แรงงานจากเพื่อนบ้าน : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจก้าวหน้าไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่โชคร้ายมีรัฐบาลเผด็จการทหารปกครองและทำการปิดประเทศ ชาตินิยมเป็นเวลานานถึง 26 ปี รวมทั้งหลายประเทศรอบด้านต้องทำศึกสงครามกับมหาอำนาจตะวันตกมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างกันและไปยึดติดกับความคิดสังคมนิยมจนเกินไป
เมื่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ค่าจ้างแรงงาน สภาพการทำงาน สวัสดิการที่กรรมกรแรงงานได้รับก็เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ก็เป็นของธรรมดาที่ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านย่อมดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า หลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ

การที่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยก้าวหน้าไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมที่ขาดแคลนแรงงาน หรืออย่างน้อยก็เป็นสังคมที่ไม่มีการว่างงาน ทุกคนสามารถหางานทำได้ถ้าต้องการทำงาน ถ้าไม่เลือกงานหรือพื้นที่ที่จะทำงาน

การศึกษาที่ค่อนข้างทั่วถึงเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง สัดส่วนของผู้จบการศึกษาขั้นปริญญาตรีก็ดี มัธยมศึกษาตอนปลายก็ดี จำนวนผู้จบการศึกษาระดับอาชีวะก็ดี มีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ แม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม เพราะพ่อ-แม่คนไทยนิยมส่งเสียให้บุตรหลานมีการศึกษา แม้จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลก็ดี ก็อยากจะได้ปริญญา ยอมเสียเงินเสียทองจำนวนมากส่งเสียให้ลูกหลานเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ที่คุณภาพโดยส่วนรวมและการยอมรับของสังคมต่ำกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลและหางานได้ยากกว่าการเรียนอาชีวศึกษา

คุณค่าทางสังคมที่ต้องการให้ลูกหลานได้รับการศึกษาถึงขั้นอุดมศึกษาแพร่กระจายไปทั่วประเทศ พ่อ-แม่หลายคนถึงกับต้องขายทรัพย์สินเรือกสวนไร่นา เพื่อส่งเสียลูกหลานให้ได้เข้าเรียนจนจบชั้นปริญญา ถ้าไม่สามารถสอบเข้าศึกษาในประเทศ ก็ส่งไปเรียนต่อที่ต่างประเทศสำหรับครอบครัวที่มีฐานะ หรือเมื่อเรียนต่อจบขั้นปริญญาในประเทศแล้วก็ต้องไปเรียนต่อขั้นปริญญาโท ปริญญาเอก ในต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนหลังจากเรียนจบแล้วไม่คุ้มค่า

Advertisement

การศึกษาเป็นช่องทางหนึ่งของการไต่เต้าทางชนชั้นในสังคม ที่การกำหนดชนชั้นมิได้ติดยึดอยู่ที่ชาติกำเนิด นามสกุล หรือทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่ระดับการศึกษาก็มีความสำคัญต่อการเลื่อนชั้นทางสังคมได้ด้วย

โครงสร้างการว่างงานของคนไทย จึงเป็นการว่างงานที่ตำราเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การว่างงานเชิงโครงสร้าง” หรือ structural unemployment กล่าวคือมีงานหลายประเภทหาแรงงานคนไทยทำไม่ได้ แม้ว่าค่าจ้างแรงงานจะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวเลขการว่างงานของคนไทยที่ประสงค์จะทำงานมีกว่า 3-4 แสนคน ทั้งๆ ที่ความต้องการแรงงานมีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในภาคเกษตรกรรมทั้งที่เป็นงานกสิกรรม การประมง สวนยาง ไร่อ้อย ไร่ผลไม้ สวนป่า ฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ ต่างก็ขาดแคลนแรงงาน ไม่สามารถผลิตเพื่อตอบสนองและทันความต้องการของตลาดได้ ทั้งๆ ที่มีคำสั่งซื้อจากในและต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากมีการศึกษาที่สูงเกินไป งานหลายอย่างไม่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีระดับสูงขนาดนั้น แต่หาคนทำงานไม่ได้ ต้องคัดเลือกเอาจากผู้จบปริญญาหรืออาชีวศึกษาของเอกชนที่เป็นที่ยอมรับ ต่ำกว่าผู้สำเร็จการศึกษาของสถาบันการศึกษาของรัฐ การที่ตำแหน่งงานและจำนวนผู้จบการศึกษาที่เหมาะสมไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดการว่างงานเชิงโครงสร้างอย่างมาก

สำหรับตำแหน่งงานที่ว่างแต่คนไทยไม่นิยมทำ ยอมว่างงานแต่ไม่ยอมเสียหน้าตา เสียศักดิ์ศรีในสังคมของตนเพราะตัวเรียนสูงเกินไป จึงเกิดช่องว่างที่แรงงานของประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจนข้นแค้นทยอยกันเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงได้เกิดปัญหาที่กระทรวงแรงงาน ความพยายามออกกฎเกณฑ์ระเบียบกฎหมายต่างๆ เพื่อสะดวกแก่การควบคุม แต่กฎระเบียบเหล่านี้ หลายฉบับก็ปฏิบัติได้ หลายฉบับก็ปฏิบัติไม่ได้ หรือจะปฏิบัติก็เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก เสียเวลาเดินทาง เสียเบี้ยบ้ายรายทางให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งของไทยและของพม่าเป็นจำนวนมาก น่าสงสารมากในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Advertisement

