บทความ โผ‘เชลียร์’….ทำเจ็บ! โดย : ไพรัช วรปาณิ

ธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเคลิบเคลิ้มกับคำเยินยอและเสียงเชียร์ของคนรอบข้างอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่เว้นแม้นักการเมืองผู้ทรงอำนาจที่เพลิดเพลินอยู่กับการจัดทำโผเชลียร์ตนเอง จนเป็นเหตุให้ประเมินเสียงเชียร์อันแท้จริงจากประชาชนผิดพลาด ตามสุภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า เสียงประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ รัฐบาลเสมือนเรือ น้ำสามารถ “ลอยเรือก็คว่ำเรือได้เช่นกัน” ..ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “นางเทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีประเทศสหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างอันเจ็บปวด…

จากผลการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในประเทศอังกฤษที่ผ่านมา ปรากฏว่าพลิกล็อกพอควร ทำให้รัฐมนตรีหญิงเหล็กอย่าง “เทเรซา เมย์” ต้องกระอักเลือด!..เพราะมีผลทำให้พรรคอนุรักษนิยมในยุคเธอเป็นผู้นำ ต้องสูญเสียที่นั่งไปจำนวนไม่น้อย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงมาก่อน ด้วยผู้นำไปหลงเชื่อโผสำรวจ “เชลียร์” ก่อนการเลือกตั้งจนเกิดความมั่นใจ วางแผนชิงความได้เปรียบดำเนินการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ ก่อนสร้างผลงานให้ประจักษ์และเวลาอันควร …

ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงระหว่างเวลาที่เข้ามาบริหารประเทศแทนนายเดวิด คาเมรอน แบบส้มหล่นนั้น ไม่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์เป็น “ชิ้นเป็นอัน” ให้แก่ประชาชนชาวอังกฤษได้เห็นเลย ในทางตรงข้ามการชูธงนำเบร็กซิท (Brexit) แยกออกจากสหภาพยุโรปของนางเมย์กลับเป็นผลลบในสายตาประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย …แต่ทุกสิ่งก็เป็นอนิจจัง…ว่าไหม?

ใครจะคาดคิดมาก่อน เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีคนก่อน ซึ่งมีความเชื่อมั่นเต็มร้อย ด้วยการตัดสินใจฝากความหวังให้กับการลงประชามติในเรื่อง Brexit or Leave “ถอนตัวหรืออยู่ต่อ” ร่วมกับ EU อันเป็นประเด็นแหลมคมครั้งสำคัญ จนในที่สุดทำให้นายเดวิดสอบตกจำต้องลาโรงลงจากอำนาจอย่างคาดไม่ถึง

Advertisement

ต่อมา เมื่อ “เมย์” ผู้นำคนปัจจุบันเข้าสืบทอดอำนาจบริหารต่อ โดยที่ยังไม่ทันสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน ทั้งเศรษฐกิจของประเทศกลับแย่ลง ควบคุมความสงบภายในประเทศไม่ได้ผลเท่าที่ควร อันแสดงให้มองเห็นว่า “กึ๋น” ในการบริหารบ้านเมือง พรรคของนาง “บ่อมิไก๊” มีแต่เสียงเชลียร์นาย ทำให้นางเมย์หลงผิดไปว่า เป็น timing แล้ว จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และดำเนินการจัดเลือกตั้งใหม่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ก่อนเลือกตั้ง “เมย์” หลงเชื่อโผสำรวจในขณะนั้นว่า เสียงนิยมสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมของนางจากประชาชนมีสูงมาก เกินกว่าพรรคแรงงานถึงร้อยละ 20% ทีเดียว เมย์จึงฉวยโอกาสเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เพื่อ “ฟอกตัว” ให้เกิดความสง่างามในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาจักรอย่างชอบธรรม

