การเมืองนคร-ความรู้เบื้องต้น

การศึกษาการเมืองนคร (Urban Politics) เป็นแนวทางการศึกษาการเมืองที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากนัก เว้นแต่เป็นหนึ่งในวิชาเลือกที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ซึ่งกระผมได้รับมอบหมายให้พัฒนาและรับผิดชอบบรรยายในวิชานี้มาสักสิบปีแล้ว ในชื่อวิชาที่เป็นทางการก็คือ การเมืองกับนโยบายการพัฒนาเมือง

ซึ่งมีนิสิตที่สนใจเรียนจำนวนหนึ่ง คนที่เรียนส่วนใหญ่ก็ชอบเพราะว่าแปลกดี ไม่เคยคิดว่าการเมืองกับการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองมันเกี่ยวพันกันอย่างจริงจัง ส่วนคนสอนน่ะชอบมากอยู่แล้วครับ ผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันการพัฒนาวิชานี้ก็คือ ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ซึ่งแนะนำให้ผมรู้จักสิ่งที่เรียกว่า นครศึกษา (Urban Studies) ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตรุ่นพี่ที่คณะ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ที่ผลักดันให้ภาควิชาในยุคที่ผมสมัครเข้าเป็นอาจารย์ เห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาการเมืองนคร รวมทั้งรอง ศ.ประหยัด หงษ์ทองคำ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านการปกครองท้องถิ่นท่านหนึ่ง ในตอนที่เป็นหัวหน้าภาคและสมาชิกภาควิชาปกครอง

ในยุคนั้นที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ของอาจารย์ไชยันต์ในสมัยนั้นและรับผมเข้าเป็นอาจารย์ภายใต้เงื่อนไขให้ไปศึกษาต่อและพัฒนาวิชาดังกล่าวกลับมาให้ได้ อีกสองท่านที่สำคัญคือ ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ คณบดีในสมัยนั้น และ ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี หัวหน้าภาคในสมัยนั้นที่อนุมัติให้ผมได้สมัครเรียนในสาขาวิชาที่ผสมผสานระหว่างการวางผังภาคและเมือง สังคมวิทยา ภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จนได้กลับมาเปิดสอนวิชานี้ที่คณะรัฐศาสตร์เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมา

หลายคนที่นึกภาพไม่ออกว่าการศึกษาการเมืองนครมันคืออะไร สิ่งที่คุ้นชินมากที่สุดก็คือเพื่อนสนิทมิตรสหายของวิชาการเมืองนคร นั่นก็คือ วิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีการสอนในคณะรัฐศาสตร์ในทุกหลักสูตร และเป็นวิชาเก่าแก่มาตั้งแต่ตั้งคณะรัฐศาสตร์ วิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่นในอดีตมักให้ความสำคัญกับการศึกษาการปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบเป็นหลัก

Advertisement

กล่าวคือสนใจศึกษาเรื่องสำคัญคือการเปรียบเทียบรูปแบบการจัดการปกครองในระดับท้องถิ่นของประเทศต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยการปกครองท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง อีกมิติที่สำคัญของวิชาการปกครองท้องถิ่นในอดีตที่ยังคงสำคัญมาจนถึงวันนี้ก็คือ เรื่องของการศึกษาอำนาจหน้าที่ของหน่วยการปกครองท้องถิ่นในแง่ของกฎหมายว่ามีอำนาจหน้าที่แค่ไหน หน่วยการปกครองท้องถิ่นมีกี่แบบ อำนาจหน้าที่มีอะไรบ้าง

ในส่วนที่ออกจะมีการแตะต้องมิติเรื่องการเมืองท้องถิ่นมากขึ้นในยุคถัดมา ก็จะมีการถกเถียงว่าตกลงชาวบ้านพร้อมที่จะมีการปกครองตนเองได้มากขึ้นแค่ไหน และรูปแบบขั้นตอนของการกระจาย อำนาจจะเป็นอย่างไร (ในแง่นี้ต้องขอคารวะ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผลักดันประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด) รวมไปถึงคำถามที่ว่ากระทรวงมหาดไทยพร้อมหรือไม่ที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

เมื่อ รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้เข้ามาดูแลและพัฒนาการสอนและการวิจัยวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์เวียงรัฐได้บุกเบิกการวิจัยมิติเรื่องของการเมืองและอำนาจในการเข้าใจท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาการเข้าใจโครงสร้างอำนาจในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ

