พม่ายุคก่อนและหลังออง ซาน ซูจี (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ The Venerable W ในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงปารีส

ตลอดสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ชาวพม่าทั้งในและนอกประเทศเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของด่อ ออง ซาน ซูจี ซึ่งจะมีอายุครบ 72 ปีในปีนี้ ด่อ ออง ซาน ซูจี เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1945 เพียง 1 เดือนหลังกองทัพญี่ปุ่นถอยร่นและพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามมหาเอเชียบูรพา

ตลอดสัปดาห์นี้ยังมีความสำคัญสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและนักสิทธิมนุษยชนในพม่า เพราะเป็นสัปดาห์ภาพยนตร์ด้านสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์นานาชาติ (Human Rights Human Dignity International Film Festival) ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้ว กิจกรรมนี้เป็นชุดกิจกรรมที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วฟ้าพม่า สถานทูตของหลายประเทศ สำนักข่าว และองค์กรการกุศลอีกหลายแห่งร่วมกับสถาบันภาพยนตร์เพื่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ (Human Dignity Film Institute) จัดขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้เกิดการตั้งคำถามว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า

แน่นอนว่าภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลนี้ถูก “คัดเลือก” จากคณะกรรมการจากมูลนิธิ ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากด่อ ออง ซาน ซูจี และมิน โก นาย อดีตนักโทษการเมืองและผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษาเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารในปี 1988 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้และสร้างเสียงฮือฮาทั่วโลกกลับไม่เป็นที่รู้จักในพม่าแต่อย่างใด ภาพยนตร์ดังกล่าวคือภาพยนตร์จากฝีมือกำกับของ บาร์เบท ชโรเดอร์ (Barbet Schroeder) ผู้กำกับชื่อดังชาวสวิส และเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1987 (จากภาพยนตร์เรื่อง Barfly)

ภาพยนตร์ของชโรเดอร์ที่ออกฉายในปีนี้มีชื่อว่า “The Venerable W” หรือ “พระคุณเจ้า ว.”

Advertisement
โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานภาพยนตร์ Human Rights Human Dignity International Film Festival ในปีนี้

ภาพยนตร์ของชโรเดอร์ (ที่ได้รับเกียรติให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้เช่นกัน) กล่าวถึง “อู วีระธู” พระสงฆ์ชาวพม่าผู้นำขบวนการ “969” หรือขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมในพม่าที่พุ่งเป้าไปที่ชาวโรฮีนจา ผู้ปลุกระดมให้ชาวพม่าเกลียดชังและร่วมกันบอยคอตการติดต่อสัมพันธ์กับชาวมุสลิม หรือแม้แต่ยุยงให้เกิดการปะทะกันระหว่างชุมชนชาวพุทธและมุสลิม

ภาพยนตร์ The Venerable W ของชโรเดอร์ได้รับคำชมมากมายในยุโรป และเป็นภาพยนตร์ที่คอหนังทั่วโลกจับตามอง อาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงของชโรเดอร์เองที่อายุอานามก็ 75 ปีแล้ว และประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวโรฮีนจาในพม่ายังได้รับความสนใจจากผู้ชมในยุโรปท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางศาสนาและการต่อต้านศาสนาอิสลาม (Islamophobia) ที่มีให้เห็นแทบทั่วโลกในทุกวันนี้

ชโรเดอร์ตั้งคำถามที่คนทั่วโลกสงสัยว่าเหตุใดพระในพม่า ซึ่งขึ้นชื่อว่ารักสงบและมีขันติธรรมทางศาสนา ได้พุ่งเป้าความเกลียดชังไปที่ชาวมุสลิมโรฮีนจา และเป็นผู้นำการรณรงค์เพื่อต่อต้านชาวโรฮีนจาเสียเอง และเหตุใดขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมนี้จึงประสบความสำเร็จอย่างมากในพม่า

Advertisement

ในขณะที่นักหนังสือพิมพ์ นักสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจเหตุบ้านการเมืองของพม่าแสดงความผิดหวังในท่าทีของด่อ ออง ซาน ซูจี ที่มีต่อการใช้ความรุนแรงปราบปรามชาวโรฮีนจาแบบสุดขีด ชาวพม่าในประเทศยังคงมอง “ด่อ ซุ้” หรือ “อะเหม่ ซุ้” (คุณแม่ซู) ของพวกเขาว่าเป็นวีรสตรีเพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังมองความเงียบงันจากกรณีที่เธอหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้สัมภาษณ์ประเด็นเรื่องการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจามาโดยตลอด (จนกระทั่งเธอยอมพูดถึงเป็นครั้งแรกเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) ว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมในทำนองว่าเป็นการดีที่เธอ “ไม่เอาเรื่องของคนในบ้านไปป่าวประกาศให้คนภายนอกรู้”

