ดุลยภาพดุลยพินิจ : สภาแรงงานยุโรป-ต้นแบบแรงงานสัมพันธ์ข้ามชาติ : โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อวันที่ 19 เดือนมิถุนายนนี้ ผู้เขียนได้รับเชิญไปฟังศาสตราจารย์แพตริก ซิลเทนเนอร์ จากมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาบรรยายเรื่องสภาแรงงานยุโรป ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธินิคม จันทรวิทูร ร่วมกับสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

น่าสนใจครับ เพราะเป็นเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ในยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนมากมายและมีสหภาพแรงงานในระดับประเทศหลายแห่ง แต่ไม่ทราบว่ามีกี่แห่งที่สหภาพแรงงานไทยมีโอกาสเข้าร่วมสภาแรงงานระดับข้ามชาติ นอกจากนั้นแล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจนำแนวคิดสภาแรงงานแบบยุโรปมาประยุกต์ใช้

สภาแรงงานยุโรป มาจากคำภาษาอังกฤษว่า European Works Councils (EWC) ซึ่งบางคนแปลว่า “สภาคนงานของสหภาพยุโรป” นั้น อันที่จริงน่าจะแปลว่า “สภาโรงงานของยุโรป” เพราะคำภาษาอังกฤษ Works ที่มี s ต่อท้ายนั้นแปลว่าโรงงาน ไม่ใช่ คนงาน

อย่างที่ทราบ สหภาพยุโรป หรือ EU ประกอบด้วยสมาชิก 28 ประเทศ (รวมอังกฤษ) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป มีประชากรกว่า 510 ล้านคน EU เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 2501 สนธิสัญญามาสทริชท์สถาปนาสหภาพยุโรปในปี 2536 รัฐธรรมนูญล่าสุดของ EU คือสนธิสัญญาลิสบอน มีผลใช้บังคับในปี 2552 EU พัฒนาตลาดเดียวผ่านระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานใช้บังคับในสมาชิกทุกประเทศ นโยบายของ EU มุ่งประกันการเคลื่อนย้ายบุคคล สินค้า บริการและทุนอย่างเสรีในตลาดเดียว ที่อาเซียนพยายามจะเอาอย่าง ที่สำคัญคือมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนและแรงงานข้ามชาติใน EU จำนวนมาก จึงทำให้แรงงานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างที่สำนักงานใหญ่กับแรงงานและผลประโยชน์ของแรงงานดังกล่าวในประเทศที่ไปลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ

Advertisement

สภาแรงงานยุโรป ขอเรียกสั้นๆ ว่า EWC เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างของบริษัทข้ามชาติยุโรปแต่ละแห่งที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งของ EU เพื่อเป็นองค์กรที่ลูกจ้างจะได้รับข้อมูลข่าวสารและการปรึกษาหารือจากสำนักงานใหญ่เกี่ยวกับความก้าวหน้าและการตัดสินใจที่สำคัญๆ ในระดับข้ามชาติของบริษัทที่จะมีผลกระทบถึงลูกจ้าง

แนวคิดเรื่อง EWC เริ่มมีตั้งแต่ช่วงปี 2513 แต่ยังไม่เข้าที่เข้าทางจนกระทั่งสิบปีหลังจากนั้นที่เริ่มมีการบูรณาการประเทศในยุโรปและแนวคิดการมีตลาดเดียว และในปี 2528 จึงมีโครงการนำร่อง EWC โดยบริษัทฝรั่งเศสชื่อ ทอมป์สันอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งลูกจ้างประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทข้ามชาติและการปรึกษาหารือหรือฟังความเห็นของฝ่ายลูกจ้าง โดยขณะเดียวกันก็มีผู้แทนลูกจ้างใน EWC โดยการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานพยายามติดต่อสื่อสารข้ามชาติกับแรงงานของบริษัทสาขาที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งอันเป็นปฏิกิริยาต่อบริษัทข้ามชาติ และการแข่งขันลงทุนและการเลือกที่ตั้งบริษัทที่ทำให้แรงงานในประเทศปลายทางรู้สึกว่ามาตรฐานทางสังคมของตนได้รับความกดดัน และเห็นว่าการสร้างเครือข่ายข้ามชาติของแรงงานในบริษัทข้ามชาตินับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการระดมพลังความสามัคคีระหว่างประเทศของสหภาพแรงงาน ในระยะแรกๆ ของการประชุม EWC ยังไม่มีตัวแทนของฝ่ายบริหารเข้าร่วมเพราะยังรู้สึกต่อต้านอยู่