แต่..ใครจะคาดคิดมาก่อนว่า ก่อนการเลือกตั้งได้เกิดเหตุก่อการร้ายในประเทศหลายครั้ง บ้านเมืองปั่นป่วน ซึ่งมีส่วนเป็นเหตุปัจจัย ทำให้ “ลูกคิดรางแก้ว” ที่นางวิเคราะห์ว่าจะได้เปรียบพรรคคู่ต่อสู้ โดยตั้งความหวังว่าจะได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น ตาม
“โผเชลียร์” ดำเนินการตามแผนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งก่อนเวลาอันควรดังกล่าว…อย่างไม่คิดว่า จะประสบผลพังทลายไม่เป็นท่า เข้าทำนองตามคำโบราณที่ว่า “คนคิดไม่เท่าฟ้าลิขิต”

Advertisement

ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งในครั้งนี้ ผิดจากการคาดหมายคือ…พรรคอนุรักษนิยมของ “เมย์” ได้ 319 ที่นั่ง ลดลงจากเดิมสิบกว่าที่นั่ง แต่ในขณะที่พรรคแรงงานกลับได้ที่เพิ่มขึ้นหลายสิบที่นั่ง ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรคแรงงาน และหมายถึงการปราชัยของ “เมย์” ครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน ..จึงน่าศึกษาต่อไปว่าเป็นการดำเนินแผนที่ผิดพลาดของนางที่ไปหลงเชื่อ “โผสำรวจเชลียร์” หรือไม่? จึงเกิดผลอันไม่พึงปรารถนาดังกล่าว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พรรคอนุรักษนิยม (conservative party) มีที่นั่ง 330 พรรคแรงงาน (Labour party) ได้ที่นั่ง 229 พรรค Scottish National party มี 54 ที่นั่ง และพรรคเสรีนิยม (Liberal Democrat) มี 54 ที่นั่ง

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญประเทศอังกฤษกำหนดว่า หากมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่งคือ 326 เสียง จึงจะสามารถโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น เมื่อพรรคต่างมีเสียงไม่ถึง 326 เสียง จำต้องจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม อันไม่อาจจะเป็นเอกภาพในการบริหารประเทศตามนโยบาย ดังตัวอย่างที่เห็นในหลายประเทศ

ดังนั้น การหลุดโผครองที่นั่งให้ถึง 326 ที่นั่งของ “เมย์” เนื่องเพราะไปหลงเชื่อ “โผสำรวจเชลียร์นาย” อันไร้ตรรกะในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องเจ็บปวดของรัฐมนตรีหญิงเหล็กและเป็นอุทาหรณ์อันมีค่าแก่ผู้นำประเทศที่หลงตัวเอง..ว่าไหม?

ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองวิเคราะห์ว่า การที่ “เมย์” ตัดสินใจจัดเลือกตั้งใหญ่ในครั้งนี้ นอกจากหลงเชื่อโผดังกล่าวแล้ว ยังเป็นเกมพนันทางการเมืองครั้งสำคัญยิ่งในชีวิตทางการเมืองอีกด้วย

ทั้งนี้ การที่พรรคอนุรักษนิยมของนางชูธง Brexit แยกตัวอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ EU นั้น คือนาง “เมย์” เท่านั้นที่มีศักยภาพ จะสามารถนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ประเทศอังกฤษ และจะสามารถบรรลุเป้าหมาย อีกหลายประการคือ…

หนึ่ง… คือเมื่อ “เมย์” สามารถชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท้วมท้นจากประชาชน จะทำให้เมย์เกิดความสง่างามยิ่งขึ้น กล่าวคือ สามารถกลายเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างแท้จริง

หนึ่ง… ย่อมจะเป็นผลดีต่อการเจรจากับสหภาพยุโรปในโอกาสต่อไป และ

หนึ่ง…คือสามารถลดความเสี่ยงในการถูกต่อต้านนโยบายสำคัญๆ ของพรรคอนุรักษนิยมจากพรรคอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เหตุร้ายที่อุบัติขึ้นหลายครั้งติดๆ กันในประเทศ ทำให้ฝ่ายหรือพรรคที่ไม่นิยม “เมย์” ถูกกล่าวหาว่าขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น และการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ยังผลให้คะแนนนิยมในตัวเธอและพรรคลดลงอย่างน่าใจหาย!

