แนวคิดประชาธิปไตยของอนุรักษนิยมไทย(2) : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

อ่านแนวคิดประชาธิปไตยของอนุรักษนิยมไทย(1)คลิกที่นี่

รัฐความมั่นคงและรัฐพัฒนาเกิดในประเทศไทยในเวลาใกล้เคียงกัน และซ้อนทับกัน

การเข้าร่วมกับฝ่าย “โลกเสรี” หลังรัฐประหาร 2490 ช่วยเสริมความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่การรัฐประหาร และการกลับเข้ามีส่วนแบ่งอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์โฆษณาว่า ประเทศกำลังถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็น “ต่างชาติ” เพราะคอมมิวนิสต์ ในที่นี้เจาะจงให้หมายถึงจีนหรือเวียดนาม การรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอด จึงมีความสำคัญที่สุด เหนือความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตย

ฝ่ายทหารเน้นการสร้างกองกำลังของประเทศให้เข้มแข็ง ฝ่ายอนุรักษ์เน้นการฟื้นฟูสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันที่เป็นหลักของ “ความเป็นไทย” ซึ่งมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง การเอา “ชาติ” และ “ความเป็นไทย” ให้อยู่รอดปลอดภัยจากคอมมิวนิสต์ เป็นภารกิจสำคัญสุดยอดก่อนประชาธิปไตย

Advertisement

ความช่วยเหลือของสหรัฐ ซึ่งเมื่อเปรียบกับงบประมาณไทยในเวลานั้น ก็ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว ทำให้ทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้ราบรื่นดีนัก อยู่ร่วมกันมาได้ แม้อย่างค่อนข้างตึงเครียด

อเมริกันคิดว่าคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องมากับศัตรู “ต่างชาติ” เสมอไป ที่เป็นภัยมากกว่าคือประชาชนในประเทศหันไปนิยมคอมมิวนิสต์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของตนเอง ดังนั้น การปกป้องตนเองจากคอมมิวนิสต์จึงต้องทำทั้งสองทาง คือเสริมสร้างกำลังทหาร (หรือตำรวจ) ให้เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจกับการปกครองให้ประชาชนได้รับความพอใจ

แต่อเมริกันให้ความสำคัญแก่การสร้างเสริมกำลังทหารมากกว่า เพราะนโยบายหลักระดับโลกของอเมริกันในสงครามเย็น ใช้ด้านการทหารเป็นตัวนำ

Advertisement

ดังนั้น คติรัฐความมั่นคงและรัฐพัฒนาจึงเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นปกครองไทยในเวลาไล่เลี่ยกัน และจะผนวกกันอย่างแนบแน่นจนกลายเป็นจุดเด่นของระบอบการปกครองไทย หลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

ความมั่นคงและการพัฒนาคือเป้าหมายหลักของรัฐ ไม่แต่เพียงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยังไม่ใช่เป้าหมายเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เพื่อบรรลุความมั่นคงและการพัฒนาได้ รัฐอาจจำเป็นต้องให้โอกาส แก่คนบางกลุ่มเหนือคนทั่วไป เพื่อให้เครื่องจักรแห่งการพัฒนาจุดติด และเดินเครื่องเร่งความเติบโตโดยรวมได้ ตัวความเหลื่อมล้ำนั่นแหละคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาได้ และประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมมีความมั่นคงอย่างไม่ต้องสงสัย

นับว่าสอดคล้องกับทฤษฎีการพัฒนาในโลกตะวันตกขณะนั้นซึ่งขอสรุปให้เหลือสั้นๆ เพียงสามประการดังนี้

ประการแรก การพัฒนาเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศเสรีนิยม (ไม่ใช่ประชาธิปไตย) โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงไม่เพียงแต่ควรเปิดประเทศเพื่อการค้าและการลงทุนอย่างเสรีเท่านั้น ยังหมายถึงการทำให้ภายในประเทศมี “ความสงบและระเบียบ” (Peace and Order) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การค้าและการลงทุนดำเนินไปอย่างราบรื่น ประการที่สอง มีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นในแต่ละสังคมที่พร้อมจะใช้ประโยชน์ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งของการค้าและการลงทุน รัฐควรเกื้อหนุนให้คนกลุ่มนี้ได้ทำการค้าและการลงทุนอย่างเต็มที่ ด้วยระบบภาษีอากร นโยบายแรงงาน นโยบายการ ใช้ทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ รัฐจึงมีหน้าที่เป็น “พ่อขุน” ผู้หยิบยื่นสิ่งอันควรได้ซึ่งไม่เหมือนกันแก่คนกลุ่มต่างๆ

