ทำไม ปาฐกถา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จึงก่อ ‘ปฏิกิริยา’

บทเรียนจากคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 กับบทเรียนคณะราษฎรเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 มีมากมายอย่างยิ่งทั้งในทางการเมืองและในทางการทหาร

บทเรียน 1 ก็คือ แม้มีความตั้งใจแน่วแน่แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสำเร็จ

คำว่า “สำเร็จ” หากประเมินจากคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ก็คือ ถูกจับกุมเสียก่อนที่จะสามารถลงมือปฏิบัติการ

เนื่องจาก “ความลับ” แตก

Advertisement

ขณะเดียวกัน แม้ว่าในวันก่อการคณะราษฎรจะประสบความสำเร็จ สามารถยึดอำนาจและสถาปนาตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษา “ความสำเร็จ” ได้อย่างยั่งยืน

เพียงไม่ถึง 1 ปีก็เกิดความขัดแย้ง แตกแยก

เป็นความขัดแย้ง แตกแยก จาก “ภายใน” โดยอีกฝ่าย “เสี้ยม” และเจาะทะลวงเข้าไป ทั้งโดยกระบวนการทางการเมือง และกระบวนการทางทหาร

Advertisement

พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2490 คณะราษฎรก็เรียบโร้ย

 

หากถามว่า “ปัจจัย” อะไรทำให้คณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ต้องล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้ปฏิบัติการ อะไรทำให้คณะราษฎรต้องถูกทำลายในอีก 15 ปีต่อมา

คำตอบในแบบ “สมัยใหม่” คือ การบริหารจัดการ

คำตอบในแบบ “ซ้ายเก่า” ไม่ว่าอยู่ในยุคของเลนิน ไม่ว่าอยู่ในยุคของเหมาเจ๋อตุงก็คือ การจัดตั้งภายในไม่เข้มแข็งอย่างเพียงพอ

นั่นเพราะมิได้นำโดยความคิดของชนชั้นกรรมาชีพ

คำตอบประการหลังนี้เป็นคำตอบในเชิงทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงแม้จะมีการจัดตั้งในแบบลัทธิเลนินก็ยังมีคนที่ต้านพรรค เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค

ไม่ว่าจะภายใน “บอลเชวิก” ไม่ว่าจะภายใน “กุงฉานตั๋ง”

กระนั้น ลักษณะจัดตั้งก็สามารถอธิบายความล้มเหลวของคณะเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 ได้ ลักษณะจัดตั้งก็สามารถอธิบายความไม่ยั่งยืนของคณะราษฎร2475 ได้

ลักษณะ “จัดตั้ง” จึงสำคัญในทางการเมือง

ใครก็ตามที่ศึกษาชัยชนะของกองทัพในการเล่นบทของ “นักรัฐประหาร” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ยุค 2475 กระทั่งยุค 2557 ก็จะประจักษ์ในจุดเด่น

นั่นก็คือ ลักษณะจัดตั้งของ “กองทัพ”

เนื่องจากกองทัพเป็นกองกำลังติดอาวุธจึงมีความจำเป็นสูงอย่างยิ่งในการจัดระบบการจัดตั้ง การบังคับบัญชาอย่างเข้มงวด เพราะหากกองทัพ “ไร้วินัย” ก็ไม่ต่างไปจาก “กองโจร”

ความเข้มแข็งและแข็งแกร่งของกองทัพนี้เองทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวก่อนเดือนกันยายน 2549 ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ในที่สุด ก็ต้องออก “บัตรเชิญ” ไปยังกองทัพ

บทสรุปก็คือ เท่ากับปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับ “รัฐประหาร”

ในห้วงที่ ดร.ซุนยัดเซ็น เคลื่อนไหวปลุกระดมชาวจีนโพ้นทะเลให้รวมตัวกันเพื่อนำไปสู่การเกิดกบฏซินไฮ่ในเดือนตุลาคม 1911 คือ เรียกร้องให้ชาวจีนสามัคคีกัน

ที่ชาวจีนอ่อนแอและอยู่ในฐานะ “คนไข้แห่งเอเชีย” ก็เพราะขาดความสามัคคี

นั่นก็คือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด เท่ากับเป็นการดำรงอยู่อย่างตัวใครตัวมันเหมือนกับทรายที่ร่วนซุย ไม่สามารถผนึกพลังอย่างเป็นหนึ่งเดียว

แต่เมื่อรวมพลังกันได้ก็จะก่อสถานการณ์อันใหญ่หลวงขึ้นได้

คนรุ่นใหม่หลังยุคกำแพงเบอร์ลินพังทลาย ชมชอบความเป็นอิสระ ชมชอบลักษณะปัจเจกนิยม ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้ง

เห็นว่าลักษณะจัดตั้งทำให้ขาดเสรีภาพ

จึงไม่แปลกที่เพียง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เอ่ยว่าปัญญาชนนักวิชาการทุกวันนี้ไม่สนใจการเมืองภาคประชาชน ก็ถูกเสียงตอบโต้อย่างดุเดือดกลับมา

ทั้งๆ ที่ทุกคนล้วนรู้ว่าลักษณะจัดตั้งก่อให้เกิดกำลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image