกหรือไม่..

ด้านการบัญญัติกฎหมายภายใต้หลักการความยุติธรรม ความถูกต้องที่ยึดถือกันมากับหลักการการปฏิรูป ควรเดินไปด้วยกันหรือไม่
ปฏิรูปต้องเป็นไปภายใต้ความถูกต้องเป็นธรรม หรือเพื่อให้เกิดการปฏิรูป ไม่จำเป็นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องยุติธรรม ขอเพียงให้การปฏิรูปบรรลุเป้าหมายที่ผู้มีอำนาจต้องการเท่านั้น ส่วนวิธีการจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ไม่สำคัญ

ฝ่ายประกาศหลักการปฏิรูป อาจอ้างได้ว่าเพื่อความเป็นธรรมกับคนส่วนใหญ่ สังคมส่วนรวม คนส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ ถูกเซตซีโร่ต้องเสียสละยอมรับ แต่มีหลักประกันอะไรยืนยัน พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ฝ่ายยึดหลักปฏิรูป คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาจะมีประสิทธิภาพ ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมยิ่งกว่าที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายที่ถูกกระทำด้วยความไม่ยุติธรรมต้องรับผลแห่งอำนาจที่มากกว่าไปแล้วโดยไม่ได้ทำผิดอะไร

วิธีการปฏิรูป กลไก กระบวนการที่คิดขึ้นใหม่ จนถึงผลของการปฏิรูปที่นำขึ้นมาอ้างเพื่อเซตซีโร่จึงเป็นเรื่องของจินตนาการ ความเชื่อว่าความคิด ความหวังดีของตนถูกต้องกว่าอีกฟากความคิดหนึ่งเท่านั้นเอง

ผลการตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายที่ปรากฏออกมา แม้ว่าจะมีฝ่ายคัดค้านที่มีน้ำหนัก มีเหตุผลน่ารับฟัง ก็ไม่อาจฝ่าด่านเสียงส่วนใหญ่ไปได้ จึงเป็นภาพสะท้อนสภาที่มาจากอำนาจพิเศษ การคุ้มครอง พิทักษ์รักษาหลักการความยุติธรรมจึงทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

ผลที่ออกมาเช่นนี้ จะส่งต่อไปให้หลักการเพื่อการปฏิรูปกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นคาถาสำเร็จรูป ที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่า มีช่องทางการแต่งตั้ง สรรหา โดยคุมจำนวนมือได้มากกว่า นำมาเป็นข้ออ้าง ยกเลิก ล้มกระดาน เซตซีโร่ ยุทธศาสตร์ทั้งหลาย และกลไก กระบวนการปฏิรูปทั้งปวง ด้วยความชอบธรรม จะนำไปสุู่ความขัดแย้งยิ่งขึ้นหรือไม่

แม้แม่น้ำห้าสายจะเขียนกติกา กลไก กระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกต่างๆ เป็นกับดัก สกัดกั้นไว้ล่วงหน้ามากมายแล้วก็ตาม

ประเด็นจึงอยุ่ที่ว่า ใครมีอำนาจ ยุคของใคร ก็เท่านั้นเอง..

 

สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image