และประการสุดท้าย ทรัพย์ซึ่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มที่รัฐหยิบยื่นโอกาสให้ก่อนนี้ จะถูกนำไปลงทุน เพิ่มขึ้น กระจายโอกาสไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมอย่างทั่วถึง

แน่นอนว่า ประชาธิปไตยซึ่งเปิดให้คนแต่ละกลุ่มเข้ามาต่อรองกันอย่างเสรี ย่อมไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาได้

จะเห็นได้ว่า แนวความคิดด้านการพัฒนานี้สอดคล้องกับแนวคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมที่กล่าวมาแล้วอยู่ไม่น้อย เช่น ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการ แม้ยังไม่เกิดขึ้นได้ในทันที แต่การพัฒนาและการรักษาความมั่นคง ก็จะนำไปสู่ประชาธิปไตย “ที่สมบูรณ์” ได้ในอนาคต “ความสงบและระเบียบ” ในสายตาของอนุรักษนิยมคือ ความเปลี่ยนแปลงต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องไม่ทิ้งรากฐานเดิมของสังคมไปเป็นอันขาด

การเปิดการค้าเสรีก็ตรงกันกับความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่แล้ว เพราะรัฐความมั่นคงของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นว่าการสงวนวิสาหกิจขนาดใหญ่ไว้เป็นของรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคง กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกต่อต้านคัดค้านในปลายสมัยจอมพล ป.อยู่แล้ว กลุ่มอนุรักษนิยมก็ร่วมในการต่อต้านคัดค้านด้วย เพราะสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของฝ่ายตนมากกว่า อาจเปลี่ยนทุนที่อยู่ในมือให้ทำกำไรได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ชาตินิยมที่ฝ่ายทหารใช้ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็สอดคล้องกับ “ความเป็นไทย” ของฝ่ายอนุรักษนิยม แม้ว่าฝ่ายทหารใช้ชาตินิยมในเชิงการทหารหรือวีรกรรมจากการรบเป็นหลัก อนุรักษนิยมไม่ขัดข้อง เพราะวีรกรรมเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ในอดีตทั้งสิ้น แต่อนุรักษนิยมให้ความสำคัญแก่ “ความเป็นไทย” มากกว่ากิจกรรมของทหาร ศิลปวัฒนธรรมที่ผลิตในราชสำนัก ได้รับการยกย่องให้เป็นแกนกลางของ “ความเป็นไทย” และด้วยเหตุดังนั้น ผู้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ จึงมี “ความเป็นไทย” สูงกว่าคนทั่วไป

เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ผมอยากจะฟันธงว่า แม้ฝ่ายทหารจะคุมอำนาจทางการเมืองได้เด็ดขาดตลอดเวลา 16 ปีต่อมา แต่ผู้คุมอำนาจทางอุดมการณ์ได้เด็ดขาดและยั่งยืนกว่ากลับเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะสามารถขยายแนวคิดของตนไปในวงกว้างได้มากกว่าฝ่ายทหารเสียด้วยซ้ำ คนที่ได้รับการศึกษาไม่ว่ามากน้อยแค่ไหน ต่างสมาทานแนวคิดอนุรักษนิยมไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของตน “อาจโดยไม่รู้สึกตัว” แม้แต่ความคิดเรื่อง “ธรรมิกสังคมนิยม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ ก็อาจงอกมาจากกระดิ่งที่แขวนไว้ปากประตู (ท่านพุทธทาสเป็นพระภิกษุหัวก้าวหน้าใน 2475 และมีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร รวมทั้งนักคิดสายประชาธิปไตยเช่นคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์)