อันที่จริง เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นผลบวกต่อพรรคอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ เนื่องเพราะพรรคนี้มีนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายและนโยบายการอพยพอย่างแข็งขันอยู่ก่อน แต่ทว่า ฝ่ายคู่แข่งทางการเมืองได้ฉวยโอกาสหยิบยกเอาประเด็นการตัดงบประมาณของตำรวจ ระหว่างที่ “เมย์” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเมื่อหลายปีก่อนมาโจมตีนางว่า “เมย์” นี่เอง เป็นต้นเหตุทำให้กำลังตำรวจไม่เพียงพอ จึงทำให้การรักษาความสงบสุขไม่เกิดประสิทธิภาพ อันเป็นวาทธรรมที่ตีตรงจุดอ่อน

ยิ่งกว่านั้น การรณรงค์ตัดลดงบสวัสดิการของนางในระหว่างหาเสียง ก็ได้ถูกนำมาเป็นประเด็นผสมโรงโจมตีอีกด้วย โดยพรรคแรงงานใช้ “กุศโลบาย” หลีกเหลี่ยงการกล่าวถึงข้อดีในการแยกออกจากสหภาพ แต่เน้นเป้าโจมตีจุดอ่อนในเรื่องของสวัสดิการและเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอย…จนเมย์ต้องตกเป็นฝ่ายปราชัยในครั้งนี้

และแล้ว “เมย์” จำต้องใช้ “หมัดเด็ด” แก้เกมด้วยการประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับพรรคอื่นเพื่อแก้ไขปัญหา และการรักษาอำนาจ ตำแหน่งของตนเอง โดยการเข้าเฝ้าหารือกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองเป็นการด่วน

ทั้งนี้ แม้ “เมย์” สามารถจะรักษาบัลลังก์อำนาจไว้ได้ แต่… ปัญหาเศรษฐกิจ ความสามัคคีภายในพรรค และความสงบสุขในประเทศ ตลอดจนประเด็นการแยกตัวจากสหภาพยุโรปอันแหลมคม ยังคงเป็นโจทย์อันหนักหน่วงที่รุมเร้าเธอ ชนิดหายใจไม่ทั่วท้อง

ความผิดหวังจากการเลือกตั้งของ “เมย์” ครั้งนี้ นอกจากแสดงให้เห็นชัดว่า ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย “แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป” แล้วและที่สำคัญคือ…

ทำให้มองเห็นว่า ความสำคัญอยู่ที่ผู้นำประเทศ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่นำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือลงนรกนั้น มี “กึ๋น” ขนาดไหน?? นั่นเอง…(ฮา)

ในท้ายนี้ เมื่อผู้เขียนได้เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์การเมืองในประเทศบริเทนในปัจจุบันแล้ว ย่อมเกิดมุมมองต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ว่า นางเมย์คงไม่อาจสามารถประคอง “เรือเมย์” (มิใช่เรือแป๊ะ) แล่นไปใด้ถึงฝั่งตามเป้าหมาย แต่ถ้าหวนกลับมาศึกษา..ดู “กึ๋น” และบทบาทของ นายเจเรมี เบอร์นาร์ด คอร์บิน (Jeremy Bernard Corbyn) หัวหน้าพรรคแรงงาน คู่ต่อสู้ของพรรคอนุรักษนิยม จะเห็นได้ว่า นายคอร์บิน แสดงท่าทีลีลาออกสู่ชาวโลกได้โดดเด่น ผู้เขียนจึงเชื่อว่า คนนี้แหละ จะมีบทบาทสำคัญต่อระบบการเมืองของประเทศอังกฤษในอีกไม่ช้า คอยจับตาดูต่อไป

ดังนี้ “โผเชลียร์…ทำเจ็บ” บทนี้ จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้ผู้นำประเทศที่หลงอำนาจทั้งหลาย จงอย่าได้เคลิ้มเชื่อ “โผสำรวจเชลียร์นาย” จนกลายเป็นบทเรียนอันเจ็บปวดเช่นนางเทเรซา เมย์ รัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้เลยนะ….ว่าไหม!?

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image