Advertisement

โดยเฉพาะสิ่งที่เรามักจะเรียกกันว่า ระบบอุปถัมภ์Ž อาจารย์เวียงรัฐพยายามทำความเข้าใจว่าระบบอุปถัมภ์นั้นมีกี่รูปแบบ และมันทำงานอย่างไรในระดับท้องถิ่น และ เชื่อมโยงกับโครงข่ายอำนาจระดับชาติอย่างไร รวมทั้งระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมนั้นแปรสภาพและเชื่อมต่อกับระบบการเลือกตั้งสมัยใหม่และระบบพรรคการเมืองอย่างไร

รวมทั้งกำหนดระยะความสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจของรัฐราชการโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยแบบไหน ควบคู่ไปกับการศึกษาการเมืองการปกครองท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นใหม่ที่ภาควิชาการปกครอง ภาควิชาเพื่อนบ้านอย่างรัฐประศาสนศาสตร์ก็พัฒนาการวิจัยและการเรียนการสอนด้านการคลังท้องถิ่นอย่างเช้มข้นจนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติภายใต้ความมุ่งมั่นของ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา และรศ.ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ จนทำให้เราได้เห็นตัวชี้วัดใหม่ๆ ในเรื่องการคลังท้องถิ่นกับประสิทธิภาพของการทำงานของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น

วิชาการเมืองนครของผม เป็นเพียงส่วนเติมเต็มเล็กๆ ของการมุ่งมั่นให้ความสำคัญของท้องถิ่นในการศึกษาการเมือง ของคณะรัฐศาสตร์ โดยถือเป็นการศึกษาคู่ขนานไปกับวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น วิชาการเมืองนครนั้นมีวิชาคู่ขนานที่ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นระบบก็คือวิชาการเมืองชนบท (แต่มีการสอนอยู่บ้างในวิชาการเมืองการปกครองท้องถิ่น) โดยมุ่งหลักใหญ่ใจความแรกไปที่เรื่องของการทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของ พื้นที่Ž ที่เกิดปฏิบัติการทางการเมืองขึ้น

กล่าวคือ เมื่อพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ท้องถิ่นŽ (local/locality) นั้นเราไม่สามารถเข้าใจท้องถิ่นในความหมายที่เป็นนามธรรมกว้างๆ แต่ต้องลงไปเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นให้มากขึ้น ยิ่งเมื่อถอดวิธีการจัดการปกครองของประเทศนี้ในระดับท้องถิ่นออกมาแล้ว จะพบว่านอกจากความเข้าใจในแบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นตามกรอบกฎหมายแล้ว เราจะพบว่าการปกครองในท้องถิ่นเองนั้นมีการแบ่งออกเป็น ลักษณะคร่าวๆ ได้สองแบบก็คือ

การปกครองในระดับเมืองและการปกครองในระดับชนบท โครงสร้างการปกครองในระดับเมืองนั้นก็คือ การปกครองในระดับเทศบาลขึ้นไป รวมทั้งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (และการเคลื่อนไหวขอให้มีการปกครองในรูปแบบดังกล่าว) โดยเฉพาะในพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ และเมืองชายแดนอีกหลายแห่ง

ขณะที่การเมืองในระดับชนบทนั้นก็จะมีเรื่องราวเรื่องขององค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งบทบาทของอำเภอกับพื้นที่เหล่านั้นอยู่มาก ซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับเรื่องของมิติการพัฒนาชนบทอยู่มาก การเมืองในระดับเมืองนั้นมุ่งสนใจไปที่เรื่องของการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนระหว่าง การเติบโต และ/หรือ การล่มสลายของเมือง กับมิติทางการเมือง

โดยดูว่าการเมืองกับเมืองนั้นมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร การศึกษารัฐศาสตร์โดยทั่วไปมักจะสนใจพัฒนาความเข้าใจเรื่องของการเมืองในมิติต่างๆ แต่สิ่งที่ยังขาดไปก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่การเมืองนั้นทำงาน โดยเฉพาะพื้นที่เมืองซึ่งมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจมากมาย

การพยายามอธิบายลักษณะพิเศษของพื้นที่เมืองนั้น ทำให้เราใส่ใจและมีความละเอียดอ่อนในการทำความเข้าใจปฏิบัติการทางอำนาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้มากขึ้น และเข้าใจว่าการเมืองนั้นไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการจัดรูปกฎหมายและการปกครองที่เหมาะสมเท่านั้น

 

