บัญญัติ กฎหมาย บนฐาน แห่งการไม่รู้ แรงงาน ต่างด้าว

กรณีพระราชกำหนด “แรงงานต่างด้าว” อันส่งผลให้มีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตาม “มาตรา 44” ชะลอและยืดเวลาการบังคับใช้

สำคัญและมากด้วยความแหลมคม

สำคัญเพราะเท่ากับเป็นรูปธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รอบคอบ ความไม่รัดกุมอย่างเพียงพอในการตรา “กฎหมาย”

อาจเปี่ยมด้วย “เจตนาดี” แต่ไม่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง”

Advertisement

เจตนาดีในที่นี้ คือ ต้องการจัดระเบียบ วางระบบ ในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” เพื่อให้สามารถควบคุมได้ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในเรื่อง “การค้ามนุษย์”

เป้าหมายอาจอยู่ที่ “เทียร์” อันมาจาก “สหรัฐ”

แต่ความเป็นจริงจากสหรัฐก็คือ ไม่มีผลอะไรเลย เรายังคงถูกจัดอยู่ในจุดเดิม “ถูกเฝ้ามอง” ราวกับว่าการประกาศและบังคับใช้ “พระราชกำหนด” สูญเปล่า

Advertisement

เท่ากับ “เจตนา” ไม่เป็นเอกภาพกับ “ผล”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีเสียงร้องอย่างอึกทึก ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประมง ก่อสร้าง ร้านอาหารและรีสอร์ต

ยิ่งทำให้เห็นว่า “ผลสะเทือน” กว้างไกล และลึกซึ้ง

ธุรกิจขนาดใหญ่มีต้นทุนสูง มีสายป่านยาว อาจสามารถต้านรับกับ “พระราชกำหนด” ได้ แต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หนักหนาสาหัส

ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งยอบแยบ

ปมเงื่อนก็คือ แรงงานจากพม่า กัมพูชา ลาว เกิดการถอนตัวอย่างฉับพลัน เฉพาะแรงงานพม่าก็คืนกลับประเทศโดยฉับพลันเป็นเรือนหมื่น

การก่อสร้างหยุดชะงัก การประมงเป็นอัมพาต

คำถามพุ่งตรงไปยังกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศและบังคับใช้อย่างจู่โจมเช่นนี้มีการตระเตรียมรับมืออย่างไร

คำตอบก็คือ ไม่มีอะไรเลย

กรณีของพระราชกำหนดอันเกี่ยวกับ “แรงงานต่างด้าว” จึงดำเนินไปเหมือนกับกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช.ในเรื่องของ “รถกระบะ”

เจตนาดี แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพ

คำว่า “สภาพ” ในที่นี้คือความเป็นจริง ไม่ว่าความเป็นจริงของการใช้รถกระบะของชาวบ้าน ไม่ว่าความเป็นจริงของแรงงานต่างด้าวในธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก

เท่ากับซ้ำเติม “ประชาชน”

เท่ากับแสดงให้เห็นว่า ก่อนการออกเป็นคำสั่ง หัวหน้า คสช.มิได้มีการศึกษาวัฒนธรรมและความสำคัญของรถกระบะของชาวบ้านอย่างเพียงพอ

ถึงกับอาศัยอำนาจ “มาตรา 44” มา “ทุบ”

เท่ากับแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งกระทรวงแรงงานซึ่งสัมพันธ์กับ “แรงงานต่างด้าว” มาอย่างยาวนาน แทบไม่ได้สรุปบทเรียนอะไรเลย

โดยเฉพาะบทเรียน “ข่าวลือ” ในห้วงหลัง “รัฐประหาร”

โดยเฉพาะความเป็นจริงที่แรงงานพื้นฐานในสังคมประเทศไทยแอบอิงอยู่กับ “แรงงานต่างด้าว” อย่างแนบแน่น

เป็นไปได้อย่างไร

จะโทษ คสช.ก็ไม่ถนัดปาก จะโทษรัฐบาลก็น่าเห็นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “รถกระบะ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “แรงงานต่างด้าว” เพราะเรื่องอย่างนี้ “ทหาร” อาจไม่รู้มาก่อน

ต้องโทษบรรดาพลเรือน ต้องโทษบรรดาข้าราชการ ซึ่งทำงานสัมพันธ์อยู่กับประชาชน เหตุใดจึงไม่บอกความจริงให้กับ คสช.และรัฐบาล

เจตนาดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้อง “รู้” ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image