ส่วนความยั่งยืนของแนวคิดอนุรักษนิยมสืบมาจนปัจจุบัน จะไม่กล่าวถึงโดยละเอียด แต่ตลอดเวลา 16 ปีนั้น ฝ่ายทหารและอนุรักษนิยมใช้กระบวนการที่เรียกว่า “ทำให้ประชาชนเป็นคนในบังคับ” (democrasubjection) อย่างกว้างขวางและละเอียดอ่อน ผ่านการบริหารภายใต้กระทรวงมหาดไทยและโครงการต่างๆ สื่อซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัฐมากบ้างน้อยบ้าง งานวิชาการ ปัญญาชนที่ถูกควบคุมอยู่ห่างๆ ฯลฯ แพร่ขยายแนวคิดของทั้งฝ่ายทหารและอนุรักษนิยมออกไปสู่ผู้คนแทบจะทุกระดับชั้นในสังคม

ยิ่งถ้าคิดว่า ในช่วงนี้มีการขยายตัวของรัฐเข้าไปในชีวิตของผู้คนอย่างเข้มข้นและกว้างขวางกว่าที่ผ่านมาอย่างมาก (จนบางท่านกล่าวว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ไทยเพิ่งเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่และ “ชาติ” นับตั้งแต่สมัยสฤษดิ์เป็นต้นมานี้เอง) ก็อาจนับได้ว่า นอกจากครั้งที่ลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์แพร่ขยายในดินแดนแถบนี้แล้ว ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่ความคิดทางการเมืองและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแพร่กระจายไปสู่คนหมู่มากเท่ากับแนวคิดรัฐความมั่นคงและรัฐพัฒนาของทหารและฝ่ายอนุรักษนิยมอีกเลย

ดังนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างไร ที่เราจะได้เห็นบางส่วนของแนวคิดเหล่านั้นยังตกค้างอยู่ในความคิดทางการเมืองและสังคม ของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมในปัจจุบันอยู่เสมอ ความคิดของบุคคลไม่ได้สะท้อนรากที่ฝังลึกของแนวคิดอนุรักษนิยมในรุ่นนั้น เท่ากับการสนองตอบของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองที่ได้รับการศึกษา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมเกี่ยวกับรัฐความมั่นคงและรัฐพัฒนาถูกท้าทายอย่างหนัก จากความเปลี่ยนแปลงฉับพลันในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

การท้าทายที่สำคัญคือรัฐพัฒนาและรัฐความมั่นคงถูกลดความสำคัญลง หรืออย่างน้อยรัฐทั้งสองชนิดนี้ต้องปรับตัวรับการมีส่วนร่วมของคนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้น จำเป็นต้องจัดสรรแบ่งส่วนอำนาจกันใหม่ คนชั้นกลางใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตย (ทั้งในความหมายของขวาและซ้าย) เรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีนิยมที่ไม่ประชาธิปไตยในอุดมการณ์เดิมของอนุรักษนิยมไทยไม่เพียงพอที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของคนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากได้เสียแล้ว ดังนั้น สิ่งที่มองว่าเป็น “ความสงบและระเบียบ” แบบเดิม จึงอาจถูกมองว่าเป็นการกดขี่ลิดรอนสิทธิของคนหมู่มากไปก็ได้

พื้นที่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่คนชั้นกลางเรียกร้อง คือพื้นที่ซึ่งทหารและระบบราชการยึดครองอยู่อย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลานาน ฝ่ายอนุรักษนิยมเองก็ไม่ได้อยากให้พื้นที่นี้ถูกยึดครองด้วยระบบราชการและทหารในสัดส่วนที่สูงต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปรารถนาให้คนชั้นกลางซึ่งควบคุมยากเข้ามายึดกุมพื้นที่นี้ไปแต่ผู้เดียว เกิดความจำเป็นมากขึ้นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องเข้ามามีอำนาจแบ่งสันปันส่วน และสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ในพื้นที่นี้มากขึ้น กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐราชการกำลังสลายตัวลง ฝ่ายอนุรักษนิยมจะเข้ามากำกับควบคุมสนามที่กำลังจะกลายเป็นความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ได้อย่างไร

ผมคิดว่าอุดมการณ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมจากนั้นมา มุ่งจะตอบปัญหานี้เป็นหลัก
(ยังมีต่อ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image