การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า มองเทศมองไทย : โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ที่อินเดีย

ราคาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำกว่าที่ใช้ถ่านหินผลิตถึงประมาณร้อยละ 20

จึงคาดการณ์กันว่าภายใน 10 ปี อินเดียจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ฟอสซิลได้ถึงร้อยละ 60 ของความต้องการในประเทศทั้งหมด

ทำไมจึงมีการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมากมายที่อินเดีย นักวิเคราะห์บอกว่า เพราะขณะนี้ “นโยบายรัฐบาลโปร่งใสในเรื่องนี้แน่นอนและยืนยาว แถมนายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงพลังงานยังให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่”

Advertisement

ซึ่งเมื่อสิบปีที่แล้วนี้เองที่อินเดียเหมือนกับไทยเลยตรงที่ผู้วางแผนด้านพลังงานยังบอกว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกเพื่อให้มีไฟฟ้าสำรองที่พอเพียงกับความต้องการ แต่ตอนนี้ได้ยกเลิกแผนเหล่านั้นหมดแล้ว และยังได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าของโครงการที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่ถูกยกเลิกไป

รัฐบาลบอกว่าเสียใจจริงที่ไม่ได้ยกเลิกเร็วกว่านี้ แต่ผู้วางแผนของไทยยังเหมือนกับที่อินเดียเมื่อสิบปีที่แล้ว

จีน

Advertisement

ขณะนี้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด แต่ สี จิ้นผิง วางแผนให้เพิ่มเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2563

เมืองผู้ดีที่อังกฤษ

อังกฤษขึ้นชื่อว่าอากาศเลวร้ายตลอดปี และแสงแดดเป็นของหายาก แต่บางวันในช่วงหน้าร้อนเดือนพฤษภาคมปี 2560 ชาวอังกฤษได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึงร้อยละ 24 ของความต้องการทั้งหมด ซึ่งมากกว่าที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์เสียอีก และหลายปีมาแล้วที่ชาวอังกฤษได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงหน้าร้อนมากกว่าที่ผลิตจากถ่านหิน เป็นที่ชัดเจนว่าพลังงานจากแสงอาทิตย์จะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนการผลิตที่ลดลงอยู่ตลอดเวลา สำหรับนักลงทุนแล้วนี่เป็นช่องทางทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญด้วย

แม้จะมีปัญหาว่าแดดที่อังกฤษผลุบๆ โผล่ๆ หุบเข้าหุบออกตามสมควร แต่ผู้จัดการโครงข่ายไฟฟ้าเมืองผู้ดีบอกว่า “เราวางแผนได้นะ เราจัดการความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ เรามีเครื่องมือพร้อมที่จะสร้างสมดุลระหว่างปริมาณไฟฟ้าและความต้องการใช้”

ที่เมืองไทยผู้วางนโยบายพลังงานยังพร่ำว่าพลังงานทดแทนจากแสงแดดและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ นั้นยากที่จะใช้และมีความไม่แน่นอนสูงแต่ประเทศอื่นๆ กลับจัดการได้?

ต้นทุนการเก็บพลังงานจากแสงแดดไว้ในแบตเตอรี่ยังสูงอยู่ข้อนี้ไม่เถียงแต่ก็ได้ลดลงมาถึงร้อยละ 75 ภายใน 5 ปีนี้ และคาดกันว่าจะลดลงจนไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปภายใน 2-3 ปี

ปัญหาสำคัญในกรณีของไทยคือ มีกฎเกณฑ์มากมายเกินไป และนโยบายมีความไม่แน่นอนสูง

ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกา มีวิธีจัดการกับเรื่องนี้อย่างน่าทึ่ง

พ.ศ.2555 กฎเกณฑ์เรื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียวุ่นวายมาก ผู้ว่าการที่นั่นชื่อนายบราวน์ แก้ปัญหานี้ได้อย่างฉับไว โดยเขาพิมพ์หนังสืออธิบายว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างแบบง่ายๆ แล้วให้ดาวน์โหลดได้จากอินเตอร์เน็ต พร้อมทั้งใบอนุญาตให้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย

ที่แคลิฟอร์เนียนี่รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งกำหนดเลยว่า การก่อสร้างโรงเรือนบางประเภทใหม่ ถ้าไม่ติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงแดดอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง

ในเมืองไทยเข้าใจว่าถ้าติดแผงโซลาร์เพื่อทำน้ำร้อนใช้ในห้องอาบน้ำเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้เลย แต่การขออนุญาตยังไม่ง่ายนักถ้าต้องโยงกับโครงข่ายไฟฟ้าของทางราชการเพื่อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินความต้องการเพื่อช่วยให้ต้นทุนถูกลง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผงโซลาร์ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงแดดมีราคาลดลงมาก เราจึงได้เห็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านตามสลัมที่อินเดีย และที่แอฟริกามีแม่ค้าพ่อค้าขายแผงโซลาร์เห็นได้บนท้องถนน

สถานการณ์ที่เมืองไทย

ปลายปี 2558 ไทยก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแต่หลังจากนั้นเกิดความล่าช้าและความไม่แน่นอน เช่น เมื่อรัฐบาลมีโครงการส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงแดด ก็มีข่าวว่าสหกรณ์ 2,000 แห่ง ร้องเรียนว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ยุ่งยากเกินไป และนักลงทุนไม่มีความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลเพราะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันได้ง่ายๆ และไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์อย่างจริงจังแม้ว่าจะมีศักยภาพสูงจากที่ไทยมีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์เฉลี่ยสูง

ณ ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งหมดคือ 37,612 เมกะวัตต์ (2557) โดยมีแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 70,335 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ทั้งนี้มีเป้าหมายให้ผลิตจากพลังงานแสงแดดประมาณร้อยละ 8.5 เท่านั้น และในปี 2579 วางแผนให้ผลิตจากถ่านหินเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20-25

ขณะที่ อินเดีย จีน อังกฤษ แคลิฟอร์เนีย มีแผนที่ก้าวหน้ากว่าไทยมาก และในประเทศเหล่านี้ผู้นำระดับนายกรัฐมนตรี เช่น นเรนทระ โมที ของอินเดีย สี จิ้นผิง ของจีน และเจอรี บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ล้วนมีบทบาทผลักดันกระทรวง หรือหน่วยงานผลิตไฟฟ้าอย่างแข็งขันทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image