ประวัติศาสตร์การยึดอำนาจและการก้าวเดินสู่การเลือกตั้ง : โดย นคร พจนวรพงษ์

ประวัติศาสตร์การยึดอำนาจและการก้าวเดินสู่การเลือกตั้ง
ข้อมูลในอดีตอาจจะบอกอะไรท่านได้บ้าง
ในการกำหนดอนาคตของบ้านเมือง

ผู้เขียนขอนำข้อมูลเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ ประวัติแห่งการยึดอำนาจการปกครองประเทศแต่ละครั้ง นำมาวางเป็นรูปแบบเพื่อให้ท่านเห็นภาพรวม โดยยึดรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แต่ละฉบับในช่วงนั้นๆ เป็นหลักหรือเป็นตัวตั้ง แล้วจึงลงรายละเอียดเกี่ยวกับ “อีกกี่วันกี่เดือนจึงจะได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.” ภายหลังการยึดอำนาจแต่ละครั้ง ด้วยการนำข้อมูลมาเสนอเป็นอันดับสุดท้าย ผู้เขียนขออนุญาตที่จะกล่าวถึงแต่เฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น จะไม่ลงลึกก้าวล่วงไปถึงประเด็นอื่น เช่น เหตุผลในการเข้ายึดอำนาจ หรือผลภายหลังการยึดอำนาจ เหตุการณ์การยึดอำนาจที่สำคัญๆ ประมวลได้ทั้งหมด 11 ครั้ง โดยสรุปดังนี้คือ

ครั้งที่ 1. พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เนื่องจากพระยามโนปกรณ์ฯ ดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกา “ให้ปิดสภาผู้แทนและตั้ง ครม.ชุดใหม่” พระยาพหลฯ ทำการยึดอำนาจเพื่อให้เปิดสภาผู้แทนตามปกติและให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ต่อไป (การยึดอำนาจครั้งที่ 1 นี้มิได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.)

ครั้งที่ 2. พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้สนับสนุนให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 และประกาศใช้ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 แล้วจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 99 คน) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2491 (รวมเวลาหลังจากวันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 2 เดือน 21 วัน)

Advertisement

หลังจากที่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ถูกรัฐประหาร คณะผู้ยึดอำนาจได้เชิญให้ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (ขัดตาทัพ) แต่ผลจากการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 54 คนจาก ส.ส.ทั้งหมด 99 คน พ.ต.ควง จึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้วยเหตุที่คณะรัฐประหารผู้ทำการยึดอำนาจได้ลงทุนดำเนินการต่างๆ และเสียค่าใช้จ่ายไปจำนวนมาก เกรงว่าการยึดอำนาจครั้งนี้จะ “เสียของ” จึงตัดสินใจใช้กำลังเข้าขู่บังคับให้ พ.ต.ควง ลาออกใน 24 ชั่วโมง แล้วจอมพล ป.ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492

ครั้งที่ 3. พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารเงียบประกาศยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 และกลับไปประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 และใช้อยู่ระยะหนึ่ง (ต่อมาจึงได้ประกาศใช้ฉบับที่ 6) โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 123 คน) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 (รวมเวลาหลังจากวันที่ยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 2 เดือน 27 วัน)

พล.ท. ผิน หรือ พล.อ.ผิน ทำการยึดอำนาจทั้งสองครั้งก็เพื่อสนับสนุน จอมพล ป. และโดยเฉพาะการยึดอำนาจครั้งที่ 2 นั้น เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.ไม่สามารถควบคุมเสียง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งได้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งมาก่อนในสมัยที่ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ จึงจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าทำการยึดอำนาจ “เป็นการใช้อำนาจเพื่อคงอำนาจ” เพื่อให้จอมพล ป.มีอำนาจต่อไป

Advertisement

อาจพูดได้ว่าต้นตอแห่งการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมิได้ยึดหลักการตามระบอบประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นในสมัยนี้และเลียนแบบต่อๆ กันมา ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานมาให้ทรุดหนักลงไปอีก แล้วความเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและสมบูรณ์แบบเช่นนานาอารยประเทศจะได้มีโอกาสเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้เมื่อใด

ครั้งที่ 4. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 การยึดอำนาจครั้งนี้ไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยให้คงใช้ฉบับที่ 6 ต่อไป และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 160 คน) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 (รวมเวลาหลังจากวันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 2 เดือน 29 วัน) หลังการเลือกตั้งจอมพลสฤษดิ์ผลักดันให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร มือขวาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (1 มกราคม 2501-20 ตุลาคม 2501) แต่รัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาไม่ได้

ครั้งที่ 5. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารเงียบด้วยการยึดอำนาจรัฐบาล พล.ท.ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เป็นการใช้อำนาจเพื่อคงอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ประกาศใช้ฉบับที่ 7 (ฉบับชั่วคราว) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ คราวนี้จอมพลสฤษดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ประมาณ 5 ปีต่อมา จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม พล.อ.ถนอมจึงขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังคงยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ ยืดเยื้อยาวนานอีกหลายปี และในที่สุดต่อมาเมื่อดำเนินการเสร็จจึงได้ประกาศใช้เป็นฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และจัดให้มีการเลือกตั้ง (ส.ส. 219 คน) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 (รวมเวลาตั้งแต่วันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 10 ปี 2 เดือน 19 วัน) ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่งผลให้จอมพลถนอม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกเป็นสมัยที่ 3