ทัศนคติแบบสองมาตรฐานและการเลือกปกป้องเฉพาะสิทธิมนุษยชนของชาวพม่าหรือชนกลุ่มน้อยเพียงบางกลุ่มที่ถูกละเมิด และเลือกที่จะปล่อยปละละเลยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นปัญหาใหญ่ในหมู่ชนชั้นกลางและปัญญาชนของพม่า ออง ซาน ซูจีรู้ดีว่าการแตะประเด็นเรื่องศาสนาจะทำให้เธอและพรรคเอ็นแอลดีที่สร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากตกเป็นรองกองทัพทันที

และยิ่งในยุคหลังที่คะแนนเสียงพรรคเอ็นแอลดีตกต่ำลงพร้อมกับเรื่องอื้อฉาวหลายอย่าง จึงทำให้เธอไม่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิของมนุษย์ทุกคนในพม่า เพราะลำพังการปกป้องสถานะของพรรคเอ็นแอลดีและการดึงคนในพรรคที่แตกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ในขณะนี้เข้าด้วยกันก็เป็นงานที่ลำบากแสนสาหัสแล้ว

หลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวลือหนาหูว่าประธานาธิบดีถิ่น จอ จะลาออกจากตำแหน่ง และก็มีข่าวการทะเลาะกันของคนในเอ็นแอลดี เมื่อเดือนที่แล้ว อู วิน เทง (U Win Htein) เลขาธิการพรรค (และเป็นเบอร์ 2 ในพรรคถัดจากด่อ ซุ้) เพิ่งเรียกประชุมสมาชิกระดับสูงของเอ็นแอลดี 3 กลุ่ม เฉพาะในเขตย่างกุ้ง ได้แก่ ผู้บริหารพรรค นักการเมืองท้องถิ่นของพรรคในเขตย่างกุ้ง และสมาชิกนิติบัญญัติเฉพาะที่มาจากพรรคเอ็นแอลดีออกแถลงการณ์หลังการเรียกประชุมฉุกเฉินว่าจำเป็นต้องเรียกประชุมสมาชิกพรรคทั้ง 3 ฝ่ายเพื่อ “แสดงให้เห็นความสามัคคีของสมาชิกพรรค”

หลายเดือนที่ผ่านมา บรรยากาศในพรรค และในแวดวงการเมืองท้องถิ่นในย่างกุ้งอึมครึม เพราะสภานิติบัญญัติและนักการเมืองท้องถิ่นที่ล้วนสังกัดพรรคเอ็นแอลดีแทบจะไม่เคยคุยกัน ซึ่งแน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนี้ไม่ดีต่อการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศในระยะยาว

ความขัดแย้งระหว่างคนในพรรคเอ็นแอลดีเป็นปัญหาที่น่าปวดหัว ที่หากปล่อยไว้จะยิ่งกัดกร่อนความน่าเชื่อถือของพรรค นอกจากนี้ พรรคยังจำเป็นต้องนำนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เข้ามาเป็นกลไกขับเคลื่อนพรรคและประเทศ เพราะปรากฏว่าบรรดารัฐมนตรีในหลายๆ กระทรวงต่างเคยเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกในช่วงเวลาเดียวกับด่อ ออง ซาน ซูจี และมิได้สัมผัสโลกในยุคดิจิทัลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากเอ็นแอลดียังสรรหาตัวบุคคลเพื่อมาบริหารประเทศโดยผ่านพระเดชพระคุณ หรือมองจากการเสียสละในยุคที่ยังสู้กับระบอบเผด็จการอยู่นั้น ก็คงเป็นการยากที่จะได้นักการเมืองที่มีความสามารถ และมีแนวคิดเปิดเพียงพอสำหรับโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่ยิ่งหมุนไปเร็วขึ้นทุกวันๆ

ผู้เขียนมักย้ำอยู่เสมอว่าหากเรามีความหวังดีต่อ “ด่อ ซุ้” และพม่าจริง เราควรสนับสนุนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าและตัวผู้นำในพรรคเอ็นแอลดีได้ เมื่อบุคคลเหล่านี้ทำผิดหรือไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และยังต้องบีบให้เธอและรัฐบาลพม่าตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุใดรัฐบาลจึงปล่อยให้มีการสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาขึ้นมาได้

แต่หากสังคมพม่ายังก้มหน้าก้มตามอง “ด่อ ซุ้” ว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยโดยตั้งไว้อยู่บนหิ้งเพื่อไว้กราบเคารพบูชาเพียงอย่างเดียว (อย่างที่เป็นกันในปัจจุบัน) ก็ยากเหลือเกินที่จะเห็นความงอกงามในครรลองประชาธิปไตยแบบสากลในประเทศนี้

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image