เมื่อตั้งหลักสอนในวิชาการเมืองนคร ในสัปดาห์แรกเราพยายาม กดเทปถอยหลัง และตีลังกาทางความคิดŽ โดยเริ่มอ่าน อุตมรัฐŽ ของเพลโตใหม่ และถอยออกจาก ปรัชญาการเมืองŽ มาสู่การตั้งคำถามเรื่อง เมืองŽ ตั้งคำถามกันว่า ช้าก่อนโสคราติสŽ ก่อนที่ท่านจะพยายามบอกว่า ความยุติธรรมนั้นควรจะต้องถูกสร้างขึ้นผ่านการสร้างรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับธรรมชาติของมนุษย์รูปแบบต่างๆ และการปกครองแบบไหนที่ที่สุด ในความคิดŽ ของท่าน

สิ่งที่เราย้อนกลับไปคือ หันไปดูคู่สนทนาเบื้องหลังของโสคราติส ซึ่งเป็นจุดแตกหักระหว่าง รัฐศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ และกำเนิดปรัชญาการเมืองแบบเพลโต ที่มีผลสำคัญในการวางรากฐานการศึกษารัฐศาสตร์ในยุคต่อๆ มา

นั่นคือความเชื่อที่ว่า เราจะสร้างเมืองและออกแบบสิ่งแวดล้อมอย่างไรให้คนมีชีวิตที่ดี กับเราจะสร้างรูปแบบการปกครองอย่างไรให้คนมีชีวิตที่ดี เราจึงตั้งหลักใหม่ว่า จะทำอย่างไรที่จะสร้างทั้งเมือง สิ่งแวดล้อมที่ดี และสัมพันธ์กับการมีระบบการเมืองที่ดีด้วย โดยไม่ได้ศึกษาแต่ธรรมชาติของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ แต่ต้องศึกษาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของมนุษย์ที่ต่างกลุ่มกันด้วย (นั่นคือเงื่อนไขที่สำนักคิดในแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองและวัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์เข้ามามีอิทธิพลในการศึกษาด้วย)

การทำความเข้าใจเรื่องของลักษณะเฉพาะของความเป็นเมือง และกระบวนการการเติบโตขึ้นของเมือง ที่ก่อให้เกิดลักษณะทางสังคมแบบหนึ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องของการมีคนรวยและคนจนเมือง ความเชื่อมโยงของคนจนเมืองกับฐานทางชนบทของเขา การพยายามดิ้นรนแก้ปัญหาในแบบชุมชนในเมือง ความขัดแย้งและร่วมมือกันในการพัฒนาเมืองในแต่ละเรื่อง ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการสะท้อนภาพความซับซ้อนที่เกิดขึ้นของปฏิบัติการอำนาจที่เกิดขึ้นในเมืองทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเรื่องของการมีโครงการและนโยบายบางอย่างที่บางฝ่ายได้ประโยชน์ และบางฝ่ายต้องจ่ายราคาของความสูญเสียอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องว่า ทำไมบางโครงการหรือบางนโยบายถึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้สักที ทั้งที่การไม่มีนโยบายหรือโครงการบางอย่างนั้น อาจเกิดจากความจงใจที่จะไม่ให้มีขึ้น หรือเกิดจากความสามารถของกลุ่มคนบางกลุ่มที่สามารถต้านทานกระแสเรียกร้องได้

ซึ่งหมายถึงทั้งในกรณีที่รัฐและคนที่ได้ประโยชน์พยายามเก็บเรื่องเหล่านั้นไว้หรือทำให้ล่าช้า หรือการที่ชุมชนสามารถรวมตัวกันในการต่อสู้ผลักดันและยืดเยื้อประเด็นการรุกรานและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเขาได้

ตลอดจนมิติของอำนาจที่เกี่ยวเนื่องไปกับการผลิตฉันทามติบางประการที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา หรือสามารถปิดปากให้เงียบลงได้ภายใต้ วาทกรรมบางอย่าง รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่สามารถกำหนดและท้าทายวาทกรรมเมืองบางเรื่องได้ เช่น ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวŽ นั้นหมายถึงชีวิตที่ดีของใครบ้าง

ในท้ายที่สุด การศึกษาปฏิบัติการอำนาจในพื้นที่เมืองนั้นยังรวมไปถึงเรื่องของการทำความเข้าใจมิติของการออกแบบเมืองในระดับจุลภาคในระดับอาคารและชุมชนด้วย เช่น การออกแบบพื้นที่ใช้สอยแบบหนึ่งในชุมชนหนึ่งๆ นั้น จะมีผลต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจในเมืองนั้นอย่างไร จะมีส่วนเสริมหรือลดทอนความสัมพันธ์ทางอำนาจและความขัดแย้งในพื้นที่นั้นๆ อย่างไร

