สุจิตต์ วงษ์เทศ : วัดมั่งคั่งระดับราชามหาเศรษฐี แต่ไม่มีหนังสือบอกความเป็นมา

วัดพนัญเชิง บริเวณปากน้ำบางกะจะ มีลำน้ำสองสายคือ (ซ้าย) แม่น้ำเจ้าพระยา กับ (ขวา) แม่น้ำป่าสัก ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ไหลลงอ่าวไทย (ภาพจากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา โดย ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2548)

แต่งเครื่องแบบไม่ว่าสีกากีหรือสีเหลือง ไม่ประกันคุณภาพว่าล้วนเป็นคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ และไม่เรียก “เงินทอน” จากวัดที่รับเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

ดังมีข่าวอื้อฉาวต่อเนื่องหลายกรณี แล้วพัวพันถึงวัดต่างๆ เช่น วัดพนัญเชิง อยุธยา

ไม่พบหนังสือประวัติ วัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิงที่อยุธยา เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่ากรุงศรีอยุธยา (ที่คนส่วนมากรู้จัก) มีคนศรัทธาเลื่อมใสมาก โดยเฉพาะคนจีน

Advertisement

นับเป็นวัดระดับราชามหาเศรษฐี มีรายได้มากจากเงินทำบุญ จึงมีสิ่งก่อสร้างมากมายใหญ่โตมโหฬารกึกก้องในวัด

แต่หาไม่พบหนังสือประวัติความเป็นมาวัดพนัญเชิง ซึ่งมีตำนานนิทานพงศาวดารที่เกี่ยวข้องทั้งทางสังคมวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจการเมือง

วัดมั่งคั่งระดับราชามหาเศรษฐีมีอีกมากในไทยเกือบทุกจังหวัด มีทัศนะอย่างเดียวกัน ได้แก่ ล้วนเลื่อมใสการก่อสร้างถาวรวัตถุสถาน มากกว่าแบ่งปันข้อมูลความรู้เกี่ยวกับชุมชนและวัดนั้นๆ เพื่อเกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

Advertisement

แต่เสียงสาธยายประจำจากวัดเหล่านั้น เทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านลด ละ เลิก บรรดาโลภ โกรธ หลง ในลาภ ยศ สรรเสริญ ทางวัตถุทั้งมวล ดูแล้วสวนทางกันอย่างน่าสะอิดสะเอียน

 

การเมือง, การศาสนา, และการค้าโลก

ราวหลัง พ.ศ. 1700 พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา ใช้ภาษาบาลี ได้รับความนิยมยกย่องนับถือแพร่หลายทั่วภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์

เหตุหนึ่งน่าจะมาจากแนวคิดเถรวาทเปิดช่องให้พระราชามาได้จากผู้มีบุญ คือพ่อค้าสามัญชนผู้มีทรัพย์ทำบุญมากในพุทธศาสนา (โดยไม่ต้องเป็นเทวะเหมือนศาสนาพราหมณ์)

การค้า, การเมือง, การศาสนา แยกกันเป็นส่วนๆ ไม่ได้ แต่ประวัติศาสตร์ไทยจับแยกเป็นส่วนๆ โดยไม่ให้เกี่ยวข้องกันซึ่งผิดปกติมากๆ

วัดพนัญเชิง มีกำเนิดและความเป็นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกำเนิดและความเป็นมาของรัฐอยุธยา (หรือ กรุงศรีอยุธยา) แล้วยังเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ได้กับการค้านานาชาติทางทะเลสมุทร โดยเฉพาะค้าสำเภากับจีน

เหล่านี้หาไม่พบ หรือพบอย่างผิวเผินในประวัติศาสตร์ไทย

 

ก่อนมีอยุธยา มีวัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิง สร้างเสร็จ พ.ศ. 1867 ในรัฐอโยธยา (ขณะนั้นเป็นเวลา 26 ปี ก่อนมีรัฐอยุธยาที่สถาปนา พ.ศ. 1893)

อยู่ปากคลองสวนพลู บริเวณปากน้ำบางกะจะ ที่แม่น้ำ 2 สายไหลลงมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำป่าสัก

“พนัญเชิง” จากภาษาเขมร หมายถึงวัดที่มีพระพุทธรูปโตใหญ่นั่งขัดสมาธิ ซึ่งกลายคำจากภาษาเขมรว่า “แภฺนนเชิง” (พะ-แนน-เจิง) แปลว่า นั่งขัดสมาธิ

ได้แก่ พระพุทธรูปประธานในวิหารหลวง วัดพนัญเชิง ทำด้วยปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยสูง 19 เมตร หนักตักกว้าง 14 เมตร (วัดจากหัวเข่าซ้าย-ขวา)

อยุธยาก่อนหน้านั้นเป็นหลักแหล่งของคนในรัฐละโว้ พูดภาษาเขมร ต่อมาด้วยเหตุผลทางการค้าและการเมือง ทำให้กลายตัวเองเป็นคนไทย พูดภาษาไทย แล้วยกย่องภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ และคำศักดิ์สิทธิ์ (อธิบายตามแนวทางหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2559)

ชุมชนคนจีน ย่านวัดพนัญเชิง

คลองสวนพลู ทำแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนคนจีนพ่อค้าสำเภา น่าเชื่อว่ามีมาแต่ยุครัฐละโว้ (ราวหลัง พ.ศ. 1500 ศูนย์กลางอยู่ จ. ลพบุรี) ต่อมาเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสำเภาจอดค้าขายสินค้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก

สายน้ำผึ้ง-สร้อยดอกหมาก ตำนานวัดพนัญเชิง (มีในพงศาวดารเหนือ) เล่าว่าสร้างโดยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง เพื่อพระราชทานเพลิงศพนางสร้อยดอกหมาก (ธิดาพระเจ้ากรุงจีน) ที่กลั้นใจตายเพราะน้อยใจ

สองฝั่งคลองสวนพลู ในเอกสารจากหอหลวงระบุว่ามีชาวจีนตั้งเตาต้มเหล้า, เลี้ยงหมู, ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ขายทั่วไป และต่อเนื่องไปมีโรงสีข้าว, ตำ(ซ้อม)ข้าว ไว้ขาย

มีข้อมูลน่าเชื่อว่าบรรพชนพระเจ้าตากอยู่ละแวกคลองสวนพลู ซึ่งเป็นชุมชนคนจีนแต้จิ๋ว (ในเมืองเป็นจีนฮกเกี้ยน)

ซำปอกง เป็นคำจีนที่คนเชื้อสายจีนในไทยและในอุษาคเนย์ ใช้ยกย่องเรียกพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น หลวงพ่อโต พระประธานในวัดพนัญเชิง เป็นต้น

ซำปอกง หมายถึง พระไตรรัตน์ยิ่งใหญ่ไพศาล [ซำปอ แปลว่า ไตรรัตน์, กง เป็นคำยกย่องเรียกผู้ทรงคุณธรรมความรู้ และสูงอายุ]

ด้วยเหตุนี้เอง ร.4 จึงพระราชทานนามพระพุทธรูปใหญ่วัดพนัญเชิง (อยุธยา) กับวัดกัลยาณมิตร (กรุงเทพฯ) ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก

นอกจากนั้นคนเชื้อสายจีนยังยกย่อง เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือขันที ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนว่า ซำปอกง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image