สถานการณ์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยประเทศเดียว แต่ก็เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ระดับการพัฒนาสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งสิงคโปร์ เป็นต้น อเมริกาถึงกับทำรั้วลวดหนามตามชายแดนติดกับเม็กซิโก แต่คนเม็กซิโกก็ยังเล็ดลอดเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก

พวกเราคนไทยก็เคยกระทำผิดกฎหมายแอบเข้าไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่น แล้วก็เคยถูกจับกุมและถูกส่งกลับประเทศให้ได้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ โดยประเทศที่ส่งแรงงานไทยกลับมักจะออกข่าวว่าหญิงไทยหลบเข้าเมืองมาค้าประเวณีบ้าง ค้ายาเสพติดบ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ใช่ แต่เป็นแรงงานที่หลบเข้าไปทำงานที่คนในประเทศนั้นไม่ทำ กฎระเบียบที่กระทรวงแรงงานของประเทศไหนๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย มักจะเป็นกฎระเบียบที่บังคับไม่ได้ เพราะกระทรวงหรือทางการมีจำนวนเจ้าพนักงานก็ดี งบประมาณก็ดี น้อยกว่าปริมาณงานที่ตนต้องทำหรือให้บริการ

นอกจากนั้นแล้วทัศนคติของทางการหรือกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว ที่มีเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การประมง เพื่อให้สามารถทำการผลิตและจำหน่ายเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานไทยได้ขยับฐานะเป็นแรงงานมีฝีมือ เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น โดยมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนในงานที่แรงงานไทยเลือกที่จะไม่ไปทำ

ในช่วงที่อเมริกาทำสงครามเวียดนาม คนอเมริกันถูกเกณฑ์ไปทำสงครามหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสงครามจำนวนมาก จึงเกิดการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐอเมริกาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก คนไทยในยุคนั้นเมื่อเรียนหนังสือจบจึงนิยมไปทำงานในสหรัฐเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นขาดแคลนแพทย์ พยาบาล วิศวกร รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการในหน่วยงานที่ต้องการ ช่างทางเทคนิคต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันสำหรับงานไร้ฝีมือ เช่น งานในร้านอาหาร พนักงานโรงแรม แรงงานในภาคเกษตร เช่น ไร่สตรอเบอรี่ ผักผลไม้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล พีช แอปปิคอต พวกนักเรียนไทยก็แอบไปทำงานเสิร์ฟอาหารบ้าง ล้างจานด้วยเครื่องบ้าง หลายรายหลบไปทำงานในอู่ซ่อมรถยนต์บ้าง คนอเมริกันนิยมใช้ช่างซ่อมรถยนต์คนไทยเพราะฝีมือประณีตกว่าคนอเมริกัน

ทำไปทำมาแรงงานไทยเหล่านั้นก็เป็นเจ้าของร้านอาหาร ร้านขายของชำ เป็นเจ้าของอู่รถยนต์ มีลูกหลานเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไทยที่มีฐานะดีกว่าคนอเมริกันโดยทั่วไปเสียอีก

การปฏิบัติต่อแรงงานเพื่อนบ้านก็ควรปฏิบัติอย่างนิ่มนวล เพราะเขาก็เหมือนแรงงานไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อนที่หลบหนีเข้าไปทำงานในต่างประเทศ ไม่ควรเข้มงวดขาดน้ำใจอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายจึงควรให้เวลากับทั้ง 2 ฝ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อสำคัญกฎหมายก็ควรจะเป็นกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้ ไม่ต้องใช้เวลามากถึง 2 เดือน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและต้องไม่เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของเราขูดรีดหาผลประโยชน์จากแรงงานที่ยากจนทุกข์ยากเหล่านี้

จากคำแถลงของโฆษกรัฐบาล แสดงว่านายกรัฐมนตรีเข้าใจปัญหาเรื่องราวรวมถึงผลประโยชน์ของคนไทยและแรงงานเพื่อนบ้านได้ดีกว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานเป็นอันมาก มีความเข้าใจในการเมืองดีมาก ถ้าทำตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่เสนอพระราชกำหนดเพื่อรวบรัดใช้กฎหมายเลย แทนที่จะเป็น พ.ร.บ.ซึ่งจะต้องพิจารณา 3 วาระในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามประกาศที่อ้างว่าการพิจารณา 3 วาระโดยสภานิติบัญญัติจะเป็นการล่าช้า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

เคราะห์ดีที่นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยืดเวลาออกไปอีก 120 วัน ถ้าพิจารณาไม่ทันก็ควรยืดไปอีก 120 วัน หรือแก้ไขร่าง พ.ร.ก.และเสนอเป็น พ.ร.บ.ตามปกติ อย่าไปยอมให้ฝรั่งจนเกินไป

โลกเราก็เหมือนโรงละครอย่างนี้แหละ..

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image