ในแง่นี้การศึกษาการเมืองนครจึงไม่ได้สนใจแค่รูปแบบที่เป็นทางการของการปกครองในระดับท้องถิ่น หรือศึกษาเฉพาะโครงสร้างอำนาจในระดับท้องถิ่น เฉพาะที่ปรากฏตัวในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น แต่ศึกษาไปถึงมิติทางการเมืองที่แอบแฝงและทำงานอยู่ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในระดับเมือง รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองหนึ่งๆ ทั้งนี้โดยตระหนักถึงว่าลักษณะเฉพาะของความเป็นเมือง หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า Urbanism หรือนครานิยม มันเชื่อมโยงกับปฏิบัติการทางอำนาจของผู้คนต่างๆ

อย่างไร ที่ สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ หากเราจะต้องกำหนดนโยบายและโครงการในระดับเมือง เราจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างไร ที่มากไปกว่าเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากเม็ดเงินการลงทุนและกำไรจากโครงการหนึ่งๆ

ตัวอย่างของมิติของความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง การเติบโตของเมือง และนโยบาย/โครงการในระดับเมืองที่เราพูดถึงกันในชั้นเรียน ได้แก่เรื่องของการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเมือง การวางผังเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น การพิจารณาและแก้ปัญหาความยากจน และความเชื่อมโยงอันพิสดารระหว่างความยากจน กับเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการของเมือง

รวมทั้งเรื่องของการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม การจราจร และอินเตอร์เน็ต การศึกษาการเมืองนครยังรวมไปถึงเรื่องของความเชื่อมโยงกันของการเติบโตของเมือง กับการคงอยู่ การเปลี่ยนแปลง และการก่อตัวใหม่ของชุมชน

ทั้งนี้ชุมชนอาจไม่ได้มีแต่ความหมายถึงชุมชนเก่า แต่จะต้องรวมไปถึงชุมชนใหม่ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ชุมชนของคนจนที่มีอาชีพคล้ายกัน ชุมชนของแรงงานต่างด้าว ชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่ในอินเตอร์เน็ต หรือชุมชนแห่งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่ชุมชน จส.ร้อย ที่แก้ปัญหาจราจร ชุมชนโซเชียลใหม่ๆ หรือเครือข่ายสลัมสี่ภาค กลุ่มเรารักษ์แม่น้ำ ในหลายประเทศในโลกนั้น มีการศึกษาการเมืองนครที่เข้มข้น เพื่อเข้าใจถึงความเฟื่องฟูและการล่มสลายของเมืองต่างๆ เพราะเมืองในประเทศเหล่านั้นไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางอย่างเดียว

แต่มาจากความสามารถในการเชื่อมประสานเครือข่ายต่างๆ ของพลังทางสังคมและเครือข่ายทางเศรษฐกิจในพื้นที่ กับความเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในบางพื้นที่การศึกษาการเมืองนครเน้นไปที่บทบาทของนโยบายและโครงการต่างๆ ในเมืองที่แฝงฝังไปด้วยอคติเรื่องการเหยียดผิว ชนชั้น ชาติพันธุ์ และเพศสภาวะในพื้นที่ ในบางพื้นที่การศึกษาการเมืองนครสามารถทำให้เราค้นพบความสามารถของการรวมตัวของผู้คนในพื้นที่ในการต่อต้าน ต่อรอง กับปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่พร้อมจะเบียดขับคนบางกลุ่มที่ถูกกำหนดว่า ไม่เหมาะสมŽ ที่จะอยู่ในเมืองเหล่านั้น

การต่อรองของชุมชนในหลายรูปแบบจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจว่าอำนาจนั้นไม่ได้ทำงานตรงจากคนกลุ่มเดียวเท่านั้น นี่คือบางส่วนเสี้ยวของการศึกษาวิจัยในเรื่องการเมืองนคร ที่ทำให้เราเห็นว่าเราสามารถศึกษาเข้าใจปฏิบัติการอำนาจในเมืองได้อย่างเป็นระบบ โดยเข้าใจทั้งปฏิบัติการทางการเมือง และเข้าใจลักษณะเฉพาะของความเป็นเมืองที่ส่งผลต่อปฏิบัติการทางอำนาจได้ด้วย และทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าเมืองนี้เป็นของใคร และใครบ้างที่มีสิทธิที่จะอ้างความเป็นเจ้าของเมืองแห่งนี้

ยิ่งในกรณีของบ้านเราที่กระบวนการ นคราภิวัฒน์นั้นทำงานขยายตัวไปมากขึ้น (urbanization) และลักษณะนครานิยมนั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนอื่นๆ ของประเทศ เราก็ยิ่งต้องเริ่มสนใจเรื่องของการเมืองนครมากขึ้น คู่ขนานกับการศึกษาการเมืองและการปกครอง ท้องถิ่นครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image