EWC ในยุคแรกก่อตั้งโดยความสมัครใจและไม่มีกฎหมายรองรับ จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2537 สภารัฐมนตรี EU ลงมติรับคำสั่ง European Works Council (EWC) Directive 1994 หรือ Directive 94/95/EC1 of the Council of the European Union ลงวันที่ 22 กันยายน 2537 และบังคับใช้ 2 ปีต่อมา ทั้งนี้ EU ไม่ได้ออกกฎ กติกา มารยาทใดเป็นพิเศษ แต่ใช้วิธีการที่เรียกว่า การแก้ปัญหาโซโลมอน (Solomon Solution) คือเมื่อมีปัญหาก็ให้บริษัทเจรจากับสภาแรงงานเอง

Advertisement

การจัดตั้ง EWC โดยความสมัครใจเป็นไปค่อนข้างช้า แต่ในปี 2539 เพิ่มพรวดอีก 402 แห่ง จากเดิม 130 แห่ง ต่อจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มอย่างช้าๆ จนเป็น 1,480 แห่ง ในปี 2560 ทั้งนี้ ในปี 2552 EU มีการออกคำสั่งใหม่ เรียกว่า Recast Directive 2009/38/EC ซึ่งประกาศใช้ในปี 2554 คำสั่งใหม่ดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกฎ กติกา ของ EWC ให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยขึ้น เช่นแต่เดิม (EWC Directive 1994) การก่อตั้ง EWC เป็นไปโดยความสมัครใจและจะทำได้เฉพาะในบริษัทที่จ้างแรงงานอย่างน้อย 1,000 คนทั่วยุโรป และอย่างน้อยประเทศละ 150 คนใน 2 ประเทศใน EU (ซึ่งขณะนั้นมีบริษัทที่เข้าข่ายประมาณ 2 พันแห่ง และในปี 2004 มีบริษัท 7 ร้อยกว่าแห่งจัดตั้ง EWC) แต่คำสั่งใหม่ (2552) นั้นถือว่าการตั้ง EWC เป็นสิทธิของลูกจ้างบริษัทข้ามชาติใน EU ที่มีคุณสมบัติ (ตามคำสั่ง EWC Directive 1994 คือมีลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1,000 คนใน EU และอย่างน้อยประเทศละ 150 คนใน 2 ประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) และเป็นภาคบังคับสำหรับบริษัททุกแห่งที่เป็นสมาชิก EU

ปัจจุบันการจัดตั้ง EWC จะเริ่มจากการ (บังคับ) ให้ฝ่ายนายจ้างทั้งที่สำนักงานใหญ่และประเทศปลายทางให้ข้อมูลแก่ฝ่ายแรงงานเรื่องการเจรจาจัดตั้ง EWC ขั้นต่อมาจึงให้แต่งตั้งคณะผู้เจรจาพิเศษ (Special Negotiating Body: SNB) เป็นผู้แทนของลูกจ้างเพื่อสรุปข้อตกลงในการจัดตั้ง EWC โดยมีผู้แทนลูกจ้างในบริษัทลูกในประเทศปลายทางร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดของบริษัทต่อผู้แทนลูกจ้าง 1 คน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 10 คน คณะผู้เจรจาพิเศษสามารถประชุมก่อนหรือหลังการพบกับตัวแทนนายจ้างได้ และเพื่อให้การเจรจาก่อตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะผู้เจรจาพิเศษต้องแจ้งให้สหภาพแรงงานยุโรปที่มีความสามารถและองค์กรนายจ้างในยุโรปถึงกำหนดในการเจรจาเพื่อให้หุ้นส่วนสังคมดังกล่าวมีส่วนช่วยในการจัดตั้งและส่งเสริมการทำงานอย่างดีที่สุด สหภาพแรงงานนับเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คณะผู้เจรจาสามารถขอความช่วยเหลือในการเจรจาได้

คณะผู้เจรจาพิเศษจะเป็นผู้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นไปตามโครงสร้างของสภาแรงงานที่จัดตั้ง รวมทั้งรายละเอียดสิทธิของแรงงานตามที่ได้เจรจากันและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัท ในระดับ EU โดยทั่วไปจะไม่มีกฎระเบียบมากนักเมื่อเทียบกับกฎหมายระดับประเทศใน EU

เป็นที่น่าสังเกตว่า EWC อาจตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก EU ด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา และเกาหลีใต้

วัตถุประสงค์พื้นฐานของ EWC หรือคำสั่ง Recast Directive 2009/38/EC คือเพื่อปรับปรุงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลและการปรึกษาหารือของลูกจ้างของธุรกิจข้ามชาติในประชาคมยุโรป และการจัดตั้ง EWC ก็เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

