ข้อสรุป บทเรียน “30 บาท”รักษาทุกโรค บทเรียน การเมือง

ไม่ว่าเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.บัตรทองอันอยู่ในขั้นตอน “ประชาพิจารณ์” จะดำเนินไปอย่างไร แต่ “รอยร้าว” อันดำรงอยู่ระหว่าง “กระทรวง” กับ “เอ็นจีโอ” กำลังฝังลึก

ไม่เพียงเพราะการระบุว่ามี “การเมือง” อยู่เบื้องหลัง

หากที่เปราะบางและทรงความหมายเป็นอย่างยิ่ง คือ การใช้กลยุทธ์ “ปฏิบัติการการข่าว” อันเป็นความจัดเจนในแบบ “ทหาร”

อย่างเช่น การจับ “ใจความ” จากที่ประชุม ครม. “คลาดเคลื่อน”

Advertisement

“จนทำให้เหมือนจะออกมาจากปาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และท่านก็คงจะได้รับผลกระทบถูกกดดันพอสมควรจึงขออภัยที่ทำให้ได้รับผลกระทบด้วย”

แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะจบลงโดยง่าย

“การออกมาพูดว่ารับเงินส่วนลดการซื้อยาถือเป็นการกล่าวหา อยากถามว่าคนระดับโฆษกรัฐบาลจะจับประเด็นผิดจริงหรือไม่ หรือมีใครพูดจริงแต่ไม่ยอมรับ”

Advertisement

นั่นเป็น “บทสรุป” จากด้านของ “เอ็นจีโอ”

ความจริง มุมมองที่แตกต่างกันในรายละเอียดของ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ดำรงอยู่ตั้งแต่เมื่อแรกที่เริ่มโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” มาแล้ว

เพียงแต่ปะทุขึ้นตอนท้ายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และประเด็นนี้ถูกนำเข้าไปเป็นปัญหา 1 ในการเคลื่อนไหวในช่วงแห่ง “ชัตดาวน์” กระทั่งคนนำการเคลื่อนไหวได้รับรางวัลเป็น “นกหวีดทองคำ”

พลันที่เกิด “รัฐประหาร” ปัญหา “บัตรทอง” ก็กลายเป็น “วาระ”

ดูเผินๆ เหมือนกับจะสะท้อนความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต้องการปรับเปลี่ยนกับฝ่ายที่มีบทบาทในการนำเสนอและผลักดันตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

แต่ยิ่งเคลื่อนไหว กลับบานปลาย

บานปลายเพราะว่าฝ่ายของพรรคเพื่อไทยอันต่อเนื่องมาจากพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทยไม่สามารถขยับ ขับเคลื่อนอะไรได้ ความรับผิดชอบจึงกลายเป็นของ “เอ็นจีโอ”

ตรงนี้เองที่ “เอ็นจีโอ” ตกเป็น “เป้าหมาย”

ปฏิบัติการแปรเปลี่ยนหลักการดำรงอยู่ในกระบวนการ “บัตรทอง” อาจปรากฏตั้งแต่ปลายปี 2556 และเริ่มมีฤทธิ์มีเดชภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

แต่ในเบื้องต้นอาจทำได้ไม่เต็มที่

ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจาก นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน มาเป็น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ในเดือนสิงหาคม 2558 นั่นแหละที่ถือได้ว่าเป็น “ดีเดย์”

บรรดา “เอ็นจีโอ” ที่เคยสงบจึงเริ่ม “ตระหนัก”

ปฏิกิริยาอันมาจาก นพ.มงคล ณ สงขลา ที่แสดงความรู้สึกผิดหวังต่อการเข้าร่วมการชุมนุมก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ

สัญญาณนี้ดูเหมือนทางด้าน คสช.และรัฐบาลจะยังดูเบา

ไม่เพียงแต่จะดูเบา หากแต่ยังประเมินว่าอาศัยความจัดเจนที่เคย “ปฏิบัติการด้านการข่าว” เพื่อสยบคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะเรียบร้อย

ดังที่สรุปว่ามี “การเมือง” อยู่เบื้องหลังการล้ม “ประชาพิจารณ์” ดังที่มีการจับประเด็นที่ผิดพลาด “เมื่อ สปสช.ซื้อยาที่ได้ลดราคาแล้วจะนำเงินไปสนับสนุนงานของเอ็นจีโอ”

ผลก็คือ สร้างความขัดเคืองให้กับ “เอ็นจีโอ” อย่างรุนแรง ล้ำลึก

นับแต่มีการ “ประชาพิจารณ์” นับแต่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะดึงงบประมาณจาก สปสช.ไปอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขความขัดแย้งในกรณี “บัตรทอง” ก็ไม่เหมือนเดิม

ไม่เหมือนเดิมเพราะความพยายามของ คสช.และของรัฐบาลที่ต้องการจะทำลายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กลับไม่เป็นไปตามความต้องการ

โครงการนี้กลับยืนยันความเป็น “สมบัติร่วม” ของประชาชนอย่างเด่นชัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image