บทบาท ท่าที ต่อ 24 มิถุนา 2475 และ ปรองดอง

หากวันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีจะกลายเป็นปัญหา ตราบใดที่ คสช.และรัฐบาลอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังครองอำนาจอยู่

ถามว่าวันที่ 14 ตุลาคม จะเป็นปัญหาหรือไม่

ถามว่าวันที่ 17 พฤษภาคม จะเป็นปัญหาหรือไม่

เพราะไม่ว่าจะเป็นวันที่ 17 พฤษภาคม ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 14 ตุลาคม ล้วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดใหญ่

Advertisement

และสามารถ “โยง” เข้ากับวันที่ 24 มิถุนายน ได้

การที่เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ออกปฏิบัติการเนื่องในวันที่ 24 มิถุนายน ทั้งห้ามปรามก่อนหน้านั้น และจับกุมผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว จึงทำให้วันนี้กลายเป็นความอ่อนไหว

มีการคุมตัวบุคคล อาทิ นายรังสิมันต์ โรม จากแยกคอกวัว

ก่อนจะให้ประกันตัวในที่สุด

ถามว่าวันที่ 24 มิถุนายนสำคัญอย่างไร ถามว่าวันที่ 14 ตุลาคมสำคัญอย่างไร ถามว่าวันที่ 17 พฤษภาคมสำคัญอย่างไร

คำตอบมีอยู่แล้ว มิได้เป็นความลับ

นั่นก็คือ วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันที่ “คณะราษฎร” ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและทำให้คำว่า “ประชาธิปไตย” ติดปากมาเป็นเวลา 85 ปี

ระบบรัฐสภาก็เริ่มจากวันที่ 24 มิถุนายน

รัฐธรรมนูญอันถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดก็มีจุดเริ่มมาจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน และกลายเป็นแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวง

แม้กระทั่งเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ก็มาจาก “24 มิถุนา”

เช่นเดียวกับ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นผลสะเทือนทางความคิดจากเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2475 และเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516

รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

ประเด็นอันอ่อนไหว ปัญหาอันเป็นผลสะเทือนและความต่อเนื่องก็คือ จะสามารถ “ลบ”เรื่องราวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ให้หายไปจาก “ประวัติศาสตร์” ได้หรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่ได้

อย่างน้อยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ยังตั้งเด่นเป็นสง่าบนถนนราชดำเนินกลาง อย่างน้อยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นผลผลิตแห่งเดือนมิถุนายนเมื่อ 85 ปีก่อน

นามของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ยังโดดเด่น

เช่นเดียวกับนามของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับนามของ นายปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน นายควง อภัยวงศ์

อาจจะด้วยมุมมองที่ต่างออกไป

แต่ความเป็นจริงที่บุคคลเหล่านี้มีบทบาทในสถานการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ยากที่จะเลือนหายไปได้อย่างง่ายดาย

เพราะทั้งหมดนี้คือ “ประวัติศาสตร์”

นับแต่หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา คสช.และรัฐบาลให้คำสัญญาว่าจะสร้างความปรองดอง จะสถาปนากฎกติกาอันเป็นที่ยอมรับ

บนพื้นฐานแห่งการพัฒนา “ประชาธิปไตย”

หลักการ 1 ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ คือ หลักการเคารพต่อความคิดของคนอื่นแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นก็ตาม

ท่าทีต่อ “24 มิถุนายน” จึงสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image