โครงสร้างองค์กรของ EWC

คำสั่งเก่าของ EU Directive 1994 ไม่มีการกำหนดไว้ ยกเว้นเมื่อการเจรจาก่อตั้งล้มเหลว ในเอกสารท้ายคำสั่งระบุว่าให้ EWC เป็นองค์กรของแรงงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหน้าที่หลักของ EWC คือการให้ฝ่ายนายจ้างให้ข้อมูลและการปรึกษาหารือกับผู้แทนลูกจ้างจึงต้องให้ฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ คณะผู้เจรจาพิเศษจะเป็นผู้กำหนดแต่แรกว่าจะให้กรรมการ EWC เป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก และลักเซมเบิร์ก นิยมแบบกรรมการร่วม ส่วนใหญ่อ้างว่า EWC ของตนเป็นสภาโรงงานยุโรป (European Works Councils) ไม่ใช่สภาคนงานยุโรป (European Workers Council) ในขณะที่กรรมการ EWC ส่วนใหญ่ของเยอรมนี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และสแกนดิเนเวีย มีแต่ผู้แทนลูกจ้าง ไม่มีตัวแทนฝ่ายนายจ้างแต่อย่างใด

แต่ในคำสั่งใหม่ระบุเพียงว่า EWC อาจจะประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพแรงงานโดยต้องไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศที่มาของผู้แทนลูกจ้าง และให้สัดส่วนของผู้แทนลูกจ้างใน EWC เป็นไปอย่างสมดุลตามประเภทหรือสาขากิจกรรมและเพศ

จำนวนสมาชิกของ EWC อาจตกลงกันได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 10 คน สมาชิก EWC มีวาระ 4 ปี ในปี 2015 ร้อยละ 65 ของบริษัทใช้วิธีกำหนดจำนวนที่นั่งตามสัดส่วนของจำนวนลูกจ้าง ร้อยละ 10 กำหนดจำนวนที่นั่งตามสัดส่วนของจำนวนลูกจ้าง โดยมีข้อแม้ว่าบริษัทในแต่ละประเทศต้องมีผู้แทนเป็นสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ร้อยละ 8 กำหนดจำนวนผู้แทนจากแต่ละประเทศเท่าๆ กัน และแต่ละประเทศต้องมีผู้แทนอย่างน้อย 1 คน

EWC ทำอะไร

ในแง่ของกระบวนการและขั้นตอนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 94 ของ EWC) เป็นการให้ข้อมูลและการปรึกษาหารือ รองลงมา (ร้อยละ 43) เป็นการให้ความเห็น ส่วนน้อย (ไม่ถึงร้อยละ 10) สามารถหาข้อสรุปได้ เสนอโครงการ และมีการเจรจากับฝ่ายนายจ้างในเรื่องที่เป็นประเด็นข้ามชาติ

ในแง่ของเนื้อหาของการให้ข้อมูลและการปรึกษาหารือ ส่วนใหญ่ (เกินร้อยละ 60 ของ EWC) เป็นเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินของบริษัท การจ้างงานและการคาดประมาณ กลยุทธ์ของบริษัทและการลงทุน วิวัฒนาการของธุรกิจ การผลิตและการขาย และการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและองค์กร

สำหรับรายละเอียดอื่นๆ คงต้องเว้นไว้เพราะมีเนื้อที่จำกัด แต่ขอให้ข้อสังเกตว่าปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรแรงงาน 3 ระดับ คือ 1) สหภาพแรงงาน 2) สหพันธ์แรงงาน และ 3) สภาองค์การลูกจ้าง

ยังไม่มีสภาแรงงานข้ามชาติในลักษณะของ EWC

องค์กรแรงงานของไทยที่ใกล้เคียงกับ EWC คือ สภาองค์การลูกจ้างซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 120 กำหนดว่า สหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง อาจจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างเพื่อส่งเสริมการศึกษาและส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ส่วนแตกต่างที่สำคัญมากๆ คือยังไม่เป็นองค์กรแรงงานข้ามชาติที่มีผู้แทนลูกจ้างของบริษัทเดียวกันจากประเทศต่างๆ ที่บริษัทนั้นไปลงทุน

นอกจากนั้นแล้วก็ต้องดูก่อนว่า แนวคิดเรื่อง EWC จะมีผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนและการเจรจาการค้าเสรีหรือไม่ อย่างไรด้วย

และถ้าคิดจะเอาไปใช้กับ AEC ก็ต้องดูว่า คำสั่งอาเซียนจะขลังเท่ากับคำสั่ง EU หรือไม่

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image