แพรกหนามแดง…นวัตกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน – พจนา อาภานุรักษ์

ชุมชนแพรกหนามแดง ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ลักษณะพื้นที่บริเวณนี้มีลำคลองที่เชื่อมโยงกันถึง 36 ลำคลอง คนในชุมชนส่วนใหญ่จึง
มีอาชีพที่พึ่งพากับสายน้ำเป็นหลัก เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำนาข้าว และทำสวนผักตามลำน้ำที่ใกล้ที่อยู่อาศัย

ในปี 2545 ชุมชนนี้เคยประสบปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ด้วยลักษณะพื้นที่ชุมชนที่แบ่งออกเป็นฝั่งน้ำจืดและฝั่งน้ำเค็ม เมื่อมีการก่อสร้างถนนธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ยิ่งทำให้ตำบลแพรกหนามแดงถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ส่งผลให้ฝั่งที่ใกล้กับทะเลมีความเป็นน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น เพราะมีถนนเป็นตัวสกัดกั้นทางไหลของน้ำให้ไปอีกด้านหนึ่งได้น้อยลง ในขณะที่ฝั่งน้ำจืดก็ไม่สามารถผลักดันน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มออกไปได้ กอปรกับการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่จังหวัดกาญจนบุรีและภาวะฝนแล้ง ยิ่งส่งผลทวีความรุนแรงด้านปัญหาการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้มากขึ้นไปอีก

ต่อมาในภายหลังชุมชนนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้ประตูระบายน้ำซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในโครงการ “รูปแบบการจัดการน้ำในลำคลองตำบลแพรกหนามแดง” โดยมีนายปัญญา โตกทอง เป็นหัวหน้าโครงการ และเรื่อง “แนวทางการสร้างกระบวนการจัดสวัสดิการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนตำบลแพรกหนามแดง” โดยมีนายสมบูรณ์ แดงอรุณ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ทั้ง 2 โครงการวิจัยที่ผ่านมานี้เกิดผลสำเร็จทั้งในแง่ของการพัฒนาตัวทีมวิจัยที่เป็นชาวบ้านในเรื่องของวิธีคิดและกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญเริ่มหลั่งไหลเข้ามาตามเส้นถนนพระราม 2 ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเจริญเหล่านั้นส่งผลต่อสภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งบวกและลบ เกิดการโยกย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรเข้าสู่อุตสาหกรรม สมาชิกครอบครัวมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันลดน้อยลง รูปแบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเริ่มมีช่องว่างระหว่างวัย การเข้ามาของสื่อดิจิทัลต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรับรู้ค่านิยมบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ปัญหาเด็กแว้นสก๊อย การรวมกลุ่มยกพวกตีกัน ติดเกมส์ อัตราการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรสูง และปัญหายาเสพติด

จากปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นทุกวันๆ ทีมผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (node) จังหวัดสมุทรสงคราม นำโดยคุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ คุณคำรณ นิ่งอนงค์ คุณนฤวัต แซ่ตัน คุณสุทธิลักษณ์ โตกทอง คุณนิภา บัวจันทร์ คุณพจนา วิเชียรฉาย คุณสมศักดิ์ ริ้วทอง และคุณบุญชอบ พ่วงสำราญ รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนคนอื่นๆ ในตำบลแพรกหนามแดง ได้มีการระดมความคิดและเห็นตรงกันว่าการทำงานในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงยังขาดการทำงานประเด็นด้านเด็กและเยาวชนอยู่ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของพื้นที่ จึงได้นำกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างพลังให้กับเด็กและเยาวชน โดยตั้งโจทย์การทำวิจัยครั้งนี้ไว้ว่า “การพัฒนาศักยภาพและทักษะการใช้ชีวิตผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม”

รูปแบบการทำการวิจัยในครั้งนี้เน้นการกู้ศักยภาพของเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับการยอมรับ ขาดความไว้วางใจจากคนในชุมชน และถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นพวกที่ไม่เอาไหนให้ได้เรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเด็กในระบบโรงเรียนและผู้ใหญ่ในชุมชน โดยใช้กระบวนการขัดเกลาทางสังคมทางอ้อม (indirect socialization) ผ่านการลงพื้นที่วิเคราะห์ชุมชนในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ชุมชน ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตชุมชนในมิติด้านรูปแบบกิจกรรมการละเล่นของเด็กและเยาวชนในอดีตกับปัจจุบัน การทำกิจกรรมเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ผ่านมา การวิเคราะห์สภาพปัญหาเด็กและเยาวชนพื้นที่แพรกหนามแดงในปัจจุบัน การออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลากหลายประเด็นร่วมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี รวมถึงเปิดเวทีเพื่อสรุปบทเรียนและถอดกระบวนการเรียนรู้จากการทำวิจัยในครั้งนี้

Advertisement

ในทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัยทีมผู้ประสานงาน (node) ทั้งส่วนพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและที่อยู่ประจำในพื้นที่แพรกหนามแดงจะมีการปูทางให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนก่อนลงพื้นที่ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน และทุกๆ ครั้งที่ลงชุมชน ลุงเปี๊ยก (สมศักดิ์ ริ้วทอง) และลุงชอบ (บุญชอบ พ่วงสำราญ) ก็จะลงพื้นที่พร้อมกับเด็กๆ เสมอ โดยลุงเปี๊ยกรับผิดชอบพื้นที่ฝั่งน้ำเค็ม ส่วนลุงชอบดูแลพื้นที่ฝั่งน้ำจืด ในส่วนของกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล พี่แมว (นิภา บัวจันทร์) หนึ่งในทีม node จะใช้กระบวนการตั้งคำถามกับกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กๆ คิดค้นชุดคำถามหรือบทสนทนาที่จะใช้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ

นอกจากนี้ทีม node ยังชวนเด็กๆ วิเคราะห์ปฏิทินเวลาชีวิตในแต่ละวันเพื่อให้เห็นถึงสภาพปัญหาของกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และพบว่าในเด็กกลุ่มเสี่ยงนั้นใช้เวลากลางวันในการนอนและตื่นในเวลากลางคืน ซึ่งสวนทางกับเวลาชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงได้สะท้อนว่าต้องการทำกิจกรรมที่ทำให้มีรายได้ เช่น การขายน้ำ ทำหมูปิ้งขายคนที่ทำงานในโรงงานตอนเช้า ทำของว่างเพื่อเสิร์ฟเวลามีการจัดประชุม ทีม node จึงชวนตั้งคำถามต่อไปว่า หากยังนอนกลางวันตื่นกลางคืนแล้วจะขายสินค้าให้กับคนทั่วไปที่นอนกลางคืนตื่นกลางวันได้อย่างไร? แม้จะเป็นคำถามง่ายๆ แต่ก็สำคัญเพียงพอที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้คิดและหันกลับมาปรับเวลาชีวิตของตัวเองให้เหมือนคนทั่วๆ ไป

ต่อมาจึงได้มีการเปิดเวทีพัฒนารูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ตามความสนใจของเด็ก เช่น การเล่นดนตรีสากลและการรำไทย เป็นต้น

ออย หนึ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยงหัวโจกและเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนี้ เป็นอีกคนที่เข้าร่วมกระบวนการวิจัยโดยการเดินเข้ามาหาพี่แมว (นิภา บัวจันทร์) ด้วยต้องการที่ยืนและการยอมรับจากคนในชุมชน แม้ว่าปัจจุบันออยจะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่ออยสามารถสร้างอาชีพทำบ่อกุ้ง มีรายได้จากการเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ สามารถทำงานร่วมกับชุมชน และเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เน้นการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กที่มีปัญหาและต้องการกลับเข้าชุมชนอีกครั้ง

ในส่วนของกระบวนการวิจัยในโครงการนี้ยังอยู่ในระยะการถอดบทเรียนเพื่อทบทวน คิดค้น และพัฒนารูปแบบกิจกรรมที่จะช่วยเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงต่อไป รวมถึงทีม node และทีมนักวิจัยเด็กจำเป็นต้องใช้เวลาในการตกผลึกการเรียนรู้และสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวกลุ่มเด็กและเยาวชนและชุมชน

แต่จากการลงพื้นที่เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นด้านการศึกษา ทีมสังเคราะห์ข้อมูลสังเกตเห็นได้ว่าการทำวิจัยในประเด็นด้านเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมีกระบวนการทางจิตวิทยาที่สอดคล้องกับทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของอับราฮัม มาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่เริ่มต้นจากการศึกษาและตอบสนองความต้องการ ขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นความต้องการด้านกายภาพของเด็กและเยาวชน เป็นความต้องการในการอยู่รอดของมนุษย์ ได้แก่ ปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต โดยทีม node ใช้การชวนเด็กๆ มากินข้าวกินน้ำด้วยกันที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นพร้อมชวนกันทำงานวิจัยในคราวเดียวกัน ตามมา ขั้นที่ 2 การทำให้เด็กๆ รู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ด้วยการทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยจะเข้ามาร่วมกระบวนการวิจัย โดยทีม node ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชนและตำรวจในพื้นที่ให้เข้าใจและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทำงานอย่างสะดวก นอกจากนี้ทีม node ยังมีการชวนพูดคุย ซักถามถึงปัญหาหรือสถานการณ์ยากลำบากที่ต้องเผชิญ มองปัญหาของเด็กอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้ความรักและความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละคน อีกทั้งยังฝึกให้เด็กและเยาวชนมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบตัวผ่านการลงพื้นที่พูดคุยสานสัมพันธ์กับคนในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับ ขั้นที่ 3 ที่ว่าด้วยความต้องการความรักและการมีสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ในส่วนของ ขั้นที่ 4 การได้รับการยอมรับนับถือ

และ ขั้นที่ 5 ความต้องการในการได้รับการพัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดนั้น ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในโครงการนี้ และจำเป็นจะต้องมีการจัดกระบวนการอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างยั่งยืน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ารูปแบบการขึ้นโจทย์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นเด็กและเยาวชนนั้น สำคัญอยู่ที่การสร้างพื้นที่ยืนในการแสดงออกถึงการมีตัวตนของกลุ่มเด็กและเยาวชน และทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างได้รับการยอมรับ นอกจากนี้กระบวนการวิจัยยังต้องสร้างพื้นที่ทางสังคมกว้างเพียงพอที่เด็กและเยาวชนในพื้นที่จะสามารถลงมือทำกิจกรรมตามความสนใจและศักยภาพของพวกเขาได้ เพื่อที่ว่าในอนาคตพวกเขาเหล่านี้จะเป็นผู้ที่อยู่ดูแลชุมชนและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชุมชนต่อไป

ใครที่กำลังมองหากระบวนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน เด็กแว้นสก๊อย หัวโจกยกพวกตีกัน เด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน มั่วสุมติดเกมส์ อ่านบทความนี้แล้วอาจได้ข้อคิด ในโลกของคน 2 วัยที่ช่องว่างเริ่มห่างขึ้น วิถีชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสามารถเข้ามาเป็นตัวเชื่อม ให้ที่ยืน สร้างโอกาส ในปัจจุบันแพรกหนามแดงแทบไม่มีปัญหาดังในอดีตอีกเลย นี่คือนวัตกรรมทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image