พม่ายุคก่อนและหลังออง ซาน ซูจี (2) โดย : ลลิตา หาญวงษ์

นอกจากบทบาททางการเมือง ออง ซาน ซูจี ยังเป็นนักพูดที่ตรึงชาวพม่าทุกชนชั้นไว้ด้วยกัน

เมื่อสัปดาห์ก่อนเราได้กล่าวถึงภูมิหลังและชีวิตของออง ซาน ซูจี หรือ “ด่อ ซุ้” ก่อนที่เธอจะเข้าสู่ถนนสายการเมืองอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) พร้อมกับลั่นกลองเพื่อประจัญบานกับเผด็จการทหารอย่างเต็มรูปแบบผ่านขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและพรรคเอ็นแอลดีที่เธอร่วมก่อตั้งมากับมือ น้อยคนนักที่จะทราบบทบาทของเธอในฐานะนักคิดและนักเขียน บทบาทอันโดดเด่นหาตัวจับได้ยากของออง ซาน ซูจี ในฐานะผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเธอเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของนายพลออง ซาน บิดาของพม่าสมัยใหม่เพียงเท่านั้น แต่เธอยังเป็นนักคิดและนักเขียน หรือเป็นนักพูดต่อหน้าสาธารณชนที่เก่งกาจด้วย หลายต่อหลายครั้งที่สุนทรพจน์ของเธอถูกนำไปอ้างอิงถึง เราคุ้นเคยเธอจากคำพูดติดปากหลายประโยคโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความกลัว (หวาดกลัวเผด็จการทหาร) เช่น “คุกที่แท้จริงคือความกลัว และเสรีภาพที่แท้จริงย่อมเป็นเสรีภาพจากความกลัว” และ “ความกลัวต่างหากที่เป็นสิ่งเลวร้าย หาใช่อำนาจไม่ ความกลัวการสูญเสียอำนาจต่างหากที่ทำลายคนที่ใช้มัน (อำนาจ) และความกลัวหายนะจากอำนาจต่างหากที่ทำลายคนที่อยู่ภายใต้มัน (อำนาจ)”

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจี เป็นที่รู้จักในฐานะนักคิดและนักเขียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และเหนือสิ่งอื่นใดคือผู้เผยแพร่แนวทางอหิงสาตามแบบของมหาตมะ คานธี แนวคิดที่ทำให้เธอมีสถานะเป็นมากกว่านักการเมืองทั่วๆ ไป หรือมีสถานะประหนึ่ง “ซุปเปอร์สตาร์” สำหรับชาวพม่า คือการที่เธอเป็นนักคิดนี่เอง มีผู้กล่าวว่าคนพม่าทุกคนเกิดมาเป็นนักเขียน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมพม่าแม้การศึกษาสมัยใหม่จะหยุดนิ่งมานานและถูกกดขี่อย่างหนักภายใต้ระบอบเผด็จการทหารโดยเฉพาะหลังปี 1988 แต่วัฒนธรรมการอ่านฝังรากลึกในสังคมพม่า ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ในไทยลดความสำคัญลงเรื่อยๆ มีนิตยสารหลายเล่มที่ปิดตัวลงไปเพราะพฤติกรรมผู้อ่านที่เปลี่ยนไปในยุคของโซเชียลมีเดีย แต่สื่อสิ่งพิมพ์ในพม่ากลับเจริญขึ้น มีหนังสือพิมพ์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดหลังพม่าเริ่มเปิดประเทศในปี 2010 (พ.ศ.2553) และแม้โซเชียลมีเดียจะเติบโตในพม่าอย่างมาก แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังไม่ลดความสำคัญลง การเป็นหนอนหนังสือของชาวพม่า และการติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด ทำให้คนในสังคมนี้ไม่ได้รู้จักออง ซาน ซูจี ในฐานะนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ยังรู้จักเธอผ่านแนวคิดและปรัชญาของเธอด้วย

แนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างมากของออง ซาน ซูจี คือแนวคิดว่าด้วย “เสรีภาพจากความกลัว” (freedom from fear) เธอกล่าวถึงแนวคิดนี้เป็นครั้งแรกในปี 1991 (พ.ศ.2534) ภายหลังเธอถูกควบคุมตัวในบ้านพักแล้ว บทความเรื่องเสรีภาพจากความกลัวถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในไทย (โดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์) ความโดดเด่นของบทความนี้อยู่ที่การประยุกต์ใช้หลักธรรมในพุทธศาสนาเข้ามาอธิบายการต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการทหารอย่างสันติ เธออ้างถึงความกลัวว่าเป็นหนึ่งในอคติ 4 หรือสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติทั้งสี่ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ อคติอันหลังสุดนี้ทำลายความถูกต้องและชอบธรรมทั้งหมด และเป็นพื้นฐานให้เกิดอคติอีก 3 ชนิด ความกลัวที่ออง ซาน ซูจี เกรงเป็นพิเศษคือการที่ชาวพม่ากลัวอำนาจมืดและกลัวการพูดความจริง (ว่าเผด็จการเป็นสิ่งชั่วร้ายและต้องร่วมกำจัดออกไป) ออง ซาน ซูจี กล่าวถึงเหตุการณ์ประท้วงในเหตุการณ์ 8888 ซึ่งเกิดจากนักศึกษาที่ไม่พอใจระบบเส้นสายและการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลทหาร ชาวพม่าทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้นเริ่มเห็นอกเห็นใจนักศึกษา ลดละความกลัวของตัวเอง และออกมาเดินขบวนประท้วงช่วยนักศึกษา บ้างช่วยส่งเสบียงและตะโกนโห่ร้องสนับสนุนนักศึกษาและประณามรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้ข้าวยากหมากแพงในปี 1988

Advertisement

การประท้วงในครั้งนั้นจึงขยายออกในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เผด็จการทหารยึดอำนาจใน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505)

ออง ซาน ซูจี กระตุ้นว่าการประท้วงเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมืองเพื่อก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุแต่เพียงด้านเดียวนั้นไม่พอและจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่การเปลี่ยนแปลงหรือที่เธอใช้ว่า “การปฏิวัติ” เพื่อโค่นล้มอำนาจเก่ามิใช่การกล่าวอ้างหลักการประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิมนุษยชน และการอ้างเสรีภาพแบบลอยๆ เท่านั้น แต่กระบวนการนี้ต้องการความมุ่งมั่นและการรักษาหลักการ คนที่เด็ดเดี่ยวพร้อมกับหลักการนี้เองที่จะเป็นคนที่ชี้นำสังคมในยุคหลังเผด็จการล่มสลายไปแล้ว

นอกจากหลักการว่าด้วยอคติของเธอแล้ว อีกหลักการหนึ่งที่เราจะเห็นเธอกล่าวถึงหลายครั้งคือหลักอภัย (Abhaya) หรือการปราศจากความกลัวทั้งหลาย ความไม่กลัวนี้มาพร้อมกับความกล้าหาญทางจิตวิญญาณ และความพยายามที่จะไม่ยอมให้ความกลัวเข้ามาครอบงำจิตใจ

Advertisement
หนังสือ Abhaya ของ James Mackay ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลักอภัยที่ออง ซาน ซูจี นำมากล่าวถึงบ่อยครั้ง

แม้ออง ซาน ซูจี จะเป็นบุคคลสำคัญระดับโลกคนหนึ่ง แต่มีงานศึกษาที่วิเคราะห์บทบาทของเธอออกมาไม่มากนัก งานเขียนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเธอคือการให้ภาพเธอว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยอันไร้ที่ติ หรือไม่ก็เป็นงานของนักหนังสือพิมพ์ที่ให้มุมมองแบบกว้างๆ แต่มีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของกุสตาฟ เฮาท์มัน (Gustaaf Houtman) นักมานุษยวิทยาชาวดัตช์ ที่ศึกษาบทบาททางการเมืองของออง ซาน ซูจี ในมุมมองของพุทธศาสนา ในงานชิ้นสำคัญชื่อ Mental Culture in Burmese Crisis Politics: Aung San Suu Kyi and the National League for Democracy หรือ “หลักวิปัสสนาในวิกฤตทางการเมืองพม่า:ออง ซาน ซูจีและพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย” นี้(ตีพิมพ์ ค.ศ.1999/พ.ศ.2542) เฮาท์มันเสนอว่าออง ซาน ซูจี ได้นำหลักธรรมแบบพุทธเข้ามาผสมผสานกับแคมเปญทางการเมืองของเธอ การอ้างถึงหลักการของพุทธศาสนาอีกหลายประเด็น นอกเหนือจากอคติ 4 และหลักอภัย ทั้งเมตตา กรุณา บารมี วิปัสสนา นิพพาน ฯลฯ ทำให้ออง ซาน ซูจี กลายเป็น “ไอดอล” (personality cult) หรือเป็นสีขาว ที่มักถูกนำไปเปรียบกับรัฐบาลเผด็จการที่เป็นสีดำ

นอกจากหลักการแบบพุทธที่ออง ซาน ซูจี นำมาใช้แล้ว ความสำเร็จของเธอในฐานะ “ไอดอล” ยังมาจากความเชื่อเรื่องผีของชาวพม่าที่มักนำเธอไปเปรียบเทียบกับ “นัต” (ผีหรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของคนพม่า) ถึงขนาดที่มีคนเปรียบเธอเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็น “นัต” แห่งประชาธิปไตย

แต่ไม่ว่าเธอจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับอะไร หรือยกสถานะเป็นนางฟ้าจากสวรรค์ชั้นใด เธอก็ได้กลายเป็นขวัญใจมหาชนไปแล้ว และยากที่จะลบล้างภาพนี้ออกไปจากความทรงจำของชาวพม่า

การผสมผสานหลักธรรมเชิงพุทธ ที่พึ่งทางจิตวิญญาณแบบผี และบุคลิกความเป็นผู้นำของอองซาน ซูจี เข้าไว้ด้วยกันทำให้ออง ซาน ซูจี มีสถานะประหนึ่งบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องและวิพากษ์วิจารณ์มิได้ และในปัจจุบันก็มีนักหนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไปที่ถูกดำเนินคดีเพราะหมิ่นประมาทออง ซาน ซูจี แล้วหลายคน

ในอนาคตการหาผู้นำของพรรคเอ็นแอลดี และของพม่าที่จะมีบุญญาธิการเทียบเท่ากับเธอคงเป็นการยาก ผู้เขียนมั่นใจเหลือเกินว่าการเมืองพม่าในยุคหลังออง ซาน ซูจี จะเป็นการเมืองที่จืดชืดไร้สีสัน ไม่ใช่เพราะขาดนักการเมืองที่มีความสามารถ แต่เป็นเพราะการเมืองพม่าจะขาด “ไอดอล” ที่เป็นทั้งผู้นำในเชิงประชาธิปไตยและจิตวิญญาณนี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image