ท็อปป๊อปคอร์น : กรณีตัวอย่าง

คําพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือท็อปป๊อปคอร์น ที่อ่านเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านไปนี้ ควรเป็นบทเรียนสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกคน ตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นลงมาจนถึงพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนั้น

และควรเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับใช้ในการศึกษาวิชากฎหมายสำหรับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนายร้อยตำรวจด้วย คงจำกันได้ว่านายวิวัฒน์ตกเป็นผู้ต้องหาของตำรวจในคดีฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ขณะที่มีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และผู้สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งชุมนุมกันที่แยกหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ตำรวจอ้างว่าขณะเกิดเหตุนายวิวัฒน์สวมหมวกไหมพรมปิดหน้าและใช้อาวุธปืนซึ่งซ่อนไว้ในถุงข้าวโพดยี่ห้อป๊อปคอร์นยิงไปยังฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้าม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 คน ตำรวจจับกุมตัวนายวิวัฒน์ได้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ในชั้นสอบสวนนายวิวัฒน์ให้การรับสารภาพ และตำรวจได้แถลงข่าวโดยนำตัวนายวิวัฒน์ไปแสดงในการแถลงข่าวด้วย

และนอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ในการแถลงข่าวยังมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ในฐานะเลขาธิการศูนย์ร่วมด้วย ขณะแถลงข่าว ร.ต.อ.เฉลิมได้ซักถามกล่าวนำและบังคับให้นายวิวัฒน์แสดงท่าทางประกอบคำให้การตลอดเวลา

Advertisement

ถึงแม้ว่าการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นนายวิวัฒน์จะต่อสู้คดีและให้การปฏิเสธ แต่ศาลก็พิพากษาลงโทษจำคุกนายวิวัฒน์เป็นเวลา 37 ปี 4 เดือน โดยไม่รอการลงอาญา และนายวิวัฒน์ได้ยื่นอุทธรณ์

ที่ผมบอกว่าการยกฟ้องของศาลอุทธรณ์ควรจะเป็นบทเรียนและควรเป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษาวิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็เพราะว่าศาลอุทธรณ์ได้ชี้ให้เห็นความไม่สมบูรณ์ของพยานหลักฐานที่โจทก์อ้างในการพิจารณาคดี

ที่สำคัญก็คือ การที่โจทก์นำเอาภาพ วิดีโอที่ตำรวจไม่ได้ถ่ายเอง แต่ถ่ายโดยบุคคลภายนอกไปอ้างเป็นหลักฐานในคดี โดยใช้ภาพผู้ต้องหาที่ได้จากกล้องวงจรปิดของการรถไฟแห่งประเทศไทย และจากภาพเหตุการณ์ในสื่ออินเตอร์เน็ต โดยนำภาพเหล่านั้นมารวมบันทึกเป็นภาพนิ่งลงบนแผ่นซีดีแล้วนำไปใช้เป็นวัตถุพยาน ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแผ่นซีดีนั้น เมื่อเป็นข้อมูลที่ฝ่ายสืบสวนคัดลอกมาจากสื่ออินเตอร์เน็ต ก็เป็นข้อมูลที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปสามารถนำเข้าและคัดลอกข้อมูลดังกล่าวได้โดยง่าย

Advertisement

นอกจากนั้น โจทก์ยังไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่ามีการบันทึกภาพจากที่เกิดเหตุด้วย อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุขัดข้องว่า เพราะอะไรในการพิจารณาคดีโจทก์จึงนำอาวุธปืนของกลางไปแสดงไม่ได้ และไม่ปรากฏด้วยว่ามีการตรวจพบลายนิ้วมือแฝงของจำเลยในที่เกิดเหตุ

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ และจำเลยให้สัมภาษณ์นักข่าว เล่าถึงประวัติตนเองและยอมรับว่าตนเป็นชายชุดดำที่ถือถุงใส่ข้าวโพด แต่ศาลเห็นว่าขณะนั้นจำเลยอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ย่อมมีความเกรงกลัวว่าจะถูกทำร้ายในภายหลัง หากให้สัมภาษณ์ไม่ตรงตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่

กรณีจึงไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายกับจำเลยได้เช่นกัน ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยเองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีทนายความหรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย คำให้การของจำเลยจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟัง

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย, 134/1 และ 134/3 ศาลเห็นว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีเพียงภาพเหตุการณ์จากสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อมวลชนเป็นหลักฐาน แต่ไม่มีพยานบุคคลผู้บันทึกภาพขณะเกิดเหตุไปยืนยัน ทั้งๆ ที่มีประจักษ์พยานมากมายในวันเกิดเหตุ มีแต่เพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลยซึ่งเป็นพิรุธและเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่

ดังนั้น จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา

จะเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องนั้น ก็เพราะตำรวจชะล่าใจและเชื่อกล้องวงจรปิดว่าเพียงพอที่จะใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีได้ หรือมิฉะนั้นก็ทำสำนวนแบบสุกเอาเผากิน หรือขาดประสบการณ์ มิหนำซ้ำยังอ่อนวิชากฎหมายด้วย

เป็นบทเรียนสำหรับทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวน และควรที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการสอนวิชากฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image