ปฏิมา การเมือง ใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 การเมืองใหม่?

เห็นการเคลื่อนไหวของอดีต สปท. เห็นการเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่ได้เนื้อนาบุญมาจากรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว

อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “สยอง”

เป็นความสยองเมื่อเขาตั้งเป้าที่จะจัดพรรคการเมือง “ขนาดเล็ก” เป็นความสยองเมื่อเขาตั้งเป้าที่จะรวบรวมพรรคขนาดเล็กเพื่อจะทะยานไปเป็นพรรค “ขนาดกลาง”

อย่าลืมว่าท่านเหล่านี้เป็น “สปท.” และเคยเป็น “สปช.”

Advertisement

นั่นหมายความว่าท่านเคยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันอย่างคึกคักนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาว่า

แม่น้ำ 5 สาย

แม่น้ำ 5 สายอันเป็นผลผลิตของ “รัฐประหาร” เป็นความต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ชัตดาวน์ในห้วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2557 ของ “กปปส.”

Advertisement

ปฏิรูป ก่อน เลือกตั้ง

คําขวัญที่ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” พุ่งเป้าเข้าใส่นักการเมือง กวาดรวมพรรคการเมืองว่าเป็นความเลวร้าย

เป็นต้นตอของปัญหาอันเป็นวิกฤตของประเทศ

ทำให้มีความจำเป็นต้อง “ปฏิรูป”

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มีเป้าหมายอย่างเดียวกันกับ “กปปส.” นั่นก็คือ ต้องการชำระล้างการเมือง “เก่า” และสร้างการเมือง “ใหม่”

จึงได้เกิด “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ขึ้น

แล้วความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างที่นักการเมืองจำนวนหนึ่ง บรรดาคนใน “แม่น้ำ 5 สาย” จำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวกันอยู่มันเป็นการเมือง “ใหม่” แน่หรือ

บางคนตั้งเป้าให้ได้ ส.ส.แค่ 10 คน

ก็ยิ้มมุมปากแล้ว

บางคนตั้งเป้ากวาด ส.ส.ให้ได้ในระดับจังหวัดบางจังหวัดก็ถือว่าประสบความสำเร็จและพร้อมที่จะเข้าต่อรองแล้ว

ต่อรองกับใครก็รู้ๆ กันอยู่

นี่คือบรรยากาศการเมืองในยุคพรรคเสรีมนังคศิลาหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 นี่คือบรรยากาศการเมืองในยุคพรรคสหประชาไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512

และเหมือนการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522

และเหมือนการเลือกตั้งก่อนเดือนมกราคม 2544 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539

เป็นการเมืองอย่างที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ไม่เต็มใบ

จะโทษนักการเมืองเหล่านี้ก็ทำได้ไม่เต็มปากเต็มคำเท่าใดนัก เพราะว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องการให้เป็นเช่นนี้

การร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรค

การเมืองก็เช่นเดียวกัน

จึงมองได้เลยว่า การเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะมีพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งเป็นหลักแล้วแวดล้อมด้วยพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็ก ประสานเข้ากับ 250 ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุนใครเป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็รู้กันอยู่

คำถามก็คือ คนที่ได้รับการสนับสนุนมีความสุกงอมและมีความสุขที่จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยกระสวนอย่างนี้หรือ

ภาพทางการเมืองที่รออยู่ข้างหน้าดำเนินไปตามแนวทาง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อย่างที่เปล่งดังกึกก้องตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แน่นอนอย่างน้อย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เชื่ออย่างนั้น

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก ที่จะถูกดึงเข้าไปแวดล้อมอยู่โดยรอบเชื่ออย่างนั้นด้วยหรือไม่

และนี่คือการเมือง “ใหม่” อย่างที่ปรารถนาจริงละหรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image