มากกว่ารู้หนังสือคือต้องรู้อินเตอร์เน็ต : Internet Awesome กับความจำเป็นของการเรียนเรื่อง‘ออนไลน์’

digital composite of business graphics with office background

ทําไมต้องเรียนอินเตอร์เน็ตในเมื่อใครๆ ก็ใช้อินเตอร์เน็ตกันเหมือนเป็นธรรมชาติที่สองของชีวิตอยู่แล้ว นี่อาจเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจคุณ แต่ปัญหาก็คือ “การใช้อย่างเป็นธรรมชาติ” ผ่านการลองผิดลองถูก ที่บางครั้งก็ต้องรอให้ “ผิด” จนเกินแก้ (หรือผิดสะสมจนทำให้ความรู้ความคิดบางเรื่องบิดเบี้ยวไป) นี่เอง ที่เป็นเหตุผลที่หลายแห่งในโลกริเริ่มคอร์สเรียนเกี่ยวกับ Digital Literacy ขึ้นมา

คุณอาจเคยผ่านตาว่ามีใครสักคนบ่นในพันทิปว่า “ถูกไล่ออกเพราะโพสต์เรื่องงานลงเฟซบุ๊ก” และคุณอาจส่ายหัวช้าๆ เมื่อรู้ว่ามีญาติบางคนที่ไปหลงเชื่อซื้อของแล้วโดนหลอกทางไลน์ บางคนโอนเงินไปให้ผู้ไม่ประสงค์ดีโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ เป็นคดีให้มาตามล้างตามเช็ดกันภายหลัง ยังไม่นับการที่โลกนี้คลาคล่ำไปด้วย “ข่าวลวง” ที่ถูกใช้เป็นชื่อปรากฏการณ์ ฮิตจนถูกบิดความหมายทั้งซ้ายขวา กลายเป็นชื่อเรียกข่าวอะไรก็ได้ที่ตัวเองไม่ชอบ

แล้วยังไม่นับ “พวกเกรียน” ที่พร้อมจะทำลายใครก็ตามที่เข้ามาในระยะยิงอีก

คำว่า Digital Literacy นั้น โดยทั่วไปแล้วจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล” แต่ครั้งหนึ่ง คนทำงานจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต เคยเสนอไว้ว่า น่าจะใช้คำว่า “การอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล” มากกว่า เพราะเพียง “รู้เท่าทัน” เท่านั้นยังไม่พอ (มันเป็นคำที่วางพลเมืองเน็ตไว้ในฐานะผู้รับสารมากเกินไป) แต่ยังต้องรู้มากขนาดที่จะต้องสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตนเองด้วย

Advertisement

Aharon Aviram และ Yoram Eshet-Alkalai นักวิชาการด้านเทคโนโลยีจากอิสราเอลเคยเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า การอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัลอาจแบ่งออกได้เป็นห้าด้านย่อยๆ (ซึ่งยิ่งทำให้เราเห็นความจำเป็นของการแปลคำว่า Literacy ว่า “อ่านออกเขียนได้” ไม่ใช่แค่ “รู้เท่าทัน”) คือ

การอ่านออกเขียนได้ทางด้านทัศนภาพ (Photo-visual Literacy) เป็นความสามารถทางด้านการประมวลผลข้อมูล จากการอ่านภาพ (เช่น อินโฟกราฟิก วิดีโอ หรืออินเตอร์เฟซ เพราะสื่อดิจิทัลไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ)
การอ่านออกเขียนได้ในการผลิตซ้ำ (Repro duction Literacy) เป็นความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างงานชิ้นใหม่ หรือผสมผสานงานของคนอื่น จนเป็นงานชิ้นใหม่ ที่สามารถเรียกได้ว่า “ของตนเอง” ขึ้นมาได้

การอ่านออกเขียนได้ทางด้านการรับหลายสื่อ (Branching Literacy) เพราะสื่อดิจิทัลไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรง เราไม่ได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เราอ่านแบบกระโดดไปกระโดดมา ความสามารถในการอ่านบางส่วน แล้วสลับไปสนใจอย่างอื่น ก่อนจะสลับกลับมาสนใจเรื่องเดิม อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า navigate หรือ “นำทาง” (ไม่หลงทาง) จึงมีความสำคัญ

Advertisement

การอ่านออกเขียนได้ทางด้านข้อมูล (Information Literacy) เป็นความสามารถในการค้นหา วิเคราะห์ และประเมินข้อมูลที่พบทั้งในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ

และสุดท้าย คือการอ่านออกเขียนได้ทางด้านอารมณ์และสังคม (Socio-emotional Literacy) คือความสามารถในการควบคุมและอ่านอารมณ์ของสถานะออนไลน์ ทั้งในด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการเสพสื่อ

จะเห็นว่าทั้งห้าด้านกินความหมายไปมากกว่าแค่เพียง “การรู้เท่าทันสื่อ” เท่านั้น

การปลูกฝังเรื่องความสามารถอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัลนั้นต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ต่างจาก
การฝึกทักษะการอ่านเขียนหนังสือ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตด้วย “ธรรมชาติที่สอง” ที่จะติดตัวพวกเขาไปในอนาคต ในตอนนี้ บริษัทอย่าง กูเกิล ก็เห็นความสำคัญของการศึกษาด้านนี้มากขึ้น เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเขาออกโปรแกรมการเรียนรู้ชื่อ “เป็นคนเจ๋งอินเตอร์เน็ต” (Be Internet Awesome) เพื่อให้เด็กๆ ที่มีเวลาหยุดเรียนในช่วงซัมเมอร์ หันมาเรียนรู้ทักษะด้านการใช้อินเตอร์เน็ตให้ “เป็น” มากกว่าแค่ “ใช้” เฉยๆ

โปรแกรม Be Internet Awesome มีเป้าหมายห้าด้านคือ อยากให้เด็กๆ แชร์เนื้อหาด้วยความระมัดระวัง (Share with care) ไม่เชื่อข่าวลวงและข้อมูลปลอม (Don’t fall for fake) รู้จักรักษาข้อมูลส่วนตัว (Secure your secrets) ไม่ใช้อารมณ์ก้าวร้าวบนโซเชียลมีเดีย (It’s cool to be kind) และกล้าหาญพอที่จะสื่อความคิดของตน (When in doubt, talk it out.)

โปรแกรมการเรียนรู้นี้แบ่งออกเป็นสามส่วน ทั้งสำหรับเด็กๆ ผ่านเกมชื่อ Interland ที่ให้ผู้เล่น
ผจญภัย ต่อสู้กับแฮกเกอร์ พวกตกเหยื่อ (Phishers) คนที่ชอบแชร์มากเกินไป (Oversharers) และพวกขี้รังแกผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้พวกเขาพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการอยู่บนโลกออนไลน์, สำหรับนักการศึกษาเช่นครูอาจารย์ ผ่านตารางและคำแนะนำในการเรียนการสอน, และสำหรับผู้ปกครอง ผ่านคำแนะนำว่าจะเริ่มพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับเด็กๆ อย่างไร

ในโลกที่สื่อออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ (และโดยส่วนตัว ก็ไม่คิดว่าต้องหลีกเลี่ยงอะไร) การมองอินเตอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลให้เป็นโอกาส ผ่านทางการเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน และการปลูกฝังทัศนคติที่ดี ที่มีเหตุผล น่าจะเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องใช้นโยบาย “อินเตอร์เน็ตไม่ดี อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน” “ห้ามลูกเล่นอินเตอร์เน็ตจนกว่าจะเป็นวัยรุ่น” หรือ “เตือนภัยประชาชนอย่าหลงเชื่อสื่อออนไลน์” โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าอะไรที่เชื่อได้ เชื่อไม่ได้ เพราะอะไร เพราะคนออกนโยบายก็อาจไม่มีทักษะเหล่านี้ อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image