ครั้งที่ 6. จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตนเอง หรือรัฐประหารเงียบ ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุผลที่รู้กันภายในว่ารัฐบาลไม่สามารถคุมเสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้ เป็นการใช้อำนาจเพื่อคงอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ที่ยกร่างจัดทำมานานเกือบ10 ปีนั้นเสีย ประกาศใช้ฉบับที่ 9 (ฉบับชั่วคราว) ผลจากรัฐประหาร จอมพลถนอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยเป็นสมัยที่ 4 แล้วดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร) ขึ้นมาใหม่ต่อไป

ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” จอมพลถนอมจำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2516 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน เพื่อให้เลือกกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ใช้สนามม้าเป็นที่ประชุมเลือกกันเอง จึงนิยมเรียกกันว่า “สภาสนามม้า” หรือ “สมัชชาแห่งชาติ” ช่วงนี้เป็นสมัยที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 269 คน) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518

(รวมเวลาถ้านับจากวันมหาวิปโยคคือวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึงวันเลือกตั้งได้ 1 ปี 3 เดือน 12 วัน และถ้านับจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ถึงวันเลือกตั้งก็จะได้ 3 เดือน 19 วัน)

ครั้งที่ 7. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ประกาศใช้ฉบับที่ 11 (ฉบับชั่วคราว) สนับสนุนให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร) ขึ้นมาใหม่ กำหนดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ มี 3 ระยะ ระยะละ 4 ปี รวม 12 ปี เมื่อเวลาผ่านไปปีเศษรัฐบาลนายธานินทร์ ก็สิ้นสุดลงด้วยการถูกยึดอำนาจ

ครั้งที่ 8. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำการยึดอำนาจเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร รัฐบาลที่ตนสนับสนุนให้มารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 (แผนพัฒนาระยะยาว 12 ปี) ประกาศใช้ฉบับที่ 12 (ฉบับชั่วคราว) การยึดอำนาจครั้งที่ 2 นี้ ผลักดันให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นรับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้วดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร) และประกาศใช้เป็นฉบับที่ 13 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 301 คน) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 (รวมเวลาหลังจากวันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี 6 เดือน 2 วัน)

ครั้งที่ 9. พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ประกาศใช้ฉบับที่ 14 (ฉบับชั่วคราว) คณะผู้ยึดอำนาจเชิญให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นฉบับที่ 15 (รูปแบบเดิมๆ ลักษณะเดียวกัน) และประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 360 คน) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 (รวมเวลานับแต่วันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี 29 วัน)

ครั้งที่ 10. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ประกาศใช้ฉบับที่ 17 (ฉบับชั่วคราว) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้ยึดอำนาจดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศใช้เป็นฉบับที่ 18 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550

และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (ส.ส. 480 คน) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 (รวมเวลานับแต่วันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี 3 เดือน 4 วัน)

ครั้งที่ 11. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการยึดอำนาจรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 (ฉบับชั่วคราว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะผู้ยึดอำนาจดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร) เป็นฉบับที่ 20 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 นี้ กำหนดจำนวน ส.ส.ไว้ 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.เขตเลือกตั้ง 350 คน ส.ส.จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง 150 คน และกำหนดจำนวน ส.ว.ไว้ 200 คน ตามบทเฉพาะกาลระยะเริ่มแรกให้มี ส.ว.จำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการสรรหาและแต่งตั้ง ขณะนี้กำลังดำเนินการยกร่างจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ ส.ส.และ ส.ว.มาทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งขณะที่รวบรวมข้อมูลอยู่นี้ ยังมิได้มีประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ที่แน่นอน แต่ประมาณว่าอาจจะปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ที่จะถึงนี้

ข้อมูลโดยสรุปการยึดอำนาจการปกครอง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเกิดขึ้น 11 ครั้ง เมื่อมีการยึดอำนาจแล้วได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไปรวม 7 ครั้งดังนี้ (รวมเวลาตั้งแต่วันยึดอำนาจถึงวันเลือกตั้ง)

1. การยึดอำนาจครั้งที่ 2 ถึงวันเลือกตั้ง .. 2 เดือน 21 วัน
2. การยึดอำนาจครั้งที่ 3 ถึงวันเลือกตั้ง .. 2 เดือน 27 วัน
3. การยึดอำนาจครั้งที่ 4 ถึงวันเลือกตั้ง .. 2 เดือน 29 วัน
4. การยึดอำนาจครั้งที่ 5 ถึงวันเลือกตั้ง 10 ปี 2 เดือน 19 วัน
5. การยึดอำนาจครั้งที่ 8 ถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี 6 เดือน 2 วัน
6. การยึดอำนาจครั้งที่ 9 ถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี .. 29 วัน
7. การยึดอำนาจครั้งที่ 10 ถึงวันเลือกตั้ง 1 ปี 3 เดือน 4 วัน
8. การยึดอำนาจครั้งที่ 11 (ยังมิได้กำหนดวันเลือกตั้ง)

ข้อมูลการปฏิวัติรัฐประหารในอดีต รวมทั้งข้อมูลการจัดการเลือกตั้งภายหลังการยึดอำนาจแต่ละครั้ง อาจจะบอกอะไรท่านได้บ้างในการกำหนดอนาคตของบ้านเมือง

นคร พจนวรพงษ์
กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
กรรมการสภาทนายความ (ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภา)
อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image