โครงการที่เกิดด้วยคำสั่งที่เละเทะจะโปร่งใสได้อย่างไร? : โดย สมหมาย ภาษี

โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 30/2560 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนคนไทยผู้รักและเป็นห่วงประเทศชาติเป็นจำนวนมากโครงการหนึ่ง ทั้งในแง่ของความหวาดกลัวว่าจะเป็นการยกประเทศไทยให้จีนไป เพราะว่าได้มีการยกเว้นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมรวมกันถึง 6 มาตรา และในคำสั่งยังให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ถึง 7 เรื่องด้วยกัน

กฎหมายที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ 7 เรื่องนั้น ล้วนแต่เป็นกฎหมายสำคัญทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานต่างๆ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งฉบับนี้สำคัญมาก มีคุณความดีมากในการดูแลการจัดการซื้อจัดจ้างภาครัฐที่รู้จักกันดีในหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ มีมาครึ่งศตวรรษแล้ว แต่มีการปรับปรุงให้กระชับและมีประสิทธิภาพหลายครั้ง

แม้กระนั้นก็ยังมีการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยราชการอยู่เนืองๆ หากยกเว้นไม่ต้องนำมาใช้บังคับ แล้วมันจะกินกันขนาดไหนลองคิดดู

อีกฉบับหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือการยกเว้นคำสั่ง คสช.ที่ 11/2560 เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ว่าน่าสนใจมากก็คือว่า คำสั่งซึ่งเป็นเสมือนกฎหมายของหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ กับคำสั่งที่ให้มีการยกเว้นการบังคับใช้เรื่องนี้ เป็นคำสั่งของหัวหน้า คสช.คนเดียวกัน ซึ่ง 2 คำสั่งนี้มาจาก ม.44 ด้วยกัน ห่างกันเพียง 112 วันเท่านั้นเอง อย่างนี้ใครๆ เห็นเข้าก็ต้องคิดว่าเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า ซึ่งทั้งคนชงและคนเซ็นทั้งสองฉบับนี้ เป็นคนระดับรองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยนะท่านผู้อ่านทั้งหลาย ส่วนที่เหลืออีก 4 ฉบับที่ไม่อยากจะเอ่ยถึงก็ล้วนแล้วแต่เป็นระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี และระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้างและการพัสดุทั้งสิ้น

Advertisement

ทีนี้มาดูข้อความอื่นๆ ที่นำมากล่าวถึงในคำสั่งใช้ ม.44 ฉบับที่ 30/2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 กันบ้าง ดังต่อไปนี้

เหตุผลความจำเป็นที่ต้องนำ ม.44 มาใช้แก้ปัญหาในเรื่องนี้ตามคำสั่งนั้น มีเต็มพิกัด ไม่ว่าในเรื่องความรวดเร็วต่อการขับเคลื่อนโครงการ ความจำเป็นเพราะเป็นเรื่องการดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และยังต้องมีความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ถ้าจะถามว่าได้นำ ม.44 มาใช้ทำอะไรบ้างหรือ? ก็พอจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คำสั่งนี้มีสาระสำคัญให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจ้างโดยตรงกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศจีน เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยให้รับงานแทบทุกขั้นตอนตั้งแต่งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหากระบวนรถไฟและการฝึกอบรมบุคลากร ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา บริษัทก่อสร้างไทยสามารถเข้ามารับงานได้

Advertisement

การอ้างความรวดเร็วในการขับเคลื่อนโครงการนั้น สาระของเรื่องนี้คือต้องการยกเว้นระเบียบกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างทั้งมวล ซึ่งจะได้ซื้อและจ้างตามใจฉัน ไม่ว่าจะจากบริษัทจีนหรือบริษัทไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศนี้จะใช้เกณฑ์อะไรมากำกับการซื้อและจ้าง ใครนึกออกบ้างช่วยบอกเอาบุญหน่อยเถอะ

เหตุผลที่พยายามชี้แจงให้ประชาชนเห็นด้วยในคำสั่งที่ 30/2560 นี้ อีกประการหนึ่งที่ว่า “ด้วยเหตุผลที่การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เป็นการดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งโดยสภาพข้อเท็จจริงจำเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง ในขณะที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถเร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ จึงจำเป็นต้องกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ”

ข้อนี้ยิ่งฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียดไม่ได้เลย ผู้เขียนมองไม่เห็นเลยที่ว่าจะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ…จึงจำเป็นต้องกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ด้วยการยกเว้นกฎเกณฑ์ ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างทั้งของราชการและของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมด หรืออีกนัยหนึ่งต้องเลิก ต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จึงจะเกิดความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และอย่างนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และอย่างนี้นะหรือจะเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐ ตรรกะเหล่านี้แหละที่เรียกว่า เละเทะ

ที่น่าสมเพชยิ่งกว่านั้น ในคำสั่งยังระบุว่า การดำเนินการทำสัญญาจ้างโครงการนี้ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มาใช้กับการดำเนินการด้วย

ข้อตกลงคุณธรรมนี้คือ เครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่พัฒนาโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ข้อตกลงคุณธรรมจะเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่สนใจเข้ามาเสนอราคารับงาน ว่าจะไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริต โดยยอมรับให้มีบุคคลที่ 3 ที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่เริ่มโครงการจนสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ซื่อสัตย์ และเป็นกลาง จะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อตกลงคุณธรรมนี้ออกแบบมาเพื่อใช้กับโครงการที่มีการประกวดราคาเท่านั้น ไม่ใช่ให้นำมาใช้กับโครงการที่ใช้อำนาจพิเศษเละเทะเช่นนี้

ยังมีอีกเรื่องนอกจากข้อตกลงคุณธรรมแล้ว ยังมีความพยายามของรัฐบาล คสช.ที่จะใช้เครื่องมือของรัฐที่มีอยู่เป็นเครื่องซักล้างโครงการนี้ให้ดูสะอาด คือ การให้โครงการนี้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่เรียกว่าสภาพัฒน์ หากทำเช่นนั้นก็จะทำให้ข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องฉงนกันแน่ เพราะตามคำสั่งที่ 30/2560 ในข้อ 2 ของหัวหน้า คสช.นั้น เป็นการสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้สภาพัฒน์ หรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหรอกครับ ดังนั้นหากสภาพัฒน์รับพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมานี้ ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็เท่ากับว่าสภาพัฒน์สมัยนี้ไม่ต่างอะไรจากเครื่องซักผ้ายี่ห้อดังต่างๆ ที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้คือ เพียงแค่กดปุ่มก็จะใช้ง่าย ใช้ทน และรับรองสะอาดดี

นี่แหละครับ การใช้ความเละเทะไปสร้างความโปร่งใสนั้น มักจะเลอะเทอะทั่